องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

พืชเศรษฐกิจใหม่ของพื้นที่สูง (EP.1)

     ปัจจุบันกระแสความห่วงใยสุขภาพในกลุ่มผู้บริโภคกว้างมากขึ้นตั้งแต่วัยหนุ่มสาว วัยทำงานและผู้สูงอายุ ประกอบกับมีงานวิจัยจำนวนมากกล่าวถึงคุณประโยชน์ของสมุนไพรชาดอกไม้ที่สามารถลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ลดระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมไขมันในเลือด ฯลฯ ทำให้มีผู้บริโภคจำนวนมากหันมาดื่มชาเพิ่มขึ้น ซึ่งชาดอกไม้เป็นอีกหนึ่งในเครื่องดื่มสุขภาพที่ได้รับความนิยม เช่น กุหลาบ ดอกดาวเรืองเก๊กฮวย คาโมมายล์ หญ้าหวาน เป็นต้น จึงขอกล่าวถึง ชาดอกเก๊กฮวยและชาดอกคาโมมายล์อบแห้ง

     ดอกเก๊กฮวย (Chrysanthemum) หรือเรียกอีกชื่อว่า ดอกเบญจมาศป่า เป็นไม้ตัดดอกที่นิยมปลูกเลี้ยงง่าย และมีหลากพันธุ์ ดอกมีเกสรและกลีบดอกสีเหลือง เบ่งบานในช่วงฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม) นิยมนำดอกมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำจะมีสีเหลือง ส่วนใหญ่เป็นสารจำพวก “คาโรทีนอยด์” (caratenoids) ที่มีคุณสมบัติละลายในไขมัน เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ นอกจากนี้ยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงเกี่ยวกับการเสื่อมของตาและต้อกระจก รวมทั้งลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ

     คาโมมายล์ (Chamomile) เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ดอกมีเกสรสีเหลือง กลีบดอกสีขาว ดอกจะบานในช่วงฤดูร้อน (ต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายน) มีกลิ่นหอมอ่อนๆ อบอวล นิยมนำเอาดอกคาโมมายล์มาแปรรูปอบแห้งใช้ทำชาดื่ม ทำน้ำยาบ้วนปาก ส่วนน้ำมันหอมระเหยที่ได้จะมีฤทธิ์ช่วยรักษาแผลและอาการอักเสบ รักษาอาการหดเกร็งของกระเพาะอาหาร และใช้ทำยาบรรเทาอาการปวด แก้วิงเวียนศีรษะได้

     ดังนั้นจึงนิยมนำดอกเก๊กฮวย และดอกคาโมมายล์มาแปรรูปเป็นชาดอกไม้อบแห้ง โดยการใช้เทคโนโลยีการอบแห้งซึ่งมีความสำคัญต่อกระบวนการแปรรูปเป็นอย่างมากในการลดปริมาณน้ำออกจากผลิตผล เพราะนอกจากจะช่วยลดน้ำหนักของผลิตผลแล้วยังสะดวกในการขนย้าย ช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง และช่วยลดอัตราการเน่าเสียของผลิตผลในระหว่างรอการอบแห้ง ส่งผลให้สามารถลดปัญหาผลิตผลล้นตลาดและมีราคาตกต่ำได้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน และด้วยกระบวนการผลิตที่ควบคุมการอบแห้งอย่างเหมาะสมทำให้สามารถคงสารสำคัญและนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น


เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: นางสาวจิราวรรณ ปันใจ

แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง: ฤทธิชัย อัศวราชันย์ และคณะ. 2563. รายงานความก้าวหน้าโครงการพัฒนากระบวนการอบแห้งสมุนไพร ชาดอกไม้: กรณีศึกษาศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ จังหวัดเชียงราย. 96 หน้า.