คะน้าฮ่องกง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Brassica oleraceae var.alboglara
ชื่อสามัญ Kailaan
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]
ลักษณะทั่วไป คะน้าฮ่องกงจัดเป็นคะน้ายอดชนิดหนึ่งอยู่ในตระกูล Brassicaceae (Cruciferae) มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ลักษณะลำต้นและใบมีสีเขียวเข้ม ใบมีลักษณะเรียว ไม่กลม ลำต้นมีขนาดเล็กกว่าคะน้ายอดดอยคำ กรอบ ไม่เป็นเสี้ยน ดอกมีสีขาวหรือสีเหลืองทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร นิยมนำมาผัด หรือนำมาเป็นเครื่องเคียงกับอาหารประเภทยำ มีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง นอกจากนั้นยังมีวิตามินซีและแคลเซียมมาก ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคกระดูกบาง
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]
คะน้าฮ่องกงตอบสนองต่ออุณหภูมิมากกว่าคะน้ายอดดอยคำ กล่าวคือ การเพาะกล้าในช่วงอุณหภูมิต่ำ หากย้ายลงแปลงที่อุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย ต้นกล้าจะแทงช่อดอกในขณะยังเล็ก ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงเพาะกล้าในที่มีอุณหภูมิต่ำ สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการปลูกและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพควรอยู่ในช่วง 15 – 28 องศาเซลเซียส สำหรับดินที่เหมาะสมต่อการปลูกควรเป็นดินร่วน มีความอุดมสมบูรณ์สูง การระบายน้ำดี ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเพื่อปรับโครงสร้างดิน โดยทั่วไปค่าความเป็นกรด – ด่างของดินที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 5.5 – 6.5 ดินมีความชื้นสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรแฉะเกินไป และควรได้รับแสงอย่างพอเพียง
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]
การเตรียมกล้า มี 2 วิธี
- เพาะเมล็ดในกระบะที่มีส่วนผสมระหว่างทราย : ขุยมะพร้าว : หน้าดิน อัตราส่วน 2 : 1 : 1 ต้นกล้ามีอายุประมาณ 5 วัน ย้ายลงถาดหลุมที่ใช้วัสดุเพาะ
- หยอดเมล็ดลงในถาดหลุมเพาะกล้าโดยตรง หลังจากต้นกล้ามีอายุประมาณ 18 – 21 วัน หรือมีใบจริงอย่างน้อย 2 – 3 ใบ จึงทำการย้ายปลูก
การเตรียมดิน ขุดดินลึก 10 - 15 ม. ตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 7 – 14 วัน โรยปูนขาวหรือโดโลไมท์อัตรา 0 – 100 กรัม/ตร.ม. ขึ้นแปลงกว้าง 1 – 1.2 ม.หรือตามสภาพพื้นที่ ใส่ปุ๋ยรองพื้นปุ๋ยคอก (มูลไก่) หรือปุ๋ยหมักอัตรา 3 กก./ตร.ม. และหว่านปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 120 กรัม/ตร.ม. ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน
การปลูก ย้ายปลูกเมื่อต้นกล้าอายุ 18 – 21 วัน ในกรณีที่ต้องการเก็บหน่อข้าง ฤดูร้อน (ไม่เกิน 28 องศาเซลเซียส) 30 x 30 ซม. ฤดูฝนและหนาว 30 x 40 ซม. เก็บเกี่ยวครั้งเดียวควรใช้ระยะปลูก 25 x 25 ซม.
การให้น้ำ ให้น้ำแบบสปริงเกอร์
การให้ปุ๋ย ในระยะแรกจึงต้องการปุ๋ยไนโตรเจน ค่อนข้างสูง
- ใส่ปุ๋ยครั้งแรก 7 วัน หลังปลูก ใส่ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 หรือ 21 – 0 – 0 อัตรา 120 กรัม/ตร.ม. ใส่บริเวณลำต้น
- ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หลังปลูก 14 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 ผสม 15 – 15 – 15 อัตรา 1 : 2 ผสมกัน ใช้อัตรา 120 กรัม/
ตร.ม.
- ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 หลังย้ายปลูก 21 วัน ใช้ปุ๋ยสูตร 30 – 20 – 10 อัตรา 20 กรัม/20 ลิตร
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]
ช่วงเก็บเกี่ยว เริ่มเก็บหลังจากย้ายปลูกประมาณ 45 – 50 วัน หรือช่อดอกตูม
การเก็บเกี่ยว
1. เก็บเกี่ยวโดยใช้มีดคมตัด แล้วทาปูนแดงบริเวณรอยตัด ตัดแต่งใบให้เหลือเฉพาะใบที่หุ้มส่วนของดอก 1 – 2 ใบ
2. คัดผลผลิตที่ไม่ได้ชั้นคุณภาพออก
3. ทำความสะอาดบริเวณที่เปื้อนดิน
4. จัดเรียงในภาชนะบรรจุให้พอดี ควรระวังการสูญเสียน้ำ
5. ลดอุณหภูมิลงเหลือ 2 – 3 องศาเซลเซียส และขนส่งด้วยรถห้องเย็นหรือใส่กล่องโฟม ที่มีน้ำแข็งหรือเจลไอซ์
ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นคะน้าฮ่องกงที่มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ มีดอกซึ่งไม่บาน สีของดอกยังเขียว สีใบและสีก้านสม่ำเสมอ ไม่มีตำหนิใดๆ มีใบติดลำต้น 2 – 3 ใบ สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี
การจัดชั้นคุณภาพ
ชั้นหนึ่ง 1. ลำต้นตรง มีความยาวจากโคนต้นถึงปลายดอก 10 – 15 เซนติเมตร
2. ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0 – 1.5 เซนติเมตรฃ
3. สด สะอาด ไม่เปื้อนดิน ไม่เหี่ยว
4. ก้านไม่กลวง
5. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้น U 1. ลำต้นตรงงอได้บ้าง มีความยาวจากโคนต้นถึงปลายดอก 8 – 15 เซนติเมตร
2. ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 – 1.0 เซนติเมตร หรือ 1.6 – 2.0 เซนติเมตร
3. สด สะอาด ไม่เปื้อนดิน ไม่เหี่ยว
4. ก้านกลวงได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
5. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ข้อกำหนดในการจัดเรียง คะน้าฮ่องกงที่อยู่ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน มีชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอ
เอกสารอ้างอิง :
[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง
[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์