องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

รู้จักกับมุ้งตาข่ายกันแมลง

รู้จักกับมุ้งตาข่ายกันแมลง

ในการปลูกพืชอินทรีย์ การใช้มุ้งตาข่ายกันแมลงจะช่วยป้องกันแมลงไม่ให้เข้าทำลายพืชผักที่ปลูกได้ดี ถึงแม้จะเป็นการลงทุนที่ราคาค่อนข้างสูง...แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ามาก

✔ จุดเด่นของมุ้งตาข่าย คือ ช่วยป้องกันแมลง

!! จุดที่ต้องระวัง คือ ยิ่งมีตาถี่มากเท่าไหร่ก็จะมีผลกระทบต่อการระบายอากาศและความชื้น

ดังนั้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับขนาด ซึ่งก็คือ ความถี่ของเส้นใยที่ทอหรือจำนวนช่อง (ตา) หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า เมส (mesh) ของมุ้งตาข่ายกันสักนิดค่ะ

วัสดุที่นำมาใช้ทอเป็นมุ้งตาข่ายเป็นพลาสติกที่เรียกว่า ไนล่อน ขนาดของมุ้งตาข่าย (ที่เราเข้าใจว่าคือจำนวนตาของมุ้งไนล่อน) หมายถึง จำนวนเส้นด้ายต่อ 1 ตารางนิ้ว ตัวอย่างเช่น มุ้งตาข่ายขนาด 16 ตา หมายถึง ในแนวตั้งจะมีเส้นด้ายทั้งหมด 16 เส้น และแนวนอนจะมีเส้นด้ายอีก 16 เส้น

ในประเทศไทย โดยทั่วไปมุ้งตาข่ายมี 5 ขนาด คือ 16, 20, 24, 32, 40 ตา มีความกว้างตั้งแต่ 1.2 เมตร จนถึง 3.7 เมตร และมีความยาว 30, 50, 100 เมตร/ม้วน เท่าที่ผู้เขียนลองค้นหาข้อมูลและสอบถามผู้รู้ซึ่งมีประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง พบว่า ขนาดมุ้งตาข่ายที่สามารถป้องกันแมลงต่างๆ พอจะสรุปได้ดังนี้

ขนาด 16 ตา: สามารถป้องกัน ผีเสื้อขาว ผีเสื้อตัวใหญ่ชนิดอื่น แมลงวันทอง แมลงวันตัวใหญ่ๆ

ขนาด 20-32 ตา: สามารถป้องกัน หนอนใยผัก แมลงหวี่ขาว เพลี้ยอ่อน แมลงวันหนอนชอนใบ ด้วงหมัด (แต่ต้องระวังเพราะตัวอ่อนจะอยู่ในดิน)

ขนาด 40 ตา: ช่วยป้องกัน เพลี้ยไฟ (แต่ตัวอ่อนตัวเล็กอาจหลุดเข้าไปได้)

ดังนั้นการเลือกมุ้งตาข่ายจึงขึ้นอยู่กับ ชนิดพืชที่ปลูก ซึ่งจะบ่งชี้ชนิดของแมลงที่จะเข้าทำลายพืชด้วย นอกจากนี่ยังต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่ เช่น ลม ทิศทางของลมและความรุนแรง) ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล เป็นต้น 



เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.เพชรดา อยู่สุข 


เอกสารอ้างอิง :

คุณเชิด ชูยัง หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย มูลนิธิโครงการหลวง และผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยา

http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=121198.0;wap2

https://www.joyeyou.com/.../ant.../insect-proof-netting.html