มะระขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica charantia L.
ชื่อสามัญ Bitter Gourd
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]
ลักษณะทั่วไป มะระเป็นพืชที่อยู่ในตระกูล Cucurbitaceae มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของเอเชียและแอฟริกา นิยมกันทั่วไปในแถบเอเชีย เป็นพืชที่ปลูกง่าย มะระเป็นพืชเถาเลื้อยมีมือเกาะช่วยยึดพยุงลำต้นพันให้ขึ้นค้าง ใบเป็นใบเดี่ยวรูปฝ่ามือ ดอกสีเหลืองมีกลีบดอก 5 กลีบ มะระมีดอกไม่สมบูรณ์เพศ ดอกตัวผู้และตัวเมียแยกกันอยู่บันต้นเดียวกัน ต้องอาศัยแมลงช่วยผสมพันธุ์ มะระมีหลายสี เช่น สีเขียว ขาว สำหรับมะระขาว ปลูกได้ในสภาพอากาศเย็นกว่ามะระเขียว ผลมีสีขาว ขนาดใหญ่ เนื้อหนา ผลยาว ผิวเป็นสันตะปุ่มตะป่ำ มีรสขมเล็กน้อย
การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร นิยมนำมาต้มหรือตุ๋นเป็นอาหาร เช่น แกงจืดมะระยัดไส้ ต้มกับผักกาดดองกระดูกหมู มะระตุ๋นไก่มะนาวดอง แกงเผ็ด หรือเป็นเครื่องเคียงในขนมจีนน้ำยา ผัดกับไข่ และแกงอ่อมปลาดุก เป็นต้น ในทางโภชนาการมะระเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีฤทธิ์ทางยามีความเชื่อว่าความขมของมะระเป็นสมุนไพรรักษาโรคและบำรุงโลหิต ยาขมช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี แก้โรคปวดตามข้อ ขับพยาธิในท้อง น้ำคั้นจากผลมะระเป็นยาระบาย ผลมะระนำมาหั่นตากแห้งชงกับน้ำร้อนใช้ดื่มแทนน้ำชา แก้โรคเบาหวาน
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]
อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกมะระอยู่ระหว่าง 18 – 25 C ซึ่งจะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีที่สุด อย่างไรก็ตามการปลูกมะระบนพื้นที่สูงสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ควรระวังสภาพอากาศในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิต่ำ จะทำให้การเจริญเติบโตช้า และควรได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ตลอดทั้งวันมะระสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่ปลูกได้ผลดีที่สุดคือ ดินร่วนปนทราย ซึ่งมีสภาพเป็นกรดเล็กน้อยถึงปานกลาง มีการระบายน้ำดี การปลูกในฤดูฝนควรทำการระบายน้ำให้ดี อย่าให้น้ำขังแปลง จะทำให้เกิดการเน่าตาย
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]
การเตรียมดิน ขุดดินตากแดดและโรยปูนขาวอัตรา 100 – 200 กรัม/ตร.ม. 7 – 14 วัน เก็บเศษวัชพืชออกให้สะอาด
การเตรียมกล้า ควรบ่มเพาะเมล็ดก่อนเพาะ 1 คืน แล้วนำไปเพาะในถุงดำขนาด 4 x 6 นิ้ว ย้ายปลูกเมื่อมีอายุ 15 – 20 วัน
การปลูกและดูแลรักษา ยกแปลงกว้าง 3 ม. ขุดหลุมระหว่างต้นห่างกัน 100 ซม. ขุดหลุมลึก 10 – 15 ซม. รองพื้นด้วยดินผสมปุ๋ยคอก อัตรา 1 กก./ตร.ม. ใส่ปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 25 – 30 กรัม/ตร.ม. และโบแรกซ์ 3 กรัม/ต้น คลุกเคล้าให้เข้ากันใส่ดินให้เหลือพื้นที่ต่ำกว่าปากหลุม 10 ซม. (ฤดูร้อน) ย้ายกล้าอายุ 25 วัน มาปลูกกลบดินให้เต็มหลุมได้ระดับแปลง รดน้ำ
ข้อควรระวัง
- อย่าให้กล้ามีอายุเกิน 25 วัน
- หากพื้นที่มีโรคเหี่ยว ควรย้ายพื้นที่ปลูก
- ควรคลุมแปลงด้วยพลาสติกขาวดำ
การห่อผล ทำการห่อผลเมื่อติดผลได้ 2 – 3 วัน เพื่อป้องกันแมลงวันแตงเจาะผล
การให้น้ำ ให้น้ำแบบสปริงเกอร์ หรือใช้ระบบน้ำหยด
การให้ปุ๋ย
ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ย 46 – 0 – 0 จำนวน 15 กรัม/ต้น หลังปลูก 7 วัน
ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ย 15 – 15 – 15 จำนวน 20 กรัม/ต้น หลังปลูก 20 วัน
ครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ย 13 – 13 – 21 จำนวน 30 กรัม/ต้น หลังปลูก 30 วัน
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]
ช่วงเก็บเกี่ยว เมื่ออายุ 60 - 65 วัน หลังย้ายปลูก ผลยังอ่อน ตายังไม่แตกออกจากกันมาก บีบดูผลยังแน่น
การเก็บเกี่ยว
1. เก็บเกี่ยวเมื่อดัชนีการเก็บเกี่ยวเหมาะสม โดยใช้กรรไกรตัดที่ขั้ว
2. จัดชั้นคุณภาพตามที่กำหนด และกำจัดผลที่มีตำหนิออก
3. ห่อผลด้วยตาขายโฟม
4. บรรจุลงในตะกร้าพลาสติก
5. ขนส่งโดยหลีกเลี่ยงการขนส่งร่วมกับผลิตผลที่สังเคราะห์เอทธิลีนมาก
ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ
คุณภาพขั้นต่ำ เป็นมะระขาวทั้งผล มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ไม่แก่เกินไปจนผลมีสีเหลืองหรือเมล็ดมีสีส้ม เมล็ดต้องเป็นสีขาว ผลเป็นมัน ปลายผลไม่แตก ไม่มีตำหนิ และไม่มีร่องรอยการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ ปลอดภัยจากสารเคมี
การจัดชั้นคุณภาพ
ชั้นหนึ่ง 1. ผลมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 – 8 เซนติเมตร ยาว 20 - 30 เซนติเมตร
2. ผิวสีครีมอ่อน ไม่แก่เหลือง เมล็ดภายในเป็นสีขาว ผลตรง
3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้นสอง 1. ผลมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 – 6 เซนติเมตร ยาว 10 - 20 เซนติเมตร
2. ผิวสีขาวปนเขียวอ่อน ไม่แก่เหลือง เมล็ดภายในเป็นสีขาว ผลตรง
3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้น U 1. ผลมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร
2. ผลไม่แก่เหลือง เมล็ดมีสีขาว
3. มีตำหนิต่างๆ ได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ข้อกำหนดในการจัดเรียง มะระขาวในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน ชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอ
การเตรียมสู่ตลาด ห่อผลโดยตรงด้วยพลาสติกโพลีไวนีลคลอไรด์ (PVC) หรือบรรจุถุงพลาสติก เจาะรู
การเก็บรักษา อุณหภูมิ 12 - 13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85 - 95 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 2 – 3 สัปดาห์
เอกสารอ้างอิง :
[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง
[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์