นวัตกรรมการปลูกองุ่นบนพื้นที่สูงสำหรับเกษตรกรผู้สูงอายุ
องุ่นเป็นไม้ผลทางเลือกที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกเป็นอาชีพ เพราะเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูง สามารถทดแทนพืชที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ข้าวโพด เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นไม้ผลที่มีศักยภาพทางการตลาดเนื่องจากราคาและความต้องการของตลาดมีสูง และสามารถใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การปลูกองุ่นในระบบเดิมจำเป็นต้องใช้แรงงานมากและไม่เหมาะสมกับเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากทรงต้น รูปแบบค้าง และวิธีการตัดแต่งยังยุ่งยาก ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติดูแลรักษาต้นองุ่น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวิจัยและพัฒนารูปแบบการปลูกองุ่นใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับเกษตรกรผู้สูงอายุ ภายใต้การผลิตองุ่นแบบประณีต ได้คุณภาพสูง ปลอดภัย และมีต้นทุนการผลิตต่ำ
ระบบการจัดทรงต้นแบบเดิมที่ใช้อยู่ในประเทศไทย
การปลูกองุ่นในประเทศไทยส่วนใหญ่มีการจัดทรงต้นและสร้างกิ่งไม่เป็นระบบที่ชัดเจน ดูแลรักษายาก ระยะปลูกค่อนข้างถี่ (2x4 เมตร) และทรงต้นแน่นทึบ ทำให้ต้นองุ่นมีจำนวนกิ่งที่จะให้ผลผลิตน้อย มีกิ่งที่ไม่สมบูรณ์จำนวนมาก มีการสร้างตาดอกน้อย และให้ผลผลิตเพียง 5-10 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี นอกจากนี้ ส่งผลให้ต้นโทรม อายุการให้ผลผลิตสั้น และยังพบการระบาดของโรคและแมลงรุนแรงอีกด้วย (ภาพที่ 1)
การตัดแต่งกิ่งองุ่นระบบเดิมเป็นการตัดแต่งกิ่งแก่ต่อเนื่อง ทำให้กิ่งอ่อนแอลงและยืดยาวออกไปทุกปี จึงเป็นเหตุผลทำให้ต้นองุ่นให้ผลผลิตต่ำมาก อายุการให้ผลผลิตสั้น และไม่สม่ำเสมอกัน นอกจากนี้ เกษตรกรหรือผู้ตัดแต่งกิ่งองุ่นจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการตัดแต่งมาก (ภาพที่ 2)