องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ขออนุญาตปลูกกัญชง ทำอย่างไร?

การปลูกกัญชง (Hemp) อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขก่อนการปลูกเสมอ ไม่มีการยกเว้น ไม่มีปลูกอย่างเสรี

ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงที่จำกัดให้เฉพาะหน่วยงานรัฐเป็นผู้ขออนุญาตเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่าจะประกาศให้ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตเองได้ประมาณต้นปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

มีขั้นตอนการขออนุญาตโดยสรุป ดังนี้:


1 ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม แบบ เฮมพ์ 1 จากเว็บไซด์ของ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข http://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/SitePages/Hemp61.aspx


2 กรอกข้อมูลและจัดเตรียมเอกสารประกอบให้ครบถ้วน  ซึ่งในขั้นตอนจะใช้เวลาค่อนข้างมาก มีประเด็นที่สำคัญ ๆ ที่เป็นข้อสังเกต ดังนี้

2.1 เมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ปลูก ต้องมีปริมาณ THC ต่ำกว่า 1.0% ตามที่กฎกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ซึ่งปัจจุบันมี 4 พันธุ์ คือ พันธุ์ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4

คำแนะนำ:

ทำหนังสือขอซื้อหรือขอความอนุเคราะห์มายัง สวพส. ล่วงหน้า หลังจากนั้น สวพส. จะตอบหนังสือว่าจะจำหน่ายหรือให้ความอนุเคราะห์ได้หรือไม่ ซึ่งผู้ที่จะยื่นขออนุญาตต้องใช้แนบกับ แบบ เฮมพ์ 1

หมายเหตุ:

  1. สวพส. มีแผนผลิตเมล็ดพันธุ์สำหรับใช้ประโยชน์ปีต่อปีตามแผนการผลิตที่กำหนด หากต้องการใช้เมล็ดปริมาณมาก ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี
  2. ก่อนการจำหน่ายหรือให้ความอนุเคราะห์ สวพส. ต้องได้รับอนุญาตก่อนเช่นกัน
  3. ฤดูกาลผลิตเมล็ดพันธุ์กัญชง จะปลูกช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. และเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ของทุกปี (ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับการติดต่อขอเมล็ดพันธุ์มายัง สวพส.)
  4. ต้นทุนการผลิตเมล็ดพันธุ์ของ สวพส. ในปัจจุบันประมาณ 250 บาท/ กิโลกรัม ซึ่งยังไม่มีการจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมาเป็นการให้ความอนุเคราะห์โดยไม่คิดค่าเมล็ดพันธุ์


2.2 การกรอกเอกสาร ต้องชัดเจนถูกต้อง สามารถใช้ “แบบฟอร์ม Word” พิมพ์ข้อมูลได้ ซึ่งจะสะดวกในการแก้ไข เปลี่ยนแปลง และควรเลือกวัตถุประสงค์การผลิตให้สอดคล้องกับแผนการปลูก แปรรูปและใช้ประโยชน์

2.3 เอกสารประกอบอย่างน้อย 11 รายการ ซึ่งรายการที่มักผิดพลาดหรือแก้ไข ดังนี้

(1) แผนการผลิต ต้องมีความชัดเจน

  • ขนาดพื้นที่ปลูกสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตที่จะนำไปใช้ประโยชน์
  • วันปลูก วันเก็บเกี่ยว ควรระบุเป็นช่วงเวลา เช่น พ.ค.- ก.ค. เนื่องจากบางครั้งมีความแปรปรวนของสภาพแวดล้อมทำให้ต้องเปลี่ยนแปลง


(2) แผนการใช้ประโยชน์ควรมีความชัดเจน เนื่องจากเป็นพืชที่เจริญเติบโตรวดเร็ว หากปลูกแล้วไม่สามารถจำหน่ายได้ทัน ต้องใช้พื้นที่เก็บรักษามาก และทำให้ผลผลิตเสียหาย

(3) พื้นที่ปลูก ต้องมีเอกสารสิทธิที่ดิน พิกัดและขนาดแปลงปลูกถูกต้องตรงกับเอกสารสิทธิ์และพื้นที่ปลูกจริง หากไม่ตรงกัน ไม่สามารถปลูกได้ หรือหากปลูกแล้วจะต้องตัดทำลาย

(4) ใบรับรองแพทย์ ของผู้ยื่นขออนุญาต ควรเป็นปัจจุบันและได้รับจากโรงพยาบาล

3 การยื่นเอกสาร

ปัจจุบัน: ยื่นเอกสารที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ แล้วเข้าสู่ขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

หมายเหตุ: ใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน เนื่องจากแต่ละขั้นตอนต้องผ่านการเสนอในการประชุม คณะทำงานระดับอำเภอ คณะทำงานระดับจังหวัด คณะอนุกรรมการฯ กัญชง และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

ในอนาคต: ตามที่กระทรวงสาธารณาสุขแจ้งว่าจะประกาศกฎกระทรวงฯ กัญชง ฉบับใหม่ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ยื่นเอกสารที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แล้วเข้าสู่ขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

หมายเหตุ: คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2-4 เดือน เนื่องจากแต่ละขั้นตอนยังต้องผ่านการเสนอในการประชุม คณะทำงานระดับจังหวัด คณะอนุกรรมการฯ กัญชง และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ


เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.สริตา ปิ่นมณี, สำนักวิจัย