วอเตอร์เครส/สลัดน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nasturtium oFFicunale
ชื่อสามัญ Water cress
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]
วอเตอร์เครส หรือที่เราคนไทยเรียกว่า “สลัดน้ำ” เป็นผักในตระกูลกะหล่ำ (Cruciferae) ซึ่งมีลักษณะเป็นผักใบเขียว นิยมนำมาทำเป็นผักสลัด หรืออาจนำมาทานเป็นผักแกล้มกับน้ำพริก ตลอดจนเป็นส่วนประกอบของอาหารเมนูต่างๆ ตามใจชอบ แต่ทั้งนี้ในเรื่องคุณค่าทางอาหารแล้ว มีประโยชน์เหลือเชื่อเลยทีเดียวถ้าเทียบจากน้ำหนักที่เท่ากันแล้ว วอเตอร์เครสประกอบด้วยวิตามินซีมากกว่าส้ม มีแคลเซียมมากกว่านมทุกชนิด มีธาตุเหล็กมากกว่าผักโขมและยังประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดจากสารอนุมูลอิสระอีกด้วย และพบว่าสารบางอย่างในวอเอตร์เครสสามารถยับยั้งและป้องกันการเกิดมะเร็งได้ ในการทดลองพบว่าสารสกัดจากวอเตอร์เครสจะช่วยลดการทำลาย DNA ของเซลล์บริเวณลำไส้ที่จะนำไปสู่การเกิดมะเร็ง นอกจากนี้ยังช่วยลดการโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็ง ไปยังบริเวณต่างๆ ได้อีกด้วย
คุณค่าทางอาหาร (Health benefits) สารประกอบในวอเตอร์เครสที่สำคัญ คือ กลูโคซิโนเลต พีโนลิก และฟลาโวนอย เมื่อคุณเคี้ยวหรือหั่นวอเอตร์เครส สารกลูโคซิโนเลตจะแตกตัวเป็นไอโซไทโอไซยาเนต หนึ่งในนั้นคือ PEITC (Phenylethyl isothiocyanate) ซึ่งจากงานวิจัยมากกว่า 50 งานพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งและป้องการเกิดมะเร็ง
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]
ผักชนิดนี้เป็นผักที่เจริญเติบโตเร็วและชอบน้ำมาก ไม่ชอบแดดจัด ดังนั้นสภาพพื้นที่ปลูกจะต้องมุงด้วยตาข่ายพรางแสงอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]
การปลูกวอเตอร์เครส ผักชนิดนี้เป็นผักที่เจริญเติบโตเร็วและชอบน้ำมาก ไม่ชอบแดดจัด ดังนั้นสภาพพื้นที่ปลูกจะต้องมุงด้วยตาข่ายพรางแสงอย่างน้อย 80 % วิธีการปลูกจะใช้วิธีการปักชำ โดยใช้กรรไกรคมๆ ตัดยอดแม่พันธุ์ผักวอเตอร์เครสให้มีความยาว 2 นิ้ว หรือให้มีจำนวนข้อประมาณ 5 ข้อ การปักชำคล้ายกับการดำนา คือเมื่อปักยอดพันธุ์ลงดินไปแล้วกดดินรอบๆ ให้แน่น 1 หลุมจะใช้ยอดพันธุ์ประมาณ 5-10 ยอด ระยะปลูกใช้ประมาณ 1 คืบมือ X 1 คืบมือ หลังจากปลูกไปได้เพียง 1 เดือน จะตัดยอดขายได้ โดยตัดยอดให้มีความยาวประมาณ 2 นิ้ว ในการปลูกวอเตอร์เครสแต่ละรุ่นจะเก็บเกี่ยวยอดได้ราว 5 ครั้ง ถ้าทำแปลงปลูกขนาดความกว้างและความยาวของแปลง 2 เมตร และ 6 เมตร จะเก็บผักวอเตอร์เครสได้ น้ำหนักเฉลี่ย 50 กิโลกรัม
การดูแลรักษา วอเตอร์เครสจะชอบน้ำมาก เกษตรกรจะต้องให้น้ำทุกวัน โดยเฉพาะช่วงแรกของการปักชำ เพื่อให้ต้นตั้งตัวและรากออกได้เร็ว ปัญหาในการปลูกที่พบส่วนใหญ่จะพบในช่วงฤดูฝน คือโรคที่เกิดจากเชื้อราทำให้ยอดเป็นสีแดง ใช้วิธีการตัดทิ้งเพื่อให้แตกยอดออกมาใหม่ [1]
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว :
ช่วงเก็บเกี่ยว คือหลังจากปลูกไปได้เพียง 1 เดือนหรือเก็บเกี่ยวหลังจากย้ายกล้าประมาณ 3 สัปดาห์ [2] จะตัดยอดขายได้ โดยตัดยอดให้มีความยาวประมาณ 2 นิ้ว ในการปลูกวอเตอร์เครสแต่ละรุ่นจะเก็บเกี่ยวยอดได้ราว 5 ครั้ง ถ้าทำแปลงปลูกขนาดความกว้างและความยาวของแปลง 2 เมตร และ 6 เมตร จะเก็บผักวอเตอร์เครสได้ น้ำหนักเฉลี่ย 50 กิโลกรัม [1]
ข้อควรระวัง
ในขณะที่บรรจุยอดผักวอเตอร์เครสลงในถุง ไม่ควรให้มีเศษใบที่ร่วงหรือใบที่หลุดออกจากยอดติดไปในถุงด้วย เพราะจะเป็นต้นเหตุให้อายุของการวางตลาดน้อยลง (เศษของใบวอเตอร์เครสจะเน่าก่อน และทำให้ส่วนอื่นๆ เน่าตามไปด้วย) [1]
ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นวอเตอร์เครสที่สมบูรณ์ มีรูปร่าง ลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ใบไม่เหลือง ไม่มีตำหนิใดๆ สดสะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี [2]
การจัดชั้นคุณภาพ
ชั้นหนึ่ง 1. ความยาวของลำต้น 12 – 17 เซนติเมตร
2. ลำต้นและใบมีสีเขียว
3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ข้อกำหนดในการจัดเรียง : วอร์เตอร์เครสในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอ
การเก็บรักษา : ที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 – 100 เปอร์เซ็นต์ เก็บรักษาได้นาน 1 - 2 สัปดาห์
ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ม.ค. - ธ.ค.
เอกสารอ้างอิง :
[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง
[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์