องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การแปรรูปเฮมพ์เชิงอุตสาหกรรม

    ปัจจุบันกฎหมายได้อนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์จากเฮมพ์ได้ในหลายๆส่วน โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 12) ยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้งเส้นใยแห้งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 รวมทั้งประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ระบุชื่อ กัญชง (hemp) ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp.Sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabis sativa  L.) ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงทุกส่วนของพืชกัญชง เช่น ใบ ดอก ยอด ผล ลำต้น ที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) และลักษณะเป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ยกเว้นให้สารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) ที่มีความบริสุทธิ์ 99% และมีสาร THC ไม่เกิน 0.01% และผลิตภัณฑ์จากสารสกัดที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% สามารถนำมาใช้เป็นผลิตทางยาได้ นอกจากนั้นเมล็ดและน้ำมันจากเมล็ดสามารถนำมาเป็นอาหารและเครื่องสำอางได้ เมื่อ 30 สิงหาคม 2562

จากการประกาศนี้เป็นโอกาสที่จะสามารถส่งเสริมให้เฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ได้เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้จากทุกส่วนของเฮมพ์ โดยเมล็ดนำไปใช้ประโยชน์ทางอาหารสุขภาพและเครื่องสำอาง ช่อดอกและใบนำมาสกัดสารสำคัญเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ส่วนเปลือกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และแกนนำมาใช้ในการทำวัสดุก่อสร้าง ซึ่งการแปรรูปเฮมพ์เชิงอุตสาหกรรมในปัจจุบันยังเป็นการแปรรูปจากเปลือกและแกนเฮมพ์ โดยมีการแปรรูปดังนี้


การแปรรูปเปลือกเฮมพ์


        คุณสมบัติเด่นของเฮมพ์ คือ เป็นเส้นใยที่ยาว เส้นใยมีความยืดหยุ่นสูง ทนทาน แข็งแรง และมีความสามารถในการซึมซับน้ำและระบายความชื้นได้ดี ด้วยโครงสร้างของเส้นใยที่มีรูพรุนจึงทำให้สวมใส่เย็นสบายในฤดูร้อน และอบอุ่นในฤดูหนาว สามารถป้องกันเชื้อราได้ และสามารถป้องกันรังสียูวีได้ถึง 95%

    ในการแปรรูปจากเปลือกแห้งเฮมพ์ ต้องนำเปลือกไปต้มด้วยกรดและฟอกขาวด้วยด่างเพื่อให้ได้เส้นใยสีขาว แล้วนำเส้นใยที่ได้ไปตัดให้ได้ขนาดเส้นใยที่เหมาะสม นำเข้าสู่ขบวนการสางเส้นใยให้ได้ขนาดเส้นใยที่สม่ำเสมอก่อนนำมาปั่นเส้นด้าย โดยเส้นด้ายเฮมพ์ที่ผลิตในเมืองไทยยังต้องผสมกับเส้นใยอื่นๆ เช่น ฝ้าย ลินิน ฯลฯ เนื่องจากเครื่องจักรที่มีในปัจจุบันยังไม่สามารถปั่นเส้นด้ายเฮมพ์ 100 เปอร์เซ็นต์ได้ เส้นด้ายผสมเฮมพ์ที่ได้นำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์ทั้งในงานหัตถกรรมและอุตสาหกรรมสิ่งทอต่างๆ


การแปรรูปแกนเฮมพ์


        คุณสมบัติของแกนเฮมพ์นั้นมีลักษณเป็นรูพรุนสามารถดูดซับและระบายความชื้นได้ถึง 5 เท่าของน้ำหนัก มีน้ำหนักเบา แข็งแรง ดูดซับความร้อน ระบายอากาศได้ดี และทนต่อการเสื่อมสภาพ ในต่างประเทศจึงนิยมนำมาทำเป็นวัสดุก่อสร้างและวัสดุมวลเบาต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยได้นำแกนเฮมพ์มาเป็นส่วนผสมในวัสดุก่อสร้าง เช่นเฮมพ์กรีตซึ่งมีค่าความสามารถในการรับแรงเพิ่มขึ้นจากคอนกรีตปกติ 40-75% ฉนวนกันความร้อน และวัสดุทดแทนไม้จากธรรมชาติ เพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์จากเฮมพ์อย่างมีประสิทธิภาพ (Zero waste) นอกจากนั้นยังสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ไบโอพลาสติก (bio plastic) วัสดุลองคอกสัตว์ กระดาษหัตถกรรม และถ่าน (Activated carbon) ซึ่งนำไปใช้เป็นวัสดุกองน้ำและเครื่องสำอาง เช่น สบู่ สคับขัดผิว

แต่อย่างไรก็ตามหากใช้ประโยชน์จากเปลือกและแกนเพียงสองอย่างนั้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ต่างประเทศมีเทคโนโลยีและต้นทุนการผลิตต่ำกว่าของประเทศไทย ดังนั้นการขยายการแปรรูปเฮมพ์เชิงอุตสาหกรรมนั้นควรต้องมีการนำไปใช้ประโยชน์ในทุกส่วนของเฮมพ์ในการผลิตต่อหนึ่งรอบเพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลงและสามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้