องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

คะน้าใบหยิก

ชื่อวิทยาศาสตร์   Brassica oleraceae 

ชื่อสามัญ Curl leaf kale

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป ลักษณะขอบใบจะหยิกฝอย ต่างจากคะน้าทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด นิยมนำมาทำอาหารประเภทผัด หรือต้มจับฉ่าย ให้คุณค่าวิตามิน B2 และแร่ธาตุหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมสมดุลกรดเบสในกระแสเลือด เสริมสร้างกระดูก และฟัน มีผลผลิตตลอดทั้งปี

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร นิยมนำมาผัดหรือเป็นเครื่องเคียงกับอาหารประเภทยำ คะน้าโดยทั่วไปมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง นอกจากนั้นยังมีวิตามินซีสูงกว่าผักใบอื่นๆ โดยทั่วไป นับเป็นผักที่มีคุณค่ายิ่ง ช่วยบำรุงสายตา ผิวพรรณ ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคกระดูกบาง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

โดยทั่วไปอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการปลูกอยู่ระหว่าง 20 – 25 องศาเซลเซียส การปลูกในสภาพอากาศหนาวเย็นหรือมีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส จะทำให้การเจริญเติบโตช้า ลำต้นและใบอวบใหญ่กว่าปกติ ข้อถี่ การปลูกในสภาพอากาศร้อนสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส คุณภาพผลผลิตต่ำ เยื่อใยสูง เหนียว จำเป็นต้องให้น้ำมากกว่าปกติ สำหรับพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300 – 800 เมตร สามารถปลูกได้คุณภาพดีในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ ส่วนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ขึ้นไป สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี สำหรับดินปลูกควรร่วนซุย ดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์สูง ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก การระบายน้ำดี ค่าความเป็นกรด – ด่างดินควรอยู่ระหว่าง 5.5 – 6.5 หากพื้นที่ปลูกเป็นกรดควรปรับด้วยปูนขาวหรือโดโลไมด์ ดินปลูกควรมีความชื้นสูงประมาณ 80 % ดังนั้นต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและพอเพียง และได้รับแสงอย่างเต็มที่ หากขาดน้ำจะชะงักการเจริญเติบโต เส้นใยมาก รสชาติไม่อร่อย

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมกล้า มี 2 วิธี

  1. เพาะเมล็ดในกระบะที่มีส่วนผสมระหว่างทราย : ขุยมะพร้าว : หน้าดิน อัตราส่วน 2 : 1 : 1 ต้นกล้ามีอายุประมาณ 5 วัน ย้ายลงถาดหลุมที่ใช้วัสดุเพาะ
  2. หยอดเมล็ดลงในถาดหลุมเพาะกล้าโดยตรง หลังจากต้นกล้ามีอายุประมาณ 18 – 21 วัน หรือมีใบจริงอย่างน้อย 2 – 3 ใบ จึงทำการย้ายปลูก

การเตรียมดิน ขุดดินลึก 10 - 15 ม. ตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 7 – 14 วัน โรยปูนขาวหรือโดโลไมท์อัตรา 0 – 100 กรัม/ตร.ม. ขึ้นแปลงกว้าง 1 – 1.2 ม.หรือตามสภาพพื้นที่ ใส่ปุ๋ยรองพื้นปุ๋ยคอก (มูลไก่) หรือปุ๋ยหมักอัตรา 3 กก./ตร.ม. และหว่านปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 120 กรัม/ตร.ม. ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน

การปลูก ย้ายปลูกเมื่อต้นกล้าอายุ 18 – 21 วัน ในกรณีที่ต้องการเก็บหน่อข้าง ฤดูร้อน (ไม่เกิน 28 องศาเซลเซียส) 30 x 30 ซม. ฤดูฝนและหนาว 30 x 40 ซม. เก็บเกี่ยวครั้งเดียวควรใช้ระยะปลูก 25 x 25 ซม.

การให้น้ำ ให้น้ำแบบสปริงเกอร์

การให้ปุ๋ย เนื่องจากคะน้าหยิกเป็นผักกินใบ ในระยะแรกจึงต้องการปุ๋ยไนโตรเจน ค่อนข้างสูง

- ใส่ปุ๋ยครั้งแรก 7 วัน หลังปลูก ใส่ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 หรือ 21 – 0 – 0 อัตรา 120 กรัม/ตร.ม. ใส่บริเวณลำต้น

- ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หลังปลูก 14 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 ผสม 15 – 15 – 15 อัตรา 1 : 2 ผสมกัน ใช้อัตรา 120 กรัม/

ตร.ม.

- ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 หลังย้ายปลูก 21 วัน ใช้ปุ๋ยสูตร 30 – 20 – 10 อัตรา 20 กรัม/20 ลิตร

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว ประมาณ 3 เดือนหลังจากหยอดเมล็ด

การเก็บเกี่ยว

1. เก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีขนาดตามที่ตลาดต้องการ

2. คัดผลผลิตที่ไม่ได้ชั้นคุณภาพออก

3. จัดเรียงผลผลิตในภาชนะบรรจุให้เรียบร้อย

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นคะน้าใบหยิกที่มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิใดๆ ไม่แก่เกินไป สีสม่ำเสมอ ไม่แคระแกรน สด ไม่เหี่ยว สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ

 ชั้นหนึ่ง 1. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 1.0 – 1.3 เซนติเมตร

      2. ความยาวจากโคนต้นถึงปลายใบสุดท้าย 35 เซนติเมตร

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง  1. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 0.9 – 1.0 เซนติเมตร

      2. ความยาวจากโคนต้นถึงปลายใบสุดท้าย 25 เซนติเมตร

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 0.5 – 0.9 เซนติเมตร

      2. ความยาวจากโคนต้นถึงปลายใบสุดท้าย 20 เซนติเมตร

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง คะน้าใบหยิกในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน มีชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอ

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 – 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 2 – 3 สัปดาห์

ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ธ.ค. - มี.ค.


เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์