องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

นา “ปากล้า”

ชุมชนบนพื้นที่สูงของไทยส่วนใหญ่ปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือนสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยทำนาได้ปีละครั้ง เพราะต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก วิธีการปลูกข้าวจะยึดถือภูมิปัญญาและธรรมชาติ นิยมปลูกพันธุ์ข้าวท้องถิ่น ปัจจุบันพื้นที่สูงเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรเนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น กลุ่มคนหนุ่มสาวนิยมไปทำงานรับจ้างในเมือง จึงส่งผลทำให้แรงงงานในการทำนาน้อยลง หากนำเทคโนโลยีการปลูกข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สูงมาปรับใช้ ก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตข้าว ประหยัดเวลา และประหยัดแรงงาน อีกทั้งอาจช่วยลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เช่น ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง

นา “ปากล้า” เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่คล้ายกับการทำนาโยน แต่ได้พัฒนาเทคนิคการเตรียมแปลงและวิธีการปลูกอย่างประณีต ซึ่งสามารถกำหนดระยะปลูกของต้นข้าวได้อย่างเป็นระเบียบ เพื่อความสะดวกในการจัดการแปลงโดยเฉพาะการกำจัดวัชพืชและกำจัดต้นพันธุ์ปน มีขั้นตอนดังนี้

1. เตรียมพื้นที่แปลงนาอย่างประณีต ทำเทือกให้สม่ำเสมอ ลดน้ำในแปลงเพื่อให้ต้นข้าวยึดติดได้ง่าย

2.เพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวในถาดเพาะขนาด 434 หลุม จำนวน 2 เมล็ดต่อหลุม กลบด้วยดินเหนียวร่วนละเอียด รดน้ำให้ชุ่ม และนำถาดกล้าไปอนุบาล

3. ต้นกล้าข้าวอายุ 20-25 วันหลังเพาะ นำไปปลูกด้วยวิธีการปากล้า ให้เป็นแถวเป็นแนว ระยะระหว่างแถว/หลุมประมาณ 25 x 25 เซนติเมตร

4. ดูแลรักษาแปลงข้าว ร่วมกับการให้น้ำในแปลงนาด้วยวิธีนาน้ำน้อย และกำจัดต้นพันธุ์ปนในระยะแตกกอ ระยะออกรวง และระยะก่อนเก็บเกี่ยว

ผลการทดสอบวิธีการปลูกข้าวแบบนาปากล้า ในฤดูนาปี พ.ศ. 2564 พบว่า พื้นที่นา 1 ไร่ โดยเฉลี่ยใช้ถาดกล้า 30 ถาด เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ 6.3 กิโลกรัม จำนวนแรงงานปลูก 4 คน ระยะเวลาปลูก 1 ชั่วโมง 50 นาที และผลผลิตข้าวเฉลี่ย 650 กิโลกรัม

ผลการเปรียบเทียบด้วยวิธีปากล้าและวิธีปักดำ (ปลูกกล้าข้าวอายุ 40-50 วัน) พบว่า ผลผลิตข้าวต่อไร่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตัวอย่างเช่นผลผลิตข้าวพันธุ์บือชอมี (ไก่ป่า) ปลูกทดสอบพื้นที่แม่สะป๊อก (ระดับความสูง 600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) วิธีปากล้าให้ผลผลิต 640 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับวิธีปักดำให้ผลผลิต 520 กิโลกรัมต่อไร่ 


ข้อดีการทำนา“ปากล้า”

1.ประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยละ 70-80 เมื่อเทียบกับวิธีปักดำ อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 6 กิโลกรัมต่อไร่

2.ต้นกล้าเจริญเติบโตเร็ว ปลูกกล้าอายุสั้น ลดความเสี่ยงหรือความเสียหายในระยะกล้า

3.รากข้าวไม่เกิดการฉีกขาดจากการถอน และใบข้าวไม่เกิดแผลจากการตัดใบ ส่งผลให้ต้นกล้าฟื้น/ตั้งตัวได้เร็วหลังจากปากล้าลงดิน

4.การปากล้าเป็นแถวเป็นแนวช่วยจัดการแปลงได้ง่าย เช่น ควบคุมโรค/แมลง เดินกำจัดวัชพืช และเดินสำรวจเพื่อกำจัดต้นพันธุ์ปน เป็นต้น

5. เกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ได้ทันที เนื่องจากประหยัดต้นทุน ประหยัดแรงงาน และลดความเสี่ยงเรื่องการทิ้งกล้าหากเกิดฝนทิ้งช่วงหรือฝนแล้ง




เขียนและเรียบเรียงโดย ดร.จันทร์จิรา รุ่งเจริญ และนายสาธิต มิตรหาญ