องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ใครว่าร้อนแล้ง....จะเลวร้ายที่คลองลาน

     นายโบ สิงห์คำ เกษตรกรหมู่ที่ 11 บ้านปางมะนาว ตำบลปางมะค่า อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันอาศัยอยู่ร่วมกับภรรยาและหลานชาย ในพื้นที่ได้รับการจัดสรรจากกรมป่าไม้หลังอพยพออกจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ในปี พ.ศ.2529 ประกอบด้วยพื้นที่อยู่อาศัย 1 งาน และพื้นที่การเกษตร 5 ไร่ จากสภาพอากาศที่ร้อน แห้งแล้ง ดินร่วนปนทรายปะปนด้วยหินลูกรังและหินกลมมนขนาดเล็ก เป็นกรดจัดถึงกรดปานกลาง และมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ อาศัยน้ำฝนในการเกษตร ทำให้ลุงโบและเพื่อนบ้านจำต้องยังชีพด้วยการปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ผลผลิตที่ได้ไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพของครัวเรือน หลายครอบครัวจึงอพยพย้ายถิ่นฐาน หรือรับจ้างนอกพื้นที่เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว แต่ลุงโบกลับคิดต่างมองว่าที่ดินผืนนี้คือบ้าน เป็นทุนที่มีอยู่แล้วหากออกไปที่อื่นต้องเริ่มต้นใหม่ ถ้ามีความขยัน อดทน และอยู่อย่างพอเพียง ย่อมดำรงชีพได้อย่างไม่ขัดสน ลุงโบจึงยืดหยัดทำการเกษตรในพื้นที่จัดสรร 5 ไร่ และเช่าพื้นที่เพิ่ม 24 ไร่ เพื่อปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายได้เฉลี่ย 75,000 บาทต่อปี เลี้ยงสุกรไว้จำหน่ายในชุมชนรายได้เฉลี่ย 40,000 บาทต่อปี และลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนด้วยการปลูกข้าวนา เลี้ยงไก่และปลาไว้บริโภค

       เมื่ออายุมากขึ้นเรี่ยวแรงในการปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ขนาดใหญ่ให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพเหมือนแต่ก่อนลดลง ทำให้ลุงโบต้องการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ในปี พ.ศ.2560 ลุงโบได้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงคลองลาน ปรับเปลี่ยนจากการปลูกมันสำปะหลังเป็นไม้ผล คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ในพื้นที่จัดสรร 2 ไร่ จำนวน 220 ต้น และทดสอบเลี้ยงหมูหลุม ในปี พ.ศ.2561-2562 ลุงโบได้เข้าร่วมการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบเกษตรในพื้นที่เขตร้อนแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่การวิเคราะห์สภาพพื้นที่ การคัดเลือก ทดสอบพืชและสัตว์ทางเลือกในแปลงของตนเอง

        ลุงโบได้เข้าร่วมการทดสอบปลูกน้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง ซึ่งเป็นไม้ผลทนแล้ง ดูแลรักษาง่าย เจริญเติบโตได้ในดินที่มีสภาพเป็นกรด ในพื้นที่จัดสรร 1 ไร่ จำนวน 100 ต้น มีอัตราการรอดตายของต้นน้อยหน่าอายุ 12 เดือน 93% ความสูงต้นเฉลี่ย 102.72 เซนติเมตร ขนาดเส้นรอบวงเฉลี่ย 6.30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีของการเจริญเติบโตในระยะแรก คาดว่าจะให้ผลผลิตในปี พ.ศ.2564 แต่การเจริญเติบโตในสภาวะร้อนแล้งเช่นนี้ เกิดจากความเอาใจใส่และการปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด โดยการใส่ปุ๋ยคอกบำรุงดิน การคลุมบริเวณโคนต้นเพื่อเก็บรักษาความชื้นในดิน และการปลูกหญ้าแฝกลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ลุงโบยังคงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แซมแถวไม้ผลในปีแรก

       การทดสอบเลี้ยงสุกรแบบโครงการหลวง เพื่อยกระดับการเลี้ยงสุกรให้ได้มาตรฐาน โดยการนำสุกรลูกผสมสายพันธุ์โครงการหลวงที่รวมลักษณะดีของสุกรสามสายพันธุ์ไว้ (25% เปียแตรง, 50% พื้นเมือง, 25% เหมยซาน) มีอัตราการเจริญเติบโตดี ให้ลูกดก เลี้ยงลูกเก่ง มาทดสอบเลี้ยงโดยเปรียบเทียบกับวิธีการเลี้ยงสุกรแบบเดิมที่เลี้ยงบนพื้นซีเมนต์ และการใช้อาหารหมักที่มีส่วนผสมของมันสำปะหลังและหยวกกล้วยร่วมกับสูตรอาหารสำเร็จรูปในอัตราส่วน 50:50 พบว่า สุกรลูกผสมอายุ 4 เดือน มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวัน (ADG) เท่ากับ 0.5 กิโลกรัม สูงกว่าสุกรพันธุ์พื้นเมือง 20% และการใช้อาหารหมักร่วมกับอาหารสำเร็จรูป ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสุกรได้ 36% ในส่วนของคุณภาพซากสุกรลูกผสมมีน้ำหนักซาก 78% ของน้ำหนักมีชีวิต สูงกว่าสุกรพันธุ์พื้นเมืองที่มีน้ำหนักซาก 68% และความหนาไขมันสันหลัง 3 จุดของสุกรลูกผสม น้อยกว่าความหนาไขมันสุกรพื้นเมือง 39% ซึ่งลุงโบได้นำปุ๋ยคอกที่ได้จากการเลี้ยงหมูหลุมไปบำรุงดินในแปลงไม้ผล และสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมงานวิจัยไปถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานและผู้ที่สนใจในชุมชนได้

 

     การวิจัยนี้ไม่เพียงแต่สร้างความรู้ใหม่และรายได้แก่เกษตรกรในอนาคต แต่เป็นการวิจัยที่เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัย นักพัฒนา และเกษตรกร เพื่อพัฒนาระบบเกษตรในชุมชน เป็นการสร้างต้นแบบของการดำรงชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้ความสำคัญกับความสมดุลของระบบนิเวศ และการใช้วัสดุเกษตรแบบหมุนเวียนภายในฟาร์มเชื่อมโยงกันจนเป็นห่วงโซ่ (Circular Agriculture) อันนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: กชพร สุขจิตภิญโญ และ อภิชาติ เนื่องนิตย์