อาวุธลับปราบเชื้อโรคในดิน
โรงชีวภัณฑ์มูลนิธิโครงการหลวง จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยที่ได้คุณภาพและเชื่อถือได้ เกษตรกรโครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสามารถสั่งซื้อได้ เบอร์โทรติดต่อ 053-114218 หรือ ID Line : ppcrpf
พีพี-สเตร็บโต เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษโดยเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นส่วนประกอบหลักสามารถผลิตสารปฏิชีวนะ (antibiotics) ชื่อ สเตรปโตมัยซิน ซึ่งมีฤทธิ์กำจัดเชื้อราพิเทียมสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่า (damping off disease) ได้สูงถึง 80% ใกล้เคียงกับการใช้สารเคมี ในขณะเดียวกันยังกระตุ้นให้ต้นพืชสร้างรากมากขึ้น ช่วยเพิ่มการดูดซึมและลำเลียงแร่ธาตุ จึงเจริญเติบโตเร็วและแข็งแรงกว่าเดิม
เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ระหว่างการปลูกผักโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน เกษตรกรหลายคนประสบปัญหาต้นพืชเน่าตายเกือบทั้งแปลง หากสังเกตโคนต้นจะมีลักษณะฉ่ำน้ำและบางครั้งพบเส้นใยสีขาวฟูที่ลำต้นพืชใกล้กับดิน แม้ว่าจะเปลี่ยนต้นใหม่มาปลูกก็ยังไม่ดีขึ้น
คำถาม : สาเหตุเกิดจากอะไร
คำตอบ : เชื้อราชื่อพิเทียม (Pythium spp.) ซึ่งราชนิดนี้อาศัยในซากพืชและดินชื้นแฉะ เจริญเติบโตเร็วมาก จึงพบความเสียหายได้ตั้งแต่หลังหยอดเมล็ดจนถึงระยะใกล้เก็บเกี่ยว
คำถาม : ต้องทำอย่างไร
คำตอบ : 1) ป้องกันไม่ให้ราพิเทียมทำลายต้นพืช เริ่มจาก
(1) พลิกหน้าดินและตากแดด อย่างน้อย 7 วัน
(2) เตรียมแปลงก่อนปลูกผักให้ระบายน้ำได้ดีโดยการขึ้นแปลงสูงกว่าระดับเดิมประมาณ 1 ฝามือ ปรับหน้าดินให้เรียบเสมอกัน
(3) ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มความร่วนซุยและทำให้ดินเป็นกรดอ่อนซึ่งสภาพนี้เชื้อราไม่ชอบ
(4) คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยชีวภัณฑ์ของมูลนิธิโครงการหลวง ชื่อ พีพี-สเตร๊บโต ที่ผลิตจากเชื้อสเตรปโตมัยซีส อัลบัส (Streptomyces albus) อัตราส่วน 2 : 1 หรือใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก อัตรา 1 กรัมต่อต้น
(5) เพิ่มปริมาณเชื้อราไตรโคเดอร์มา ฮาร์เซียนั่ม (Trichoderma harzianum) หรือพีพี-ไตรโค ในปุ๋ยหมัก 50 กิโลกรัม ผสมรำข้าว 10 กิโลกรัม ใส่น้ำและคลุกเคล้าให้เข้ากันจนปุ๋ยจับกันเป็นก้อน ไม่แตก โรยหัวเชื้อราสด 1 กิโลกรัม บนกองปุ๋ย จากนั้นคลุมด้วยพลาสติกและหมักทิ้งไว้ 15 วัน ก่อนนำไปใช้รองก้นหลุมก่อนย้ายต้นกล้าปลูก ประมาณ 1 กำมือต่อหลุม และ
(6) หากมีประวัติการเกิดโรครุนแรงอาจเปลี่ยนมาใช้สารเคมีคลุกเมล็ดแทนชีวภัณฑ์ โดยชนิดที่ได้รับความนิยม เช่น แคปแทน (captan) เมทาแลกซิล (metalaxyl) และคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ (copper hydroxide) อย่างไรก็ตามสารเคมีมีพิษและเป็นอันตรายต่อเกษตรกร จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด
2) กำจัดแหล่งแพร่พันธุ์เชื้อโรค โดยการ
(1) พกถุงติดตัว (ถุงปุ๋ยเปล่า) ขณะเกษตรกรเดินสำรวจแปลง หากพบต้นผักที่แสดงอาการของโรคข้างต้น ให้ขุดต้นใส่ถุงปุ๋ยเปล่าอย่างระมัดระวังไม่ให้ดินของต้นเป็นโรคกระจายไปบริเวณอื่น รีบนำออกจากแปลงและเผาทำลาย
(2) ฉีดพ่นชีวภัณฑ์พีพี-ไตรโค ที่ผสมน้ำตามอัตราแนะนำบนดินบริเวณต้นเป็นโรค ทิ้งไว้ 2-3 วัน จึงนำกล้าต้นใหม่มาปลูก ผลงานวิจัยแสดงให้ข้อมูลชัดเจนว่าการคลุกเมล็ดด้วยผงชีวภัณฑ์พีพี-สเตร็บโต ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคและเพิ่มปริมาณรากมากขึ้นด้วย
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: สุมาลี เม่นสิน