องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

น้อยหน่า ไม้ผลทนแล้ง..ไม้ผลทางเลือก

น้อยหน่า Custard Apple หรือ Sugar Apple เป็นผลไม้ที่เรารู้จักกันดี ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีกับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ของประเทศไทย พันธุ์น้อยหน่าในประเทศไทยแบ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์ฝ้าย (น้อยหน่าฝ้ายเขียว ฝ้ายครั่ง) และพันธุ์น้อยหน่าหนัง (น้อยหน่าหนังเขียว หนังทอง หนังครั่ง) แต่พันธุ์ที่เป็นพันธุ์การค้าหลักคือ พันธุ์เพชรปากช่อง ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสม มีอายุเก็บเกี่ยว 135-145 วันหลังดอกบาน ผลลิตมีคุณภาพ ผลโต เนื้อมากและตลาดมีความต้องการสูง นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ใหม่คือ ฝ้ายเขียวเกษตร 2 เป็นพันธุ์ที่โตเร็ว ทนแล้ง ให้ผลผลิตเร็ว (110-120 วันหลังดอกบาน) และบังคับให้ออกดอกติดผลได้ง่าย


น้อยหน่า ไม้ผลสร้างอาชีพ


น้อยหน่าเป็นไม้ผลเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบอเมริกากลาง ชอบอากาศร้อนแห้ง อากาศไม่หนาวจัด ปริมาณน้ำฝน 800–1,300 มิลลิเมตร/ปี มีแสงแดดจัด และปลูกได้ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง น้อยหน่าจะสามารถให้ผลได้เมื่อมีอายุประมาณ 2-3 ปี ขึ้นไป สามารถตัดแต่งเพื่อบังคับให้ผลผลิตออกตามช่วงเวลาที่ตลาดต้องการได้ เมื่อแตกกิ่งใหม่จะมีช่อดอกออกมาด้วย ปกติถ้าตัดแต่งกิ่งในเดือนมกราคมจะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ถ้าเลื่อนตัดแต่งกิ่งไปเป็นเดือนเมษายนจะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีผลไม้อื่นจะทำให้ขายได้ราคาดี น้อยหน่าเป็นพืชทนต่อสภาพแล้ง แต่การมีแหล่งน้ำจะทำให้สามารถผลิตน้อยหน่าได้ตลอดปีและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น 


น้อยหน่าเป็นพืชที่ทนแล้ง ปลูกในพื้นที่อาศัยน้ำฝนหรือไม่มีแหล่งน้ำได้ เช่น บ้านปางแดงใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนดาราอั้ง (ปะหล่อง) ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน เกษตรกรจะเริ่มตัดแต่งกิ่งและเด็ดใบออกทั้งต้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน หลังการตัดแต่งกิ่ง เมื่อต้นได้รับความชื้นหรือน้ำแล้ว ดอกของน้อยหน่าจะแทงออกเป็นกลุ่มๆ ละ 2-5 ดอกในบริเวณจุดเดียวกัน หนึ่งต้นจะออกดอก 1,000-1,500 ดอก ดอกจะบานนาน 3-4 วัน การบานของดอกจะบานมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความชื้น หากมีความชื้นสูงดอกจะบานมาก และอุณหภูมิต่ำ ดอกจะบานได้ดีกว่าอุณหภูมิสูง แต่หากไม่ได้รับน้ำหรือฝนไม่ตก ดอกจะร่วงและไม่ติดผล ช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่บ้านปางแดงในจะเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดไม่มีผลผลิตจึงเป็นโอกาสทางการตลาดทำให้สามารถจำหน่ายได้ในราคา 40-50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าฤดูกาลปกติ ทั้งนี้การจัดการต้นน้อยหน่าขึ้นกับบริบทของพื้นที่ สภาพอากาศ ดิน น้ำฝน การตัดแต่งกิ่งที่เร็วหรือช้าเกินไปจะมีผลต่อการให้ผลผลิต ปริมาณและคุณภาพของผลน้อยหน่า น้อยหน่าจึงเป็นไม้ผลทางเลือกที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจหลักหรือเสริมรายได้ โดยเฉพาะพื้นที่ขาดน้ำและมีพืชทางเลือกไม่มาก

น้อยหน่า ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว

น้อยหน่าสามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่ความสูงไม่เกิน 1,000 เมตร อุณหภูมิ 10-40 องศาเซลเซียส เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ทุกสภาพดินทั้งดินที่อุดมสมบูรณ์ และดินเลว เช่น ดินร่วนปนทราย และดินร่วนเหนียว  แต่ต้องมีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง รวมถึงในสภาพแห้งแล้งที่มีน้ำหรือฝนน้อย ในการปลูกควรเลือกต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง หากมีน้ำหรือฝนตกจะช่วยให้ต้นมีโอกาสรอดตายมากขึ้น ในช่วงปีแรกควรมีการพรางแสงช่วยหลังการปลูกจนต้นกล้าเริ่มตั้งตัวได้ นอกจากนี้การปลูกไม้บังลมจะช่วยป้องกันพายุฤดูร้อนให้กับต้นน้อยหน่าได้ โดยเลือกไม้ที่ปรับตัวได้ดีกับพื้นที่ เช่น กระถินณรงค์ และมะม่วง เป็นต้น น้อยหน่าจึงเป็นไม้ผลทางเลือกโดยเฉพาะในพื้นที่ที่แห้งแล้ง ดินเลว สามารถสร้างอาชีพให้ชุมชนและต่อยอดสร้างรายได้จากการขยายพันธุ์ต้นกล้าจำหน่าย นอกจากนี้ น้อยหน่ายังเป็นไม้ผลยืนต้นที่ช่วยฟื้นฟูป่าและเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับบนดอยสูงได้ 



เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย ดร.อัจฉรา ภาวศุทธิ์ นางสาวปัญชพัฒน์ แจ่มเกิด และนายคมสันต์ อุตมา


เอกสารอ้างอิง

ฉลองชัย แบบประเสริฐ. 2536. การเลื่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลน้อยหน่าโดยการตัดแต่งกิ่ง. ใน นิทรรศการวิชาการ 50 ปี มก. ธรรมชาติ เทคโนโลยีและชีวิต. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. หน้า 31.

เรืองศักดิ์ กมขุนทด และกวิศร์ วานิชกุล สถานีวิจัยปากช่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สมเกียรติ บุตรบำรุง เทคโนโลยีชาวบ้าน https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_39272