ฟักทองสีส้ม
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucurbita maxima
ชื่อสามัญ Orange Pumpkin
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]
ลักษณะทั่วไป ฟักทองสีส้มมีลักษณะผลคล้ายฟักทองญี่ปุ่น ผิวสีส้ม เนื้อภายในสีเหลือง เนื้อแน่นเหนียวและเนียน สามารถนำมาประกอบอาหารได้เช่นเดียวกับฟักทองทั่วไป ผลที่แก่จัดสามารถเก็บรักษาได้นานหลายเดือน เป็นพืชล้มลุก ลำต้นเป็นเถาเลื้อยตามพื้นดิน ยาว 20 – 30 ฟุต ลักษณะลำต้นเเข็ง เป็นเหลี่ยม มีร่องยาว ใบเป็นรูปห้าเหลี่ยม ขนาดใหญ่ ขอบใบหยักลึก มีขนปกคลุม เนื้อใบหยาบ ก้านใบและดอกมีขนาดเล็ก ผลมีสีเขียว รูปทรงกลมค่อนข้างแบน เนื้อแน่นแข็ง ฟักทองอ่อนเนื้อสีเหลือง เมื่อแก่เนื้อจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม รสหวานมัน เมล็ดแบนรี สีขาวนวล อายุเก็บเกี่ยวหลังจากย้ายปลูกประมาณ 120 วัน
การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ส่วนที่สามารถรับประทานได้ เช่น ผล ยอดอ่อน ดอก และเนื้อที่อยู่ในเมล็ด เนื้อฟักทองที่ดีต้องแน่นและเหนียว สามารถนำผลมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงเลียง ผัด แกงเผ็ด ต้มจิ้มน้ำพริก หรือต้มน้ำตาลคลุกงาผสมเกลือป่นเล็กน้อย รับประทานคล้ายขนมหวาน ทำฟักทองแกงบวด สังขยาฟักทอง ฟักทองเชื่อม ดอกฟักทองและยอดฟักทองนำมาแกงส้มหรือลวกจิ้มน้ำพริก เมล็ดฟักทองนำมาอบแห้งกินเนื้อข้างใน ฟักทองมีคุณค่าทางอาหารสูง เช่น ฟอสฟอรัส แคลเซียม และมีสารเบต้าแคโรทีน ค่อนข้างสูง ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง เมล็ดฟักทองช่วยป้องกันไม่ให้ต่อมลูกหมากโต ป้องกันและรักษาโรคนิ่ว ป้องกันโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]
ฟักทองเจริญได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่น มีความชื้นพอเพียง สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 0 ถึง 2000 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยทั่วไปอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเพาะกล้าอยู่ระหว่าง 21.1 – 35.0 C ในขณะที่อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 18 – 24 C สำหรับดินที่เหมาะสมต่อการปลูก ควรเป็นดินร่วนซุย มีความอุดรมสมบูรณ์ หน้าดินลึกและระบายน้ำได้ดี
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]
การเตรียมกล้า เพาะกล้าแบบประณีตในถาดหลุมขนาดใหญ่ ย้ายปลูกเมื่อใบเลี้ยงงอก (อายุ 6 – 8 วัน) โดยไม่ต้องรอใบจริง
การเตรียมดิน โรยปูนขาวอัตรา 0-100 กรัม/ต.ร.ม. และขุดดินตากแดด 14 วันเก็บเศษวัชพืชออกให้สะอาด
การปลูกและดูแลรักษา เตรียมดินขึ้นแปลง สูง 25 – 3 0 ซม.กว้าง 3 เมตรขุดหลุมกว้าง 80 และลึก 30 ซม. ห่างกันหลุมละ 100 ซม. ระยะห่างระหว่างแถว 3 เมตร คลุกปุ๋ยคอกอัตรา 1 กก./ต้น ปุ๋ย 12–24–12 อัตรา 30 กรัม/ต้น กลับดินให้เข้ากัน กลบดินเต็มหลุมรดน้ำในหลุมให้ชุ่ม และควรปลูกในเวลาเย็น
ข้อควรระวัง
- อย่าย้ายกล้าเมื่ออายุต้นแก่เกินไป (ไม่เกิน 10 วัน)
- การทำค้าง ควรทำในช่วงฤดูฝนเพื่อลดการเกิดโรคจากเชื้อราและป้องกันหนูกัดกินผล โดยการทำค้างสูงจากพื้นดินประมาณ 0.5 – 1 เมตร
- การตัดแต่งกิ่ง เมื่อมีการเจริญเติบโตของต้นจนถึงข้อที่ 6 ให้ตัดยอดเพื่อแตกกิ่งแขนงและเก็บไว้เพียง 3-4 กิ่ง คือกิ่งที่ข้อ 3,4,5,6 (ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น) และตัดกิ่งที่ข้อ 1,2 ทิ้งเพราะถ้าไม่ตัดทิ้งกิ่งอื่นถัดไปจะไม่เจริญเติบโต
- การตัดแต่งผล ให้เหลือไว้ 1 ลูก/กิ่ง เพื่อให้ได้ผลที่สมบูรณ์และขนาดตามที่ตลาดต้องการ ในการเก็บผลไว้ควรตรวจดูให้ละเอียดว่ามีรอยแผลแมลงเจาะวางไข่ไว้หรือไม่ ตั้งแต่ผลเล็กจากนั้นใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มผลไว้เพื่อป้องกันแมลงเจาะวางไข่ กรณีปลูกแบบเลื้อย ควรใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองผลและห่อผลเพื่อป้องกันแมลงวันทองและสีผิวเสีย
การให้น้ำ ให้น้ำตามความเหมาะสม ในช่วงแรกให้รดน้ำโดยการใช้สปริงเกอร์
การให้ปุ๋ย ระยะแรกใส่ปุ๋ย 46-0-0 และ 15-0-0 อัตรา 30 - 50 กรัม/ต้นและ 20 กรัม/ต้น ตามลำดับ ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 40 กรัม /ต้น ครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ย 13-13-21อัตรา 80 กรัม/ต้น
ข้อควรระวัง
- การปลูกในฤดูแล้งควรระวังเพลี้ยไฟเข้าทำลายต้นกล้าระยะการเจริญเติบโตระยะแรก
- ควรดูแลต้นฟักทองในระยะการเจริญเติบโตระยะแรกเป็นพิเศษ
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]
ช่วงเก็บเกี่ยว เมื่ออายุ 105-120 วัน หรือผิวมีสีเข้มมันแข็ง ขั้วผลจะเป็นสีน้ำตาลและขนาดเล็กลง
การเก็บเกี่ยว
- เก็บเกี่ยวเมื่อดัชนีการเก็บเกี่ยวเหมาะสม โดยใช้กรรไกรตัดขั้วเก็บผลที่ดี ไม่มีตำหนิจากโรค แมลง หรืออื่นๆ
- เก็บผลผลิตพักค้างไว้ 1 สัปดาห์ ก่อนส่งลงมาจำหน่าย
- จัดชั้นคุณภาพแล้วบรรจุในตะกร้าพลาสติก
- ขนส่งโดยรถธรรมดาหรือรถห้องเย็น
ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นฟักทองสีส้มทั้งผล ผิวเปลือกสีเขียว เรียบเป็นมัน มีลักษณะตรงตามพันธุ์ เนื้อมีสีเหลืองสด ไม่มีตำหนิภายใน แก่จัด เมล็ดแข็ง สะอาด ปลอดภัยจากสารเคมี
การจัดชั้นคุณภาพ
ชั้นหนึ่ง 1. มีน้ำหนักผล 1000 – 1500 กรัม
2. ผิวเปลือกเป็นมันสม่ำเสมอทั้งผล
3. ไม่มีตำหนิ หรือเป็นปุ่มปม
4. เนื้อมีสีเหลือง
5. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้นสอง 1. มีน้ำหนักผล 700 – 1000 กรัม
2. ผิวเปลือกเป็นมัน เนื้อมีสีเหลือง
3. มีตำหนิต่างๆ ได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้น U 1. มีน้ำหนักผล 400 – 700 กรัม หรือเกินกว่า 1500 กรัม
2. ผิวเปลือกเป็นมัน เนื้อมีสีเหลืองสด เมล็ดแก่
3. มีตำหนิต่างๆ ได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
การเก็บรักษา อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85 - 95 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 1 – 3 เดือน
เอกสารอ้างอิง :
[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง
[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์