องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

แนวทางการใช้เห็ดป่า....แก้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่า

จากปัญหาฝุ่นควันไฟป่าที่เกิดขึ้น ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย มักจะถูกสังคมมองว่าเกิดจากการเก็บหาของป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบมักจะตกเป็นจำเลยของสังคม เนื่องจากเป็นเห็ดที่มีความต้องการบริโภคของคนทั่วไปค่อนข้างสูงและมีราคาดี อีกทั้งยังมีเรื่องของความเชื่อที่สืบต่อกันมาว่าต้องเกิดไฟไหม้ก่อนเห็ดถึงจะออก ซึ่งในความเป็นจริงการหาเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบแต่เดิมนั้น คนเฒ่าคนแก่ในสมัยก่อนใช้การสังเกตลักษณะของพื้นที่ที่พบเห็ด โดยพบว่าหลังจากที่มีไฟไหม้ป่าแล้วนั้นจะพบเห็ดเผาะในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้มีการบอกต่อกันมาและเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน กลายเป็นต้องเผาป่าก่อนเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบถึงจะออกให้ ซึ่งในความเป็นจริงเห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่เจริญเป็นเส้นใย

หากโดนความร้อนทำลายก็สามารถที่จะตายได้ ซึ่งเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบจะเจริญอยู่ร่วมกันกับรากพืชและบริเวณรอบ ๆ ราก ทำให้ได้รับผลกระทบจากการทำลายของไฟป่าบ้างบางส่วน แต่เห็ดชนิดอื่น ๆ ที่เกิดอยู่ในป่าซึ่งเป็นผู้ย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดินจะมีการเจริญอยู่บนเศษวัสดุใบไม้ กิ่งไม้ เมื่อเกิดไฟไหม้เป็นระยะเวลานานเห็ดกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากถูกความร้อนเข้าทำลายเส้นใยและดอกเห็ดทำให้ไม่สามารถเจริญและแพร่ขยายพันธุ์ต่อไปได้ สังเกตได้จากพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้เห็ดกลุ่มที่เจริญเหนือดินจะมีปริมาณลดลง


ดังนั้นหากเราจะแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน เราต้องทำให้เกิดการเผาหรือไฟไหม้ที่ลดลง ซึ่งจะทำอย่างไรได้บ้างนั้น เราลองมาดูแนวทางกัน โดยในครั้งนี้จะขอนำเสนอไว้ 3 แนวทาง เพื่อให้นำไปใช้ตามความเหมาะสมของพื้นที่และบริบทของชุมชน ดังนี้

1. การใช้เห็ดกลุ่มไมคอร์ไรซ่า เช่น เห็ดเผาะ เห็ดไข่ เห็ดแดง และเห็ดหล่ม เป็นแรงจูงใจในการดูแลป่าโดยไม่ให้เกิดการเผาหรือไฟไหม้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการใช้หัวเชื้ออย่างง่ายจากดอกเห็ดแก่ การทำหัวเชื้อน้ำหมักเห็ด ก้อนดินผสมน้ำหมักเห็ด แล้วนำไปเติมในพื้นที่ หรือต้นไม้ที่เติมหัวเชื้อเห็ดสำหรับนำไปปลูกเสริมในพื้นที่

2. การนำเศษวัสดุใบไม้ในป่ามาทำเป็นวัสดุในการเพาะเห็ดโคนร่วมกับการทำแนวกันไฟเพื่อลดปริมาณเชื้อเพลงและความรุนแรงของการเกิดไฟป่าลง

3. การใช้จุลินทรีย์และเห็ดป่า เพื่อช่วยในการย่อยสลายเศษวัสดุใบไม้ กิ่งไม้ ที่จะกลายเป็นวัสดุเชื้อเพลิงในป่า ซึ่งสามารถทำได้โดยการนำดินและดอกเห็ดจากป่ามาทำเป็นหัวเชื้อในลักษณะน้ำหมักหรือก้อนดินผสมน้ำหมักเห็ด แล้วนำกลับไปเติมในป่า คล้ายกับวิธีการใส่เชื้อเห็ดโคน

ทั้งนี้หากเราใช้วิธีการทางชีวภาพในการจัดการปัญหาฝุ่นควันไฟป่าที่ต้นตอของปัญหาจะเป็นการช่วยให้ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ยังคงอยู่ รวมทั้งสร้างความสมดุลในระบบนิเวศให้กลับฟื้นคืนมานอกจากนี้ยังทำให้เรามีแหล่งอาหารจากป่าที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจะเป็นการแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าได้อย่างยั่งยืน


เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ศุลิเชษฐ์ ทองกล่ำ และ จารุณี ภิลุมวงค์