องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เฟินเขากวาง

เฟินเขากวาง Polypodium polycarpon เป็นพืชที่มีการนำมาทดสอบก่อนนำมาส่งเสริมแลพพบว่าสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

กลางวันอยู่ในช่วง 19-27 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิกลางคืนลดลงต่ำกว่าอุณหภูมิกลางวันประมาณ 4-6 องศาเซลเซียส แสงสว่างประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นในอากาศประมาณ 60-80 เปอร์เซ็นต์

การขยายพันธุ์

1) วิธีการขยายพันธุ์

โดยการเพาะสปอร์ คือ เริ่มจากการเก็บสปอร์ใต้ใบเฟิร์น โดยเลือกจากกลุ่มอับสปอร์ที่มีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งแสดงว่าสปอร์มีความแก่เต็มที่ ใช้มีดตัดใบเฟินส่วนที่มีสปอร์เก็บไว้ในซองกระดาษที่ไม่ทำให้สปอร์ขนาดเล็กฟุ้งกระจาย จากนั้นเก็บไว้ในบริเวณที่ร่มและแห้งภายใน 1-2 วัน สปอร์ก็จะแตกออกหมดแล้วใช้คีมขนาดเล็กคัดเอาอับสปอร์ และส่วนของใบหรือสิ่งต่างๆออกจากสปอร์แล้วเก็บสปอร์ทั้งหมดเตรียมเพาะต่อไป

2) การแบ่งกอ

การขยายพันธุ์ด้วยการแบ่งกอจะใช้กอที่มีอายุนานประมาณ 2-4 ปี มาแบ่งแยกเพื่อปลูกใหม่ อีกครั้งหนึ่ง

การดูแลรักษา

1. การจัดการด้านความเข้มแสง

ปลูกภายใต้โรงเรือนหรือปลูกในกระถาง อยู่ในโรงเรือนที่มุงซาแรนขนาด 70 เปอร์เซ็นต์

2. การจัดการด้านอุณหภูมิ

อุณหภูมิในโรงเรือนที่มีความเหมาะสม คือ 19-27 องศาเซลเซียส ในช่วงกลางวัน

3. ปุ๋ย

ควรรดปุ๋ยน้ำพร้อมกับการรดน้ำต้นพืชสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จนกระทั่งเริ่มตัดดอกโดยสูตรผสม ดังนี้

 ปุ๋ย                            ถัง A (กิโลกรัม)        ถัง B (กิโลกรัม)

โมโนแอมโมโนฟอสเฟต  11-60-0             8                -

แคลเซียมไนเตรท  15-0-0                 -                20 

โปรแตสเซียมไนเตรท  13-0-46              10              10

แมกนีเซียมซัลเฟต  MgSo4.7H2O            4                -

ยูนิเลท                               0.5               - 

ปุ๋ยน้ำเข้มข้น(Stock) ตวงปุ๋ยน้ำสูตรA และ B อย่างละ 1 ลิตร ผสมน้ำสะอาดจำนวน 200 ลิตร คนให้เข้ากันก่อนรดน้ำพืชสามารถรดต้นพืชได้ 100-150 ตารางเมตร ควรให้ปุ๋ยเสริม เช่น ยูเรีย ละลายน้ำในระยะแรกของการเจริษเติบโตหรือปุ๋ยเกร็ดไบโฟลาน ปุ๋ยปลาเสริมเป็นบางครั้งแล้วแต่ความเหมาะสม

โรคและศัตรูพืช

ใบเป็นจุดและโรคไหม้

สาเหตุ :เชื้อรา Rhizoctonia sp.

อาการ :ใบเป็นจุดขนาดใหญ่ ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม กลางแผลซีด ปลายใบไหม้

วิธีป้องกัน

-ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูกเผาทำลาย

-ฉีดพ่นสารเคมีบีโนมิล (เบนเลท โอดี, โฟโนมิลหรือฟันดาโซล) สลับกับแคปแทน(ออโธไซด์) หรือไตโคลเฟส-เมทธิล (ไรโซเล็กซ์) ทุก 5-7 วัน จนกว่าไม่พบการระบาด

แมลงด้วงปีกแข็ง

ลักษณะตัวเล็กมีฟันแหลมคม ชอบกัดกินยอดใบอ่อนเป็นอาหาร ทำให้ใบมีตำหนิหรือเสียหายได้

วิธีป้องกัน

- จับตัวทั้งเป็นมาทำลายซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลมาก 

- ใช้ศัตรูธรรมชาติทำลาย เช่น นก

- ใช้สารเคมีกำจัดแมลงฉีดพ่น

การให้น้ำ

ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอถ้าดินยังมีความชื้นให้ลดความถี่ของการให้น้ำลงโดยการทดสอบบีบเนื้อดิน การปลูกภายในโรงเรือนซาแรนดำควรระมัดระวังเรื่องน้ำขัง โดยอาจต้องทำการยกร่องระบายน้ำเนื่องจากความชื้นที่มากเกินไปทำให้ต้นเน่าได้

การเก็บเกี่ยว

1) ระยะเก็บเกี่ยว

ใบต้องมีความแก่พอเหมาะสม และมีความสดไม่มีโรคและแมลงทำลายใบตรงคดงอได้ไม่เกิน 30 องศา

2) วิธีการเก็บเกี่ยว

ใช้กรรไกรตัดใบที่แก่และสดมีสีเขียว

3) การวัดมาตรฐาน

เกรด 1 ความยาวของใบ 70-80 เซนติเมตร

     ความกว้างของใบ 20-30 เซนติเมตร

เกรด 2 ความยาวของใบ 60-70 เซนติเมตร

     ความกว้างของใบ 15-20 เซนติเมตร

เกรด U ความยาวของใบ 50-60 เซนติเมตร

     ความกว้างของใบ 15-20 เซนติเมตร

4) ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว

ควรตัดตอนเช้าหรือตอนเย็น

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

- ควรแช่น้ำยารักษาอายุการใช้ของดอกไม้

- ในระหว่างการเก็บรักษา หรือการขนส่ง ควรอยู่ในที่ร่ม แสงแดดส่องไม่ถึง