องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เพิ่มคุณภาพชาดอกไม้อบแห้งด้วยเครื่องอบแห้งลมร้อนและ IOT (EP.2)

       การพัฒนากระบวนการอบแห้งในปัจจุบันนิยมทำในบริเวณที่ใกล้กับสถานที่เพาะปลูก เพื่อสามารถนำไปอบแห้งทันที ดังเช่นในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ ที่เน้นส่งเสริมพืชสมุนไพร ได้แก่ เก็กฮวย คาโมมายล์ และพืชสมุนไพรต่างๆ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกเพื่อการแปรรูปเป็นหลัก ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ฯ สะโงะ มีเกษตรกร 250 ครอบครัว พื้นที่เพาะปลูก 42.5 ไร่ ในฤดูการผลิตปี 2562-2563 มีปริมาณผลผลิตพืชสมุนไพรรวม 80 ตันสดต่อปี ซึ่งศูนย์ฯ สะโงะ สามารถอบแห้งผลผลิตสมุนไพรได้ 70-80 ตันสดต่อปี จากเครื่องอบแห้งระบบลมร้อนด้วยกลไกการพาความร้อนแบบการพา จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องอบแห้งระบบถาดหมุนควบคุมแบบ multi stage drying ระบบควบคุมการอบแห้งแบบ PID-controller ซึ่งจะช่วยควบคุมอุณหภูมิการอบแห้ง จำนวน 3 เครื่อง และคาดว่าอีก 10 ปี จะมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น 250-300 ตันสดต่อปี แต่เนื่องจากกำลังการผลิตของเครื่องอบแห้งน้อยกว่าปริมาณผลผลิตสมุนไพรที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้ผลผลิตสมุนไพรสดเสียหายจากการอบแห้งไม่ทันจึงจำเป็นต้องขยายกำลังการผลิตสมุนไพรอบแห้งด้วยการพัฒนาเครื่องอบแห้งลมร้อนขนาดใหญ่ จากงานวิจัยโครงการพัฒนากระบวนการอบแห้งสมุนไพร ชาดอกไม้: กรณีศึกษาศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ จังหวัดเชียงราย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิชัย อัศวราชันย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สนับสนุนทุนวิจัยโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งเครื่องอบแห้งลมร้อนแบบใหม่นี้มีกำลังการผลิตในการอบแห้ง 500 กิโลกรัมสดต่อครั้ง ใช้ระยะเวลา 8-12 ชั่วโมง สามารถอบแห้งได้ครั้งละ 70 กิโลกรัมแห้ง และนำระบบ Internet of Things (IOT) คือ การเชื่อมโยงผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมาช่วยควบคุมในกระบวนการผลิต สามารถรองรับปริมาณผลผลิตดอกเก๊กฮวย ดอกคาโมมายล์ และสมุนไพรอื่นๆ เพิ่มขึ้น 170 ตันสดต่อปี (ดังตาราง) และเมื่อรวมกับเครื่องอบแห้งลมร้อนที่ศูนย์ฯ สะโงะ มีจำนวน 6 เครื่อง จะสามารถรองรับปริมาณผลผลิตได้มากถึง 250 ตันสดต่อปี

       จากผลงานวิจัยนี้ก่อให้เกิดประโยชน์เชิงสาธารณะให้กับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะและพื้นที่ส่งเสริมที่มีการปลูกดอกเก๊กฮวย และดอกคาโมมายล์สด โดยใช้เครื่องอบแห้งลมร้อน (Tunnel dryer) ขนาด 500 กิโลกรัมต่อครั้ง ในการแปรรูปสมุนไพร ชาดอกไม้อบแห้ง ซึ่งช่วยลดการสูญเสียผลผลิตสดที่รอการอบแห้ง และรองรับปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถเป็นเครื่องต้นแบบที่ได้มาตรฐานช่วยยกระดับกระบวนการแปรรูปสมุนไพรชาดอกไม้ สู่การขอรับรองกระบวนการผลิตตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice; GMP) ตลอดจนสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของศูนย์ฯ สะโงะ ช่วยลดการปลูกพืชเสพติด การบุกรุกพื้นที่ป่า และการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากชุมชน รวมทั้งสามารถนำไปขยายผลต่อในเชิงพาณิชย์ได้

      การพัฒนาเครื่องอบแห้งลมร้อน (Tunnel dryer) ขนาด 500 กิโลกรัม (ความจุ 100 ถาด) มีประตูสำหรับนำรถเข็นบรรจุวัตถุดิบเข้าและออกด้านข้าง 5 ประตู และเพิ่มระบบเร่งการไหลเวียนอากาศภายในห้องอบแห้งให้สามารถเป่าลมร้อนเข้าสู่ห้องอบแห้งได้ทั้งซ้ายและขวา รวมทั้งดึงอากาศชื้นออกจากระบบตรงกลางห้องอบแห้งได้เร็วและเป็นระบบเป่าเย็นหลังจากอบแห้งเสร็จ ควบคุมการทำงานของระบบทำความร้อน ระบบไหลเวียนลมร้อน ระบบการตรวจวัดอุณหภูมิ และบันทึกค่าอุณหภูมิต่างๆ ด้วยระบบ Internet of Things (IOT)

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: นางสาวจิราวรรณ ปันใจ

แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง: ฤทธิชัย อัศวราชันย์ และคณะ. 2563. รายงานความก้าวหน้าโครงการพัฒนากระบวนการอบแห้งสมุนไพร ชาดอกไม้: กรณีศึกษาศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ จังหวัดเชียงราย. 96 หน้า.