ศัตรูผักในช่วงแล้ง
ศัตรูผักในช่วงแล้ง
ช่วงเข้าสู่หน้าแล้ง เกษตรกรที่ปลูกผักคงต้องเตรียมรับมือกับแมลงศัตรูพืชที่จะเข้าทำลายมักพบเป็นประจำในช่วงแล้ง ได้แก่ ‘ด้วงหมัดผัก’ และ ‘เพลี้ยอ่อน’ ถือว่าเป็นศัตรูสำคัญลำดับต้นๆ
1. ด้วงหมัดผัก ด้วงหมัดกระโดด มี 2 ชนิด คือ ชนิดแถบลาย และชนิดสีน้ำเงิน ตัวที่เราเห็นจะเป็น
‘ตัวเต็มวัย’ ส่วน ‘ตัวอ่อนและดักแด้’ จะอยู่ในดิน ดังนั้นจึงต้องกำจัดทั้งตัวเต็มวัยและตัวอ่อนด้วย
· ชนิดผักที่ด้วงหมัดผักชอบจะเป็นพืชตระกูลกะหล่ำ เช่น ผักกาดหัว ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดกวางตุ้ง ฯลฯ
· วิธีการป้องกันกำจัดในการปลูกพืชอินทรีย์ ดังนี้
1. ไถดินตากแดดไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อทำลายตัวอ่อนและดักแด้ที่อยู่ในดิน
2. ปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชอาหารด้วงหมัดผักสลับหมุนเวียน
3. ใช้ไส้เดือนฝอย อัตรา 4 ล้านตัวต่อพื้นที่ 20 ตารางเมตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (1 โบโด) ฉีดพ่นหรือราดบนแปลงปลูกเมื่อผักอายุได้ 15, 30 และ 45 วัน หลังจากย้ายกล้าหรือหยอดเมล็ด และใช้เชื้อแบคทีเรียบีที (บาซิลลัส ทูริงเยนซิส) ฉัดพ่นหรือราด ทุก 7 วัน
4. ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง 60-80 กับดักต่อไร่ ทุก 2 สัปดาห์ เพื่อลดจำนวนตัวเต็มวัย (ต้องปักเอียงๆ ให้ต่ำๆ เพื่อให้ด้วงหมัดผักเข้ามาติดกับดัก!!!)
5. ใช้พืชสมุนไพร เช่น เมล็ดสะเดา (ตากแห้ง) บด โรยบริเวณโคนต้น หรือจะนำเมล็ดสะเดาบดมาแช่น้ำไว้สัก 1 คืน แล้วกรองเอาแต่น้ำ นำน้ำสกัดที่ได้มาใส่โบโดแล้วผสมน้ำธรรมดาให้เต็มโบโด นำไปฉีดพ่นที่ต้นพืช หรือใช้ยาสูบ (ยาเส้น) สัก 1 กำมือ แช่น้ำให้ท่วม (ประมาณ 1 ขันน้ำ)ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วกรองเอาน้ำที่ได้มาผสมน้ำทำคล้ายกับกรณีเมล็ดสะเดาบดการใช้สมุนไพรบางชนิด (เช่น สะเดา ยาสูบ หางไหล ฯลฯ) ต้องระวังเพราะเมื่อนำผักไปวิเคราะห์สารตกค้าง อาจเสมือนว่ามีการใช้สารเคมี ดังนั้นจึงควรฉีดพ่นสมุนไพรก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 7 วัน
2. เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงตัวอ้วนๆ เป่งๆ มีทั้งที่เป็นสีออกเขียวอ่อน และสีคล้ำๆ เทาๆ มักจะอยู่รวมเป็นกลุ่มด้านใต้ใบผัก
· ชนิดผักที่เพลี้ยอ่อนชอบ เช่น กะหล่ำปลี คะน้า ผักกาดกวางตุ้ง ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดหัว เป็นต้น เพลี้ยอ่อนจะดูดน้ำเลี้ยงจากยอด ใบ ลำต้น กาบใบ และฝักอ่อน และถ่ายมูลที่เป็นของเหลวทำให้เกิดราดำ
· วิธีการป้องกันกำจัดในการปลูกพืชอินทรีย์ มีให้เลือกใช้ดังนี้
1. ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักจากเมล็ดสะเดาบด (ถ้าใช้เมล็ดแห้งบดหรือตำจะได้ผลดีกว่าใช้ใบหรือกิ่ง) หรือ ยาสูบ โดยใช้ปริมาณสัก 1 กำมือใหญ่ๆ แช่น้ำไว้ค้างคืน จากนั้นกรองเอาแต่น้ำใส่ในถังพ่น (โบโด) แล้วผสมน้ำให้ได้ 20 ลิตร ฉีดพ่นวันเว้นวัน หรือเว้น 2-3 วัน ก็ได้ แล้วแต่การระบาดมากหรือน้อย
2. ฉีดพ่นด้วยสบู่อ่อน อัตรา 50-300 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
3. ใช้กับดักกาวเหนียว 60-80 กับดัก/ไร่ ทุก 2 สัปดาห์ เพื่อกำจัดตัวเต็มวัยที่มีปีก
***ที่สำคัญ...ต้องพยายามฉีดพ่นด้านใต้ใบพืชเพื่อให้โดนตัวเพลี้ยอ่อนด้วย นอกจากนี้การปลูกในโรงเรือนก็จะช่วยปัญหาได้มาก
หากใครมีวิธีป้องกันกำจัดเจ้าด้วงหมัดผัก และเพลี้ยอ่อน ในแบบอื่นๆ ส่งมาแลกเปลี่ยนกันบ้างนะคะ
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.เพชรดา อยู่สุข
เอกสารอ้างอิง
1. คำแนะนำการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในมูลนิธิโครงการหลวง ปี พ.ศ. 2560 (PPC01-14)
2. คลินิกพืช ศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวง
3. ประสบการณ์ในการใช้น้ำหมักสมุนไพรของผู้เขียน