ศูนย์ฯโหล่วงขอด กลยุทธ์จัดการทรัพยากรป่าไม้บนพื้นที่สูงแบบมีส่วนร่วม
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดย “โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอด” เริ่มดำเนินงานในพื้นที่บ้านแม่สายนาเลา จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2552 มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อให้ชุมชนเป้าหมายบนพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยใช้ฐานข้อมูล องค์ความรู้ เทคโนโลยี และกระบวนการเรียนรู้ของโครงการหลวง ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางโครงการหลวง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งมีการวางแผนพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ให้ตรงตามบริบท และภูมิสังคมที่มีความแตกต่างกัน โดยให้ชุมชนเป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ตรงตามปัญหาและความต้องการของชุมชน สถาบันได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบในการจัดการทรัพยากรป่าไม้บนพื้นที่สูงโดยการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลทำให้ชุมชนสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างพอเพียง มีการอยู่ร่วมกับป่าอย่างพึ่งพาอาศัย และนำไปสู่การสร้างต้นแบบในการจัดการทรัพยากรป่าไม้บนพื้นที่สูง โดยการมีส่วนร่วมต่อไป
ชุมชนบ้านแม่สายนาเลา ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนบนพื้นที่สูง มีพื้นที่ทำกิน1,871 ไร่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของลุ่มน้ำปิง ประชากรเป็นชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ขาดความรู้และแหล่งน้ำในการทำเกษตร ทำให้มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าว ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ตกต่ำ มีการบุกรุกป่าขยายพื้นที่ทำกินและเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชนมีความขัดแย้งกับหน่วยงานภาครัฐตามมา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินงานในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงให้มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและงานโครงการหลวงตามแนวพระราชดำริ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน อย่างเหมาะสมกับภูมิสังคม ได้พัฒนากลยุทธ์ทางเลือกการจัดการทรัพยากรป่าไม้บนพื้นที่สูง โดยใช้หลักในการพัฒนาอย่างสมดุล ดังนี้
1) การพัฒนาบนฐานข้อมูล
2) การพัฒนาอย่างบูรณาการ
3) การพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม และ
4) การพัฒนาอย่างครบวงจร ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
จากการพัฒนาตามกลยุทธ์ดังกล่าว สู่การพัฒนาด้านอาชีพในการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชนบ้านแม่สายนาเลา เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากปี พ.ศ. 2552 ที่ส่วนใหญ่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 1,568 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 84 ของพื้นที่ทำกิน โดยในปี พ.ศ. 2562 ชุมชนมีการพัฒนาด้านต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงปรับระบบการปลูกพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นระบบวนเกษตร และป่าสร้างรายได้ในพื้นที่ทำกิน พื้นที่ 1,075 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 57 ของพื้นที่ทำกิน ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือเพียง 93 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 5 ของพื้นที่ทำกิน และชุมชนมีการคืนพื้นที่ป่าให้กับประเทศ จำนวน 487 ไร่ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้โดยรอบชุมชน 16,672 ไร่
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: อดิเรก อินต้ะฟองคำ / อานนท์ ยอดญาติไทย / ภัทรนันท์ บิโข่