องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การผลิตสมุนไพรชงดื่ม

    การผลิตสมุนไพรในรูปแบบชาชงดื่ม เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคสมุนไพร นอกจากจะดื่มง่าย ยังช่วยบำรุงสุขภาพ อย่างไรก็ตามชาชงดื่มที่ดีต้องสะอาด ปลอดภัย และคงคุณภาพของชาไว้ ขั้นตอนการผลิตสมุนไพรชาชงดื่มนี้จะเป็นแนวทางให้แก่ผู้ที่สนใจการผลิตสมุนไพรในรูปแบบสมุนไพรชงดื่ม และนำไปปรับใช้กับพืชสมุนไพรอื่น


1. การเก็บสมุนไพรสด

  • เลือกเก็บสมุนไพรสดคุณภาพดี ไม่เป็นโรคและไม่ถูกแมลงรบกวน
  • หากเป็นสมุนไพรที่ใช้ส่วนใบ เช่น ผักเชียงดา ให้คัดใบที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ประมาณใบที่ 3-4 จากยอด
  • คัดใบแก่ ใบเหลืองทิ้ง
  • บรรจุในถุงพลาสติกมัดปากถุงให้สนิท หรือใส่ภาชนะที่ไม่สัมผัสกับดิน

     ** ขั้นตอนนี้เองที่จะทำให้ได้สมุนไพรที่มีคุณภาพ

 

2.การล้าง

    นำสมุนไพรแช่น้ำประมาณ 5-10 นาที ทันทีหลังจากเก็บล้างสมุนไพรด้วยน้ำสะอาด 2 ครั้งและล้างน้ำสุดท้ายอีกครั้งด้วยน้ำจากเครื่องกรองน้ำให้ล้างทั้งด้านหน้าและหลังใบ

     ** ขั้นตอนการล้างนับว่ามีความสำคัญอย่างมากในการลดการสะสมของเชื้อจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมากับสมุนไพร

 

 

 

3. การหั่นและนวด

  • ให้เลือกตัดก้านใบออก
  • นำสมุนไพรมาหั่นเป็นชิ้นขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร
  • จากนั้นให้คั้นสมุนไพรให้ช้ำ

 

      ** การนวดสมุนไพรให้ช้ำ จะช่วยดึงเอาสารสำคัญที่มีในสมุนไพรออกมาได้ง่ายยิ่งขึ้น ขณะนำไปชงในรูปแบบของชาชงดื่ม

 

 

4. การผึ่งตาก

    นำสมุนไพรมาผึ่งตาก ประมาณ 1 วัน โดยกระจายสมุนไพรบางๆ บนภาชนะที่ไม่ขึ้นสนิม และตากในโรงเรือนที่มีอากาศถ่ายเทได้ดีและไม่มีฝุ่นในกรณีไม่มีตู้อบให้ตาก ประมาณ 2-3 วัน

    ** ขั้นตอนนี้จะช่วยลดการสะสมของเชื้อจุลินทรีย์ เนื่องจากการนำสมุนไพรที่ล้างเสร็จ และอบทันทีจะทำให้เกิดกระบวนการหมักและเกิดการสะสมของจุลินทรีย์จำนวนมาก อย่างไรก็ตามการผึ่งตากสมุนไพรไว้นานเกินไปจะทำให้สมุนไพรมีสีซีดและเสียรสชาติ

 

 

 

5. การอบแห้ง

  • เตรียมตู้อบโดยการฉีดแอลกอฮอล์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจสะสมในตู้อบ
  • นำสมุนไพรที่ผ่านการผึ่งตากใส่ถาดหรือถุงกระดาษอบแห้งในตู้อบที่มีอุณหภูมิ 65-75 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมง
  • จากนั้นเก็บสมุนไพรอบแห้งในถุงที่ปิดสนิท ระบุรายละเอียด: ชื่อสมุนไพร สถานที่ผลิต น้ำหนัก วันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุ

 

     ** การอบแห้งสมุนไพร นอกจากจะทำให้สมุนไพรแห้งสนิทแล้ว ยังจะสามารถลดการสะสมของเชื้อราและยีสต์เป็นอย่างดี

 

 

6. การคัดบรรจุ

    คัดเลือกสมุนไพรอบแห้งที่มีคุณภาพดี บรรจุในซองชา ขนาด 1 กรัม อุปกรณ์ที่ใช้ในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย: ซองชาขนาด 2 x 2.5 นิ้ว เข็มเย็บผ้า ด้ายสีขาว และเครื่องชั่งน้ำหนัก

    ** ขั้นตอนนี้เน้นเรื่องความสะอาดควรฉีดพ่นแอลกอฮอล์ 70% เพื่อฆ่าเชื้อในอุปกรณ์การผลิต บนโต๊ะผลิต สวมถุงมือ สวมผ้าปิดปาก และสวมชุดคลุมให้เรียบร้อย

 

 

 

 

 

 

---------------------------------------------

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:

นางสาวอัปสร วิทยประภารัตน์