การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ปลูกข้าวไร่ : ถั่วลอด
ข้าวไร่เป็นพืชอาหารที่มีความสำคัญกับวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ โดยการปลูกข้าวไร่ของชาวปกาเกอะญอนั้นจะปลูกข้าวไร่แบบหมุนเวียนในพื้นที่ลาดชันและใช้พื้นที่ในการปลูกค่อนข้างมาก ซึ่งจะปลูกข้าวไร่ 1-2 ปี จากนั้นหมุนเวียนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เนื่องจากไม่สามารถปลูกซ้ำที่เดิมได้เพราะจะได้ผลผลิตข้าวต่ำ โดยในการปลูกแต่ละครั้งจะต้องมีการถางไร่ เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ซึ่งจะเป็นการตัดต้นไม้ออกไปบางส่วน หากเป็นไม้ใหญ่ ชาวปกาเกอะญอจะใช้วิธีริดกิ่งออก ส่วนไม้อื่นจะตัดให้สูงเหนือพื้นดิน 1 เมตร เพื่อให้แตกกิ่งก้านสาขา เจริญเติบโตเป็นป่าได้ในปีต่อไป รวมทั้งปล่อยให้พืชผักจำพวกเถาเลื้อย สามารถเจริญเติบโตได้ เพื่อให้มีพืชผักชนิดอื่นๆ ในการบริโภค หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการเผาเตรียมพื้นที่ปลูกในเดือนมีนาคมถึงเมษายน เมื่อเข้าหน้าฝนก็จะเริ่มปลูกข้าวไร่และมีพืชผักพื้นบ้านปลูกผสมไปในแปลงเดียวกัน เช่น แตง ข้าวโพด หลังจากเก็บเกี่ยวฃ้าวไร่แล้วจะพักแปลงไว้ประมาณ 3-5 ปี เพื่อให้ดินได้พักฟื้นและสะสมแร่ธาตุอาหารในดิน
จากวิถีการปลูกข้าวไร่แบบหมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้มาปรับการทดสอบเพื่อให้เกษตรกรได้เห็นถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยไม่ต้องหมุนเวียนพื้นที่ปลูกข้าวไร่ทุกปี แต่เป็นการนำพืชตระกูลถั่วมาใช้ในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินหลังจากการถางและเผาเพื่อปลูกข้าวไร่ ร่วมกับการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ซึ่งมีความสำคัญมากในการทำการเกษตรบนพื้นที่สูง โดยมีขั้นตอนการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงข้าวไร่ดังนี้
1) จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ปลูกข้าวไร่ที่มีความลาดชันสูง โดยจัดทำเป็นแบบคูรับน้ำขอบเขา ขวางความลาดชันของพื้นที่เป็นช่วงๆ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน สร้างความชุ่มชื้นให้กับดิน และจัดการเรื่องการไหลบ่าของน้ำในฤดูฝนให้ลงในร่องน้ำ โดยจะมีการชะลอความเร็วของน้ำ และกรองตะกอนดินบริเวณคันคูรับน้ำขอบเขา อีกทั้งเกษตรกรยังสามารถปลูกไม้ผล ไม้โตเร็ว ตามแนวคันคูรับน้ำ อีกทั้งต้องปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและรักษาความชุ่มชื้นในดิน
2) ปลูกข้าวไร่ร่วมกับถั่วลอด โดยถั่วลอดเป็นถั่วพุ่มชนิดหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษทางสรีรวิทยา มีการเจริญเติบโตเลื้อยแผ่ราบ เป็นพืชที่ปรับตัวดีในสภาพไร่อาศัยน้ำฝน มีปมไรโซเบียมที่ราก ชุมชนบนพื้นที่สูงบางแห่งพึ่งพิงและใช้ประโยชน์ถั่วลอด โดยบริโภคได้ทั้งฝักอ่อน ฝักแก่ และเมล็ด อีกทั้งเป็นพืชที่สามารถปลูกร่วมกับข้าวไร่ โดยอัตราแนะนำ คือ ถั่วลอด 40 กรัมต่อข้าวไร่ 10 กิโลกรัม จากการเก็บข้อมูลผลผลิตข้าวไร่ที่ปลูกร่วมกับถั่วลอด ให้ผลผลิตเฉลี่ย 387 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าการปลูกข้าวไร่เพียงอย่างเดียว ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 265 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตเมล็ดถั่วลอด 6.6 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้ถั่วลอดยังสามารถเลื้อยคลุมดินมีการแตกกิ่งแขนงเลื้อยไปได้ไกลกว่า 10 เมตร สามารถป้องกันการชะล้างของหน้าดินจากเม็ดฝน ช่วยรักษาความชื้นในดิน รวมทั้งยังช่วยเพิ่มซากอินทรียวัตถุให้แก่ดิน เป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน อีกทั้งถั่วลอดยังสามารถนำไปบริโภคและจำหน่ายสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนทางหนึ่ง
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: จุไรรัตน์ ฝอยถาวร / ดารากร อัคฮาดศรี