องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การผลิตหัวพันธุ์กระเทียมโดยลดการใช้ปุ๋ยเคมี

กระเทียม (Garlic; Allium sativum Linn.) เป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารไทย

โดยปลูกมากในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีอากาศหนาวเย็นเหมาะสมกับการปลูกกระเทียม (ไฉน, 2542) โดยมีพื้นที่ปลูก 70,927 ไร่ หรือร้อยละ 98 ของพื้นที่ปลูกกระเทียมทั้งประเทศ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2561) ปัจจุบันหัวพันธุ์กระเทียมไทยมีราคาสูงหรือมีปริมาณจำกัด เนื่องจากเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มมากขึ้น เพื่อเร่งให้กระเทียมหัวใหญ่ มีน้ำหนักมากทำให้สิ้นเปลืองเกินความจำเป็น ประกอบกับปัญหาเรื่องโรคและแมลงส่งผลต่อคุณภาพทำให้หัวฝ่อ อายุการเก็บรักษาสั้น ถูกกดราคารับซื้อและที่สำคัญคือขาดแคลนหัวพันธุ์กระเทียมสำหรับปลูกในฤดูถัดไป ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน (2557) รายงานว่าการจัดการธาตุอาหารโดยตรวจวิเคราะห์ดินก่อนปลูก แล้วใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน และใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้ถึงร้อยละ 50 ทั้งยังทำให้ได้ผลผลิตกระเทียมเพิ่มขึ้นไร่ละ 200 กก. ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรมีหัวพันธุ์กระเทียมที่มีคุณภาพและมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวขึ้น ไม่ฝ่อ ตลอดจนมีกระเทียมที่ปลอดภัยจากสารเคมีสำหรับบริโภค ทางโครงการวิจัยจึงศึกษาและทดสอบวิธีการผลิตหัวพันธุ์กระเทียมที่เหมาะสำหรับพื้นที่สูงโดยลดการใช้ปุ๋ยเคมีและทดแทนด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งอาจเป็นแนวทางให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการซื้อหัวพันธุ์โดยการเก็บรักษาหัวพันธุ์กระเทียมจากแหล่งเดิมสำหรับปลูกในฤดูถัดไปได้

ขั้นตอนการผลิตหัวพันธุ์กระเทียม ดังนี้

1. การเตรียมแปลงปลูก

  • ดินที่เหมาะสำหรับปลูกกระเทียมควรเป็นดินร่วน มีค่า pH ดิน 6-7 (กลาง) มีอินทรียวัตถุ 4-5%
  • ไถเตรียมดิน 2 รอบ คือ รอบที่ 1 ไถดะพลิกหน้าดิน ตากดินไว้ 7-10 วันเพื่อทำลายไข่แมลง ศัตรูพืช และวัชพืช และไถรอบที่ 2 คือ ไถพรวนดินให้มีขนาดเล็กลง พร้อมปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 25 กก./ไร่ และมูลสุกร 200 กก./ไร่ เกลี่ยดินในแปลงให้เรียบ เก็บเศษวัชพืชออกจากแปลงให้หมด

  • ขึ้นแปลงยกสูง 15 เซนติเมตร ขนาดกว้าง 2 – 2.5 เมตร ความยาวตามพื้นที่ปลูก
  • ระยะห่างระหว่างแปลงปลูก ยกร่องทำทางเดินหรือระบายน้ำกว้าง 20 เซนติเมตร

2. การเตรียมกลีบกระเทียม

  • ปอกเปลือกหัวพันธุ์กระเทียม แกะกลีบ คัดเลือกเฉพาะกลีบนนอกที่มีขนาดใหญ่ ไม่มีแมลงทำลาย

3. การปลูกและดูแลรักษา

  • ก่อนปลูกกระเทียม ให้น้ำในแปลงจนดินอิ่มตัวด้วยน้ำ (ไม่แห้งหรือแฉะเกินไป)
  • จิ้มกลีบกระเทียมลงไปในดินลึกประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของกลีบ โดยให้ส่วนของรากลงดินหากกลับด้านปลูกจะทำให้กระเทียมไม่งอก ระยะปลูก 15 x 15 ซม.

  • หลังปลูกกระเทียมใช้ฟางข้าวคลุมแปลงเพื่อควบคุมวัชพืช รักษาความชื้นและลดความร้อนในเวลากลางวัน ควรคลุมฟางให้หนาพอปิดผิวหน้าดิน ไม่ควรคลุมฟางบางจะทำให้ดินแห้งเร็ว และวัชพืชขึ้นมาก แต่หากคลุมฟางหนาจนเกินไปทำให้ใบกระเทียมไม่สามารถโผล่พ้นฟางได้และทำให้กระเทียมเน่า

  • ให้น้ำกระเทียม สามารถให้ได้ 2 แบบ คือ แบบไหลผ่านท่วมแปลงแล้วระบายออก หรือให้น้ำแบบสปริงเกอร์ ในช่วงระหว่างเจริญเติบโต 7-10 วัน/ครั้ง โดยสังเกตจากหน้าดินที่เริ่มแห้ง หรือขอบใบกระเทียมเริ่มแสดงอาการใบม้วนเหี่ยว
  • กำจัดวัชพืชโดยใช้มือถอน ควรกำจัดวัชพืชสม่ำเสมอตั้งแต่ปลูกจนกระทั่งกระเทียมอายุ 2 เดือน ซึ่งกระเทียมจะเริ่มสร้างหัวเมื่ออายุ 2 เดือน การกำจัดวัชพืชตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยลดการกระทบกระเทือนส่วนรากและหัวกระเทียม เนื่องจากกระเทียมเป็นพืชที่มีรากตื้น

4. การใส่ปุ๋ย

  • กระเทียมอายุ 30 วัน หลังปลูก ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 25 กก./1 ไร่
  • กระเทียมอายุ 60 วัน หลังปลูก ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 25 กก./1 ไร่ พ่นฮอร์โมนไข่ 30 cc. /น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน
  • กระเทียมอายุ 90 วัน หลังปลูก ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 25 กก./1 ไร่

5. การเก็บเกี่ยวกระเทียม

  • หัวกระเทียมแก่พร้อมเก็บเกี่ยว สังเกตจากปลายใบที่เริ่มแห้ง หรือเกิดดอกตรงบริเวณลำต้นกระเทียม
  • ถอนหัวกระเทียมด้วยมือ มัดจุกกระเทียมโดยจับรวบปลายใบมัดเข้าหากัน
  • แขวนจุกระเทียมสดในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อให้กระเทียมแห้ง ไม่ควรโดนน้ำหรือฝน

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.จันทร์จิรา รุ่งเจริญ