ปลูกถั่วบำรุงดินในแปลงมันสำปะหลังกันเถอะ
จากงานวิจัยการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ดำเนินงานในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงคลองลาน โดยนำถั่วลิสงและถั่วพร้าปลูกระหว่างร่องมันสำปะหลัง หลังจากปลูกมันสำปะหลังประมาณ 30 วัน โดยมีระยะห่างระหว่างต้นถั่วลิสงและถั่วพร้า ประมาณ 30 และ 50 เซนติเมตร ตามลำดับ ซึ่งก่อนการปลูกถั่วจะให้เกษตรกรคลุกเชื้อไรโซเบียมก่อน และมีการให้ปุ๋ยมันสำปะหลังตามค่าวิเคราะห์ดิน เมื่อถึงระยะเก็บเกี่ยวถั่ว พบว่าถั่วลิสงและถั่วพร้าที่ปลูกในร่องปลูกมันสำปะหลังพื้นที่ 1 ไร่ ให้ผลผลิต 85 และ 22.8 กิโลกรัมตามลำดับ นอกจากนี้เกษตรกรยังมีรายได้เสริมจากการปลูกถั่วลิสง 2,550 บาทต่อไร่ ซึ่งเกษตรกรมีความพึงพอใจมากเพราะมีรายได้เพิ่มจากการขายถั่วและเป็นการบำรุงดินด้วย หลังจากเก็บเกี่ยวถั่วลิสงและถั่วพร้าแล้ว ใบต้นมันสำปะหลังจะเริ่มชิดกันทำให้บังแสงแดด หญ้าจึงไม่สามารถขึ้นระหว่างร่องได้ เป็นการลดการใช้ยากำจัดวัชพืชอีกทางหนึ่ง อีกทั้งช่วยรักษาความชื้นในดินและลดการสูญเสียหน้าดินได้ด้วย
ผลผลิตมันสำปะหลังแปลงที่ปลูกถั่วลิสงและถั่วพร้าระหว่างร่อง มีผลผลิต 2,554 และ 3,215 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าแปลงที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นพืชเดี่ยว 20-51 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการเปลี่ยนแปลงของดินในปีแรกยังไม่ชัดเจน มีเพียง ค่า pH และอินทรียวัตถุที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ปริมาณ โพแทสเซียม แคลเซียมและแมกนีเซียมกลับลดลง อาจเป็นเพราะว่าธาตุอาหารจำนวนมากถูกดึงออกไปติดไปกับมันสำปะหลังและพืชแซม
นอกจากนี้ได้มีการศึกษาถึงปริมาณธาตุอาหารของต้นถั่วลิสงและต้นถั่วพร้า พบว่า ต้นถั่วลิสง มีปริมาณการสะสมไนโตรเจน เฉลี่ย 2.22 และ 2.32 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ มีปริมาณการสะสมฟอสฟอรัส เฉลี่ย 0.10 และ 0.12 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ มีปริมาณการสะสมโพแทสเซียม เฉลี่ย 0.53 และ 0.42 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ดังตารางซึ่งปริมาณธาตุอาหารเหล่านี้จะกลับลงสู่ดินเป็นปุ๋ยให้กับพืชที่จะปลูกจะปลูกต่อไป
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ดารากร อัคฮาดศรี และ จุไรรัตน์ ฝอยถาวร นักวิจัย