องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

มอนสเตอล่า

มอนสเตอล่า Monstera sp. เป็นพืชในเขตร้อนชื้นเหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก เพราะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูก มีฝนตกตลอดปี มีสภาพอากาศร้อนชื้น ทำให้มอนสเตอล่าเจริญเติบโตได้ดี มีลักษณะใบสวยเป็นมัน ใบมีคุณภาพดี ใบพืชชนิดนี้มีลักษณะเป็นแฉกฉลุบนพื้นใบ เป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัวของพืชในตระกูลนี้ พืชชนิดนี้เป็นพืชชนิดเลื้อย ทอดยาวไปตามพื้นดินหรือหลักที่เราทำขึ้นเพื่อค้ำพยุงต้น มีรากทุกข้อปล้อง ขยายพันธุ์ค่อนข่างง่าย เป็นพืชอายุยืนนานหลายปี ในด้านการตลาดไม้ตัดใบจัดว่า มอนสเตอล่ามีศักยภาพในการจำหน่ายสูง เพราะไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ใบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ราคาค่อนข้างสูง จำหน่ายง่าย อีกทั้งเป็นพืชที่ปลูกค่อนข้างง่าย ต้องการการเอาใจใส่ปานกลาง แข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลง อายุการปลูกนาน มีปริมาณผลผลิตตลอดทั้งปี

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ทำได้ง่ายและสามารถขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปีวิธีที่นิยม คือ

1. โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

2. โดยวิธีการตัดชำยอด

- การชำ ชำในถุงสีดำขนาด 4x6 นิ้ว จนกว่าจะออกราก และต้นมีสภาพแข็งแรง จึงนำออกปลูกในถุงขนาดใหญ่

- ควรอนุบาลต้นกล้าในโรงเรือนที่มีหลังคาพลาสติก แต่ถ้าไม่มีโรงเรือนพลาสติกควรใช้โรงเรือนพรางแสงชนิด 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้ต้นไม้ได้รับแสงแดดโดยตรง เพราะต้นอาจจะแห้งตายได้ ควรอนุบาลนานประมาณ 1 เดือน จึงนำออกปลูกแปลงผลิตต่อไป

- ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการขยายพันธุ์ คือ ช่วงฤดูฝน แต่โดยทั่วไปสามารถขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี โดยในช่วงฤดูหนาวควรปักชำในโรงเรือนพลาสติกหรือโรงอบ เพื่อให้เกิดอากาศร้อนช่วยกระตุ้นให้ออกรากได้ดีขึ้น หรือโรงเรือนพรางแสงชนิด 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อช่วยลดอัตราการตายของต้นกล้า

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก

มอนสเตอล่าปลูกได้ 2 ลักษณะ คือ

1. ปลูกลงในแปลงเพื่อตัดใบ

ลักษณะนี้จะใช้ระยะปลูก 1x1 เมตร เพราะการปลูกในลักษณะนี้ ต้นมอนสเตอล่าจะเจริญเติบโตดี และมีต้นขนาดใหญ่จะได้มีใบที่มีขนาดใหญ่ ในด้านการเตรียมแปลงจะใช้ปุ๋ยคอกหมักผสมกับแกลบดิน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างดินและรองก้นหลุม อัตราที่ใช้ คือ 5-10 กิโลกรัม/1 ตารางเมตร แล้วนำต้นมอนสเตอล่าที่เตรียมแปลงภายใต้โรงเรือนที่มีซาแรนพรางแสงชนิด 70 เปอร์เซ็นต์ จะเหมาะสมที่สุด

2. การปลูกในถุงดำขนาดใหญ่

เพื่อผลิตใบมอนสเตอล่าที่มีใบขนาดเล็กและใบขนาดปานกลาง เพราะรากของต้นพืชจะไม่ลงในดินเพื่อหากินอาหาร ทำให้ต้นมีลักษณะเล็กตามไปด้วย การปลูกวิธีนี้เป็นที่นิยมกันแพร่หลายซึ่งใบที่ได้มีขนาดเล็กตามความต้องการของผู้บริโภค โดยใช้ระยะปลูก 50x50 เซนติเมตร ซึ่งวัสดุปลูกที่ใช้ประกอบด้วย ปุ๋ยคอกหมัก แกลบดิน แกลบดำ ขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1:1:1:1 โดยที่ปลูกภายใต้โรงเรือนพรางแสงชนิด 70 เปอร์เซ็นต์ จะเหมาะสมที่สุด

การดูแลรักษา

การดูแลจัดการด้านการปลูกมอนสเตอล่าเพื่อการผลิตเป็นไม้ตัดใบ ควรปลูกต้นพืชภายใต้โรงเรือนพลาสติกจะเหมาะสมที่สุด หรือปลูกภายในโรงเรือนที่มีซาแรนพรางแสงชนิด 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้พืชได้รับความเข้มแสงในปริมาณที่เหมาะสมใบที่ได้จะมีลักษณะสีเขียวเข้มเป็นมัน มีคุณภาพดีและอายุการใช้งานนาน

การให้ปุ๋ย

โดยปกติจะใช้ปุ๋ยสูตร RPF ของมูลนิธิโครงการหลวงเป็นหลักโดยรดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งตามความเหมาะสม โดยใช้ควบคู่กับปุ๋ยทางใบ เช่น ยูนิเลท ไปโฟลาน โกลด์ฟิช ปุ๋ยเกร็ดต่างๆ เช่น 10-20-30, 30-20-10, 12-54-12 ตามความเหมาะสม

โรคและศัตรูพืช

โรคใบจุด ที่เกิดจากเชื้อ Colletotrichum sp.

การป้องกัน โดยกำจัดใบที่เป็นโรคออกทำลายและพ่นสารเคมีพวกแอนทราโคลสลับกับไดเทน เอ็ม 45 ถ้าอาการรุนแรงให้ใช้ อัลโต 100 หรือสกอร์ ฉีดพ่นเมื่อเกิดการระบาด

โรคแอนแทรกโนส

การป้องกันกำจัด โดยใช้สารเคมี คาร์เบนดาซิมสลับกับแมนโคเซบหรือแอนทราโคล ฉีดพ่น 3-5 วัน/ครั้ง และตัดใบที่เป็นโรคออกทำลาย

หนอนกระทู้

การป้องกัน โดยการกำจัดหนอนออกทำลาย และพ่นสารเคมีไซเปอร์เมทริน เชื้อ Bacillus thuringenesis เซฟวิน คลอไพรีสฟอส แคสเคน ตามอัตราแนะนำ

ตั๊กแตน

มักระบาดในฤดูฝน กำจัดโดยฉีดพ่นสารเคมีพวกไซเปอร์เมทริน

การให้น้ำ

อาจใช้สปริงเกอร์หรือใช้สายยางรดก็ได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวควรเก็บเกี่ยวเมื่อใบพืชแก่เต็มที่ จะมีลักษณะสีเขียวเข้มเป็นมัน ไม่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย และควรตัดชิดโคนก้านใบ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดลักษณะชั้นเกรดของใบพืชชนิดนี้ แต่ที่เหมาะสม คือ ควรมีความกว้างขวางของใบ ตั้งแต่ 20 เซนติเมตรขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน 50 เซนติเมตร เพราะถ้าหากมากกว่านี้ใบจะมีลักษณะใหญ่เกินไปยากต่อการขนส่ง ความต้องการของตลาดผู้บริโภคมีปริมาณน้อย ส่วนความยาวของก้านใบตั้งแต่ 6 เซนติเมตรขึ้นไป

วิธีการเก็บเกี่ยว

ควรคัดใบที่มีขนาดใกล้เคียงกันเข้าด้วยกันและมัดเข้ากำจำนวน 10 ใบ/กำ ใบพืชจะต้องไม่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย จากนั้นพันก้านด้วยสำลี แล้วห่อด้วยถุงพลาสติก อีกครั้งหนึ่งแล้วนำไปแช่ในน้ำที่สะอาดต่อไป

การเก็บเกี่ยว

ควรเก็บในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นในสภาพอากาศไม่ร้อน เพราะใบพืชจะได้สด ไม่เหี่ยวแห้งและเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วควรรีบนำไปแช่ในน้ำสะอาดทันทีและเก็บไว้ในที่ร่ม เพราะลักษณะโครงสร้างใบของพืชที่เก็บเกี่ยวใบจะมีการคายน้ำสูงต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

ควรแช่ในน้ำสะอาด ไม่จำเป็นต้องแช่ในน้ำยาสารเคมีก็ได้ เพราะพืชชนิดนี้มีลักษณะแข็งแรง ทนทานมีอายุการใช้งานและการเก็บรักษานานอยู่แล้วแต่ต้องปฏิบัติให้ถูกวิธี

โดยปกติการเก็บรักษา ถ้าเก็บในสภาพห้องเย็นหรือตู้แช่อุณหภูมิ 8-10 องศาเซลเซียส จะช่วยให้ใบสดเขียว มีอายุการเก็บรักษาและการใช้งานได้นานขึ้น แต่ถ้าไม่มีห้องเย็นหรือตู้แช่ให้เก็บในที่ร่มสภาพอุณหภูมิห้องก็ได้เช่นกัน อุณหภูมิ 32-37 องศาเซลเซียส แต่อย่าให้แสงแดดส่องถึง เพราะจะทำให้ใบเหลืองเหี่ยวมีอายุการใช้งานสั้น