องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

คู่มือกระบวนการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ ทรัพยากรป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม กรณีศึกษาพื้นที่ป่าสนวัดจันทร์

คู่มือ กระบวนการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ ทรัพยากรป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม

กรณีศึกษาพื้นที่ป่าสนวัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่

การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ปัจจุบันถือเป็น ประเด็นสำคัญ เพราะประชาชนโดยเฉพาะคนในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า หรืออาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ป่า เป็นกลุ่มคนที่เป็นทั้งผู้สนับสนุนและขัดขวาง ให้เป้าหมายของการจัดการทรัพยากรป่าไม้บรรลุผล รวมทั้งเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ดังนั้นการมีส่วนร่วมจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ ได้เข้ามาแสดงบทบาทหน้าที่ของตน นอกจากนี้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ยังตอบสนองต่อกฎหมาย นโยบาย และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทยอีกด้วย อย่างไรก็ตามงานด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมนี้เป็นงานที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องมีความเข้าใจในกระบวนการทำงาน และสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อทำความเข้าใจ บริบทของพื้นที่นั้น ๆ ที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย การถอดประสบการณ์การทำงานวิจัย ด้านการฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ป่าสน วัดจันทร์ จังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้นักพัฒนาหรือนักส่งเสริม งานด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้ใช้เป็นแนวทางการทำงานในอนาคตได้


ป่าสนวัดจันทร์ เป็นชื่อเรียกพื้นที่ป่าสนธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยสนธรรมชาติ 2 ชนิด คือ สนสองใบ (Pinus latteri) หรือไม้เกี๊ยะดำ และสนสามใบ (Pinus kesiya) หรือไม้เกี๊ยะเหลือง บางพื้นที่ในป่าสนมีไม้ก่อและชนิดพันธุ์ไม้ของป่าเต็งรัง ขึ้นผสมผสานอยู่ เช่น ยางเหียง เต็ง พลวง ฯลฯ ซึ่งไม้ชนิดต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะ ไม้สนทั้งสองชนิด ชุมชนท้องถิ่นชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน ทั้งเป็น ไม้ใช้สอยในการก่อสร้าง ใช้เป็นไม้เชื้อเพลิง และการพึ่งพิงป่าในรูปแบบอื่น ๆ เช่น แหล่งเก็บหาของป่า เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร รวมถึงเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมหรือ สืบสานวัฒนธรรมของชุมชน 

อย่างไรก็ตามรูปแบบและความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ได้มีการเปลี่ยนแปลง ไปจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ช่วงแรกของการอยู่อาศัย การใช้ประโยชน์จากป่าไม้ เน้นเพื่อการยังชีพ ต่อมาเมื่อพบว่าทรัพยากรในพื้นที่สามารถสร้างรายได้และมีตลาด ซื้อขายผลิตผล การใช้ประโยชน์ได้เปลี่ยนไปเป็นการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเห็น ได้จากต้นสนสองใบขนาดใหญ่จำนวนมากที่มีร่องรอยการเจาะชันสน ซึ่งเป็นผลมาจาก การให้สัมปทานเจาะชันสนแก่บริษัทเอกชนในอดีตเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับรัฐ ลักษณะการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ที่ปรากฏนี้ บางอย่างได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ของป่าไม้ นั่นคือความสมบูรณ์ของต้นไม้โดยเฉพาะต้นสน อันเป็นองค์ประกอบ สำคัญของป่าในระบบนิเวศป่าสน ความเปลี่ยนแปลงของสภาพป่าทำให้ชุมชนต้อง หันมาให้ความสำคัญกับพื้นที่ป่าไม้บริเวณโดยรอบชุมชนตนเองมากยิ่งขึ้น มีการตั้ง กฎกติกาในการดูแลและใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่ทั้งที่เป็นทางการและ ไม่เป็นทางการ ใช้จารีตและวัฒนธรรมของชุมชนเป็นตัวเสริมให้การดูแลทรัพยากร ป่าไม้มีคุณค่าต่อชุมชน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปบางครั้งรูปแบบการจัดการ ทรัพยากรที่เคยอาศัยวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอเป็นแนวทางหลักในการจัดการ ปัจจุบันอาจไม่เพียงพอ การใช้เทคโนโลยีและความรู้ทางวิชาการเข้ามาช่วยเสริม ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟู อนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ ได้เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ทรัพยากรป่าไม้ยังคงรักษาบทบาทหน้าที่ของตนเอง ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นในพื้นที่ป่าสนวัดจันทร์ การมีส่วนร่วมของประชาชนพร้อมกับ การร่วมทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการจัดการ ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งการเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรนี้ จะสามารถพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ให้อำนวยประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและ ยั่งยืนได้