งาขี้ม้อน มหัศจรรย์โอเมก้าจากยอดดอย
“งาขี้ม้อน” มหัศจรรย์โอเมก้าจากยอดดอย
เขียน/เรียบเรียง: เจษฎา จงใจดี และอดิเรก ปัญญาลือ
งาม้อนหรืองาขี้ม้อน (Perilla frutescens) เป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่ปลูกกันมานานในพื้นที่ภาคเหนือของไทย เป็นพืชตระกูลเดียวกับกระเพรา โหรพา แมงลัก ส่วนใหญ่จะปลูกกันในพื้นที่ดอนอาศัยน้ำฝน งาม้อนสามารถบริโภคในรูปแบบต่างๆ เช่น เมล็ดใช้ทานเปล่า เมล็ดนำไปคั่วแล้วตำผสมกับข้าวเหนียวผสมเกลือซึ่งคนทางเหนือเรียกข้าวหนุกงา นอกจากนั้นมีการแปรรูปจากงาม้อนหลายรูปแบบ เช่น งาม้อนคั่ว งาม้อนแผ่น ข้าวหลามงาม้อน คุกกี้งาม้อน ชางาม้อน รวมไปถึงเครื่องสำอางบำรุงผิว เป็นต้น
งาม้อน มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว รวมทั้งฟอสฟอรัส แคลเซียม วิตามินบี อี และมีสารเซซามอลที่สามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็งและชะลอความแก่ มีผลการวิจัยพบว่าในน้ำมันงาม้อนมีกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกาย ที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้
ประโยชน์ของโอเมก้า 3 ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างไขมันที่สำคัญในสมอง และจอประสาทตา มีประโยชน์ต่อระบบประสาทช่วยในเรื่องความจำและป้องกันโรคความจำเสื่อมในวัยชรา ป้องกันโรคหัวใจและสมองขาดเลือดได้
โอเมก้า 6 ทำหน้าที่ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด ช่วยลดอาการปวดและอาการอักเสบต่างๆ ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้เซลล์ผิวหนัง ลดอาการแห้งกร้าน ริ้วรอยต่างๆ บนผิวหนัง
วิตามินอีทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งป้องกันระบบประสาท ปอด กล้ามเนื้อ และตาจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ ชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ป้องกันหลอดเลือดแดงหัวใจแข็งตัวและเสริมภูมิคุ้มกัน
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้รวบรวมตัวอย่างผลผลิตของงาม้อนทั้งชนิดงาดอ (เก็บเกี่ยวช่วงเดือนตุลาคม) และชนิดงาปี (เก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนธันวาคม) ในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงห้วยเป้า อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในปี 2558 ผลวิเคราะห์พบว่าน้ำมันงาม้อนชนิดงาดอ และงาปีให้ผลการวิเคราะห์ที่ใกล้เคียงกันโดยพบ มีปริมาณโอเมก้า 3 เท่ากับ 50.9 - 53.4 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าโอเมก้า 3 ที่สกัดได้จากอัลมอนด์ ข้าวโพด มะกอก ปาล์ม ถั่วลิสง และถั่วเหลือง (ตารางที่ 1) และมากกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมันปลา (ปลาแซลมอนอบขนาด 85 กรัม จะมีโอเมก้า 3 เพียง 2 กรัม คิดเป็น 2.35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น)
ส่วนโอเมก้า 6 พบระหว่าง 21.2 - 24.1 เปอร์เซ็นต์ พบมากกว่าน้ำมันที่สกัดจากอัลมอนด์ มะกอก และปาล์ม (ตารางที่ 1)
วิตามินอีในงาม้อน พบระหว่าง 6.7 - 7.6 มิลลิกรัม พบมากกว่าเมล็ดทานตะวัน ถั่วลิสง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง รวมถึงมากกว่าในผลกีวี่ และบร็อคโคลี่ (ตารางที่ 2)
จากผลการวิเคราะห์ยังพบว่าในน้ำมันงาม้อนนั้นมีกรดไขมันอิ่มตัวน้อยเมื่อเทียบกับน้ำมันจากพืชชนิดอื่น ซึ่งกรดไขมันอิ่มตัวหากบริโภคในปริมาณมากอาจกระตุ้นการสร้างคอเลสเตอรอลในร่างกาย เพิ่มโอกาสเกิดเส้นเลือดอุดตันและโรคหัวใจได้
ตารางที่ 1 ชนิดและเปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักของกรดไขมันรวมในน้ำมันเมล็ดพืชชนิดต่างๆ
ที่มา : http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/2038/palmitic-acid
ตารางที่ 2 ตารางปริมาณวิตามิน E ในพืช
ที่มา : http://siamhealth.net/public_html
ในอนาคตงาม้อนจึงถือเป็นอีกพืชหนึ่งที่มีโอกาสสร้างมูลค่าในกลุ่มคนรักสุขภาพ รวมไปถึงบริษัทผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เล็งเห็นคุณประโยชน์ต่างๆ ในพืชชนิดนี้แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องผลผลิตของงาม้อนที่มีความแปรปรวนสูง ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจผลผลิตในภาคเหนือตอนบนพบว่ามีผลผลิตเฉลี่ย 80 กิโลกรัมต่อไร่ (กรมวิชาการเกษตร, 2555) ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มีผลผลิตเฉลี่ย 200-400 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งในปัจจุบันการปลูกงาม้อนของเกษตรกรยังขาดรูปแบบการปลูกที่เหมาะสม สถาบันจึงศึกษาระยะปลูกที่เหมาะสมพบว่าระยะปลูก 50 x 50 เซนติเมตร ให้ผลผลิตเมล็ดเพิ่มขึ้นจากระยะปลูกแบบเดิมถึง 2 เท่า (ภาพที่ 1) ในปี 2559 โครงการวิจัยได้ดำเนินการทดลองต่อยอดเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพเพื่อให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงสามารถสร้างเป็นรายได้เสริมในครัวเรือนจากพืชท้องถิ่นของตนเองให้มีความยั่งยืนต่อไป
ภาพแปลงทดลองในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงห้วยเป้า อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ภาพที่ 1 ผลผลิตเมล็ด (กิโลกรัมต่อไร่) ที่ระยะปลูก 3 ระยะ เปรียบเทียบกับระยะปลูกแบบเดิมของเกษตรที่แปลงทดลองในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงห้วยเป้า อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ปี 2558
อ้างอิง
1. จดหมายข่าวผลิใบก้าวใหม่การวิจัยและพัฒนาการเกษตร. งาม้อนพืชวิเศษสุดให้โอเมก้า 3 ทดแทนปลาทะเลน้ำลึก. กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ (ระบบออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.doa.go.th/pibai/pibai/n15/v_3-apr/kayaipon.html(1 มีนาคม 2559).
2. http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/2038/palmitic-acid
3. http://siamhealth.net/public_html