“แมลงบั่ว” ศัตรูตัวฉกาจของข้าว
แมลงบั่ว (Oseolia oryzae , Wood-Mason/gall midge) เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของข้าวนาและข้าวไร่บนพื้นที่สูง ทำให้พันธุ์ข้าวท้องถิ่นเดิมที่เคยให้ผลผลิตสูงและนิยมบริโภคหรือกินอร่อย กลับมีผลผลิตลดลง แม้พื้นที่สูง 800-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล (MSL) ก็ยังพบการระบาดของแมลงบั่ว เหมือนเช่นที่พบในนาข้าวพื้นที่ราบ ซึ่งเริ่มจากตัวเต็มวัยของแมลงบั่ววางไข่บนใบข้าว จากนั้นตัวหนอนเข้าไปกัดส่วนยอดหรือเนื้อเยื่อเจริญด้านในต้นข้าว ต้นข้าวที่ถูกทำลายจะแสดงอาการแคระแกรน ใบสั้นและมีสีเขียวเข้ม ใบข้าวไม่คลี่ออกและเปลี่ยนเป็นหลอดคล้ายลักษณะ “หลอดหอม” ข้าวต้นจะไม่มีโอกาสได้ออกรวง ช่วงระยะการเข้าทำลายของแมลงบั่วประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์จะพบคราบดักแด้บริเวณปลายหลอดหอม นั่นแสดงว่าตัวหนอนได้กัดกินส่วนยอดต้นข้าวไปแล้ว และกลายเป็นดักแด้ เมื่อเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยจึงเจาะรูออกสู่ภายนอก
ปัจจัยที่สำคัญในการการระบาดของแมลงบั่ว คือ สภาพอากาศที่ฝนตกต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 6 เดือน มีฝนตกพรำตลอดเวลา มีเมฆหมอกบนท้องฟ้ามาก ปกคลุมมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ฟ้าหลัว มีแสงแดดอ่อนๆ หรือไม่ค่อยมีแสงแดด (น้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน) ความชื้นสัมพัทธ์อากาศ 75–90% และหากมีฝนพร่ำติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์จะมีผลทำให้การฟักไข่ของแมลงบั่วเพิ่มขึ้น และปริมาณแมลงบั่วเพิ่มอย่างรวดเร็ว (Hidaka et al., 1979) แต่ถ้าฝนทิ้งช่วง จะไม่พบการระบาดที่รุนแรงของแมลงบั่ว
จากความร้ายกาจของแมลงบั่วส่งผลให้ข้าวดอยในบางพื้นที่มีผลผลิตลดลงถึงร้อยละ 40 เช่น พื้นที่เลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ที่ผ่านมาเกษตรกรพยายามหาข้าวพันธุ์ใหม่เข้ามาปลูกเพื่อทดแทนพันธุ์เดิม แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ร่วมมือกับภาควิชาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินงานวิจัยปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์ข้าวท้องถิ่นของพื้นที่สูงให้ทนทานต่อแมลงบั่ว ได้พันธุ์ที่ทนทานต่อแมลงบั่ว 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์บือแม้ว และพันธุ์บือวาเจาะ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ชุมชนในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก นิยมปลูกและบริโภค
จากการนำพันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงพันธุ์ไปปลูกทดสอบและคัดเลือกร่วมเกษตรกรในพื้นที่อื่นระหว่างปี พ.ศ. 2559-2563 พบว่า ที่ระยะ 80 วันหลังปักดำพบการเข้าทำลายของแมลงบั่วมากที่สุด ซึ่งเป็นช่วงระยะข้าวตั้งท้อง โดยความรุนแรงของการระบาดเกิดขึ้นแบบปีเว้นปี ดังตัวอย่าง 2 พื้นที่ ดังนี้
- พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน (ระดับความสูง 900 MSL) การเข้าทำลายของแมลงบั่วและผลผลิตข้าวที่ได้ในแต่ละปีไม่แน่นอน (ภาพ 1-2) ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาฤดูนาปี พ.ศ.2562 พบแมลงบั่วเข้าทำลายข้าวสูงถึงร้อยละ 9 ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงสูงสุด 610 กก.ต่อไร่ หรือลดลงร้อยละ 63
- พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก (ระดับความสูง 600-700 MSL) พบว่า ฤดูนาปี พ.ศ. 2560 และ 2562 แมลงบั่วเข้าทำลายมากสุด ร้อยละ 2 และ 75.3 ตามลำดับ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงต่ำสุดที่ 300-350 กิโลกรัมต่อไร่ หรือลดลงร้อยละ 18-29 ดังภาพ 3
จากการนำข้าวพันธุ์บือแม้วและพันธุ์บือวาเจาะไปปลูกทดแทนพันธุ์ท้องถิ่นเดิมของพื้นที่บ่อเกลือและเลอตอ ทำให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยของทั้ง 2 พื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10-20 ในปี 2562 อีกทั้งเกษตรกรมีความความพึงพอใจในคุณภาพการหุงต้ม (กินอร่อย) และให้ผลผลิตสูง โดยเกษตรกรมากกว่า 20 รายในพื้นที่เลอตอได้ปลูกขยายต่อเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารต่อไป
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.จันทร์จิรา รุ่งเจริญ และนายสาธิต มิตรหาญ