องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

“น้ำผึ้งโพรงคุณภาพ”

     “ผึ้งโพรง” เป็นอาชีพทางเลือกให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยสามารถเลี้ยงผึ้งควบคู่กับการปลูกพืช อีกทั้งสร้างรายได้จากการจำหน่ายน้ำผึ้ง การเลี้ยงผึ้งโพรงสิ่งที่ควรให้ความสำคัญยิ่งคือน้ำผึ้งสะอาดและมีคุณภาพ ดังนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำผึ้งคุณภาพปลอดเชื้อจุลินทรีย์และผ่านมาตรฐานน้ำผึ้ง จึงต้องเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งโดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย ซึ่งจะเริ่มตัดเฉพาะส่วนของน้ำผึ้งที่ปิดฝารวงเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ตัดรวงผึ้งให้ชิดส่วนฝาไม้ด้านบน และเหลืออาหารให้ผึ้ง 2-3 รวง สำหรับผึ้งงานจะสร้างหลอดรวงใหม่พร้อมซ่อมแซมรังเก่าได้เร็ว การเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งโพรงนั้นสามารถเก็บเกี่ยวได้เพียงปีละครั้ง หากเก็บเกี่ยวในรังที่มีอายุน้อยจะมีหลอดรวงน้ำผึ้งที่ไม่ปิดฝาเป็นส่วนมาก จะได้น้ำผึ้งที่มีความชื้นสูงเกิน 21%RH ส่งผลให้เชื้อจุลินทรีย์โดยเฉพาะยีสต์และราเจริญเติบโตในน้ำผึ้ง ทำใหน้ำผึ้งบูด มีอายุการเก็บรักษาสั้น และคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 211) พ.ศ. 2543 

     หลักเกณฑ์การเก็บน้ำผึ้งโพรงให้สะอาดและมีคุณภาพดังนี้

     - เก็บเกี่ยวน้ำผึ้งที่อายุรังผึ้ง 84-105 วัน เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ แหล่งอาหาร และวงจรการสร้างตัวหนอน

     - ระมัดระวังการตัดแยกหลอดรวงน้ำผึ้งออกจากหลอดรวงเกสรกับตัวอ่อน ไม่ควรให้เกสรหรือตัวอ่อนปนเปื้อนในน้ำผึ้ง และตัดรวงผึ้งให้ชิดส่วนฝาไม้ด้านบนให้มากที่สุด

     - คัดแยกรวงน้ำผึ้ง ที่มีหลอดรวงปิดฝามากกว่าร้อยละ 80

     - ใช้มีดสะอาดเปิดฝาปิดรังผึ้ง นำไปวางในถังกรองน้ำผึ้ง แบบ strainer ผ่านผ้าขาวบาง ลดการปนเปื้อนจากการบีบด้วยมือและเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศ ตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิปกติ 2-3 วัน กรองน้ำผึ้งก่อนการบรรจุลงในภาชนะต่อไป

     การเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำผึ้งบูด ควรคำนึงถึงสภาพอากาศในวันเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือ มีช่วงอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส และไม่ควรเก็บน้ำผึ้งในช่วงฤดูฝนหรือมีความชื้นสัมพัทธ์สูงเกิน 60-70 %RH

     ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในพื้นที่โครงการหลวง และสพวส. ได้รับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “วิธีการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งจากผึ้งโพรงให้สะอาดและมีคุณภาพ (ผ่านการกรองและคัดแยกหลอดรวงน้ำผึ้ง)” ในพื้นที่ 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ฯ ห้วยโป่ง (ห้วยน้ำกืน) ป่าแป๋ ปางมะโอ สบเมย และแม่ระมีด จำนวน 85 ราย เกษตรกรสามารถผลิตถังกรองน้ำผึ้งแบบ strainer อย่างง่าย สำหรับใช้เก็บเกี่ยวน้ำผึ้งโพรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     ในปี พ.ศ. 2563 เกษตรกรพื้นที่สูงใน 7 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ ฯ ห้วยโป่ง (ห้วยน้ำกืน) ห้วยเป้า ป่าแป๋ ปางมะโอ สบเมย โหล่งขอด และแม่ระมีด สามารถผลิตน้ำผึ้งได้ จำนวน 1,106 กิโลกรัม สร้างรายได้จากการจำหน่ายน้ำผึ้ง 328,200 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน


เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: นางสาว ธีรนาฎ ศักดิ์ปรีชากุล