องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ฟิโลเดรนดรอน ซานาดู

พืชตระกูลซานาดู (Philodendro xanadu) เป็นไม้ตัดใบในเขตร้อนชื้น สามารถปลูกได้ในสภาพแวดล้อมในประเทศไทย ชอบความชื้น ปลูกและดูแลค่อนข้างง่าย อายุการปลูกค่อนข้างยาวนาน สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดช่วงอายุการปลูก ในด้านการตลาด เป็นไม้ใบที่ตลาดมีความต้องการสูง มีความต้องการตลอดปี ใช้ประโยชน์ง่ายได้ทุกสถานการณ์ ถึงแม้ราคาจะไม่สูงนัก แต่มีปริมาณผลผลิตต่อต้นต่อพื้นที่สูง มีผลผลิตตลอดปีจำหน่ายง่าย ผลผลิตออกตลอดทั้งปี จึงมีความเหมาะสมที่จะปลูกในงานส่งเสริมของโครงการหลวงเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดปี

การขยายพันธุ์ 

การขยายพันธุ์พืชชนิดนี้ทำได้ง่ายและขยายพันธุ์ได้หลายวิธี กล่าวคือ

1. ใช้วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

2. ใช้แยกหน่อข้าง

3. ใช้วิธีปักชำยอด

การชำสามารถนำกิ่งชำในถุงดำขนาด 4x6 นิ้ว ก่อนจนกว่าจะออกราก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-1.5 เดือน อนุบาลต้นกล้าที่ได้ในโรงเรือนพลาสติกพรางแสง จนกว่าต้นที่ได้จะแข็งแรง ส่วนใหญ่ใช้เวลาอีกประมาณ 1-1.5 เดือน แล้วจึงนำต้นที่ได้ออกปลูกในแปลงผลิตภายใต้โรงเรือนพรางแสงต่อไป

โดยทั่วไปสามารถขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการขยายพันธุ์ในฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ

1. ในฤดูฝน ใช้วิธีปักชำภายนอกโรงเรือนหรือในโรงเรือนพลาสติกหรือโรงเรือนพรางแสงก็ได้ ในกรณีการปลูกภายนอกโรงเรือนต้องระวังเรื่องการเน่าตายของต้นกล้าควรราดยาป้องกันโรคเน่าและยาป้องกันเชื้อราควบคู่กัน จะช่วบลดอัตราการตายของต้นได้

2. ในฤดูหนาวใช้วิธีปักชำในโรงเรือนพลาสติก หรือโรงอบพลาสติก เพื่อให้การออกรากของกิ่งชำดีขึ้น

โดยทั้งสองวิธีควรใช้น้ำยาเร่งรากเซราดิกส์ และยาป้องกันเชื้อราทาบริเวณรอยแผล เพื่อช่วยลดอัตราการเน่าตายได้ ขนาดของต้นที่ใช้ในการปักชำ ควรใช้ต้นขนาดเล็กหรือขนาดกลางจะดีกว่าต้นขนาดใหญ่ เพราะจะเน่าตายน้อยกว่าและต้นที่ได้จะมีคุณภาพ มีลักษณะเหมาะกับการปลูกเพื่อตัดใบจำหน่าย

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก

การเตรียมแปลงปลูก

ควรเตรียมแปลงปลูกขนาดกว้าง 1 เมตร ผสมดินด้วยปุ๋ยคอกหมัก แกลบดิน แกลบดำอัตรา 5-10 กิโลกรัม/ 1 ตารางเมตร เพื่อปรับปรุงโครงสร้างดินให้เหมาะสม อาจใส่ปูนขาวหรือโดโลไมต์ เพื่อปรับปรุงความเป็นกรด-ด่าง ในดินให้เหมาะสม

ระยะปลูก

ระยะปลูก ใช้ระยะ 50x50 เซนติเมตร ปลูกตามพื้นที่ที่เตรียมไว้ เมื่อปลูกไปนานหลายปีต้นจะสูงขึ้นควรนำปุ๋ยคอกหมักคลุมที่โคนต้นไว้เพื่อให้ได้รับปุ๋ยและธาตุอาหารทุกๆ 6 เดือน และอาจใช้ปุ๋ยละลายช้าใส่บำรุงต้นควบคู่กันไปทุกๆ 3 เดือน เพื่อให้ต้นแข็งแรงมีใบเขียวเข้มได้คุณภาพ

การปลูก

การปลูกฟิโลเดนดรอน ซันนาดู ปลูกได้หลายวิธี ระดับความเข้มแสงที่เหมาะสมคือ ใช้ซาแรนพรางแสงชนิด 70 เปอร์เซ็นต์ ชั้นเดียว หรือใช้ซาแรนพรางแสงชนิด 50 เปอร์เซ็นต์ สองชั้นซ้อนกันแต่ต้องมีช่องว่างซาแรนทั้งสองชั้น

การดูแลรักษา

การให้ปุ๋ย

ใช้ปุ๋ยสูตร RPF ของมูลนิธิโครงการหลวงเป็นหลักโดยรดปุ๋ยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ตามความเหมาะสมควบคู่กับการใช้ปุ๋ยเกร็ดและปุ๋ยชีวภาพโดยใช้ปุ๋ยเกร็ดสูตร 30-20-10 ในช่วงแรกของการเจริญเติบโตเพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางต้นและใบ และใช้ปุ๋ยเสริมยูนิเลท และปุ๋ยเกร็ดสูตร 10-20-30 พ่นเสริมทางใบช่วยให้ใบเขียวเข้มและมีความมันใบมีคุณภาพดี อาจใช้ปุ๋ยละลายช้าหว่านลงในแปลงเสริม และใช้ปุ๋ยคอกหมักคลุมโคนต้น เพื่อให้ต้นสมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้นทุกๆ 3-6 เดือน/ครั้ง ตามความเหมาะสม

การให้น้ำ

อาจใช้สปริงเกอร์ หรือใช้สายยางรดก็ได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ

โรคและศัตรูพืช

โรคใบขีดสีน้ำตาล

พบเชื้อ  Colletotrichum  sp. และ  Clodosporium  sp. ป้องกันโดยกำจัดใบที่แสดงอาการออกทำลายและใช้สารเคมี แอนทราโคล สลับกับไดเทน เอ็ม 45 ถ้าอาการรุนแรงให้ใช้สกอร์ หรืออัลโต 100

โรคใบขีดสีน้ำตาลแดงขนาดเล็กทั่วใบ

พบเชื้อราชั้นสูงแต่ยังไม่มีสปอร์ ป้องกันโดยกำจัดใบที่แสดงอาการออกทำลาย ป้องกันการระบายโดยใช้สารเคมี แคปแทน หรือไดเทน เอ็ม 45 ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง

อาการใบอ่อนเป็นจุดสีน้ำตาลกระจายทั่วใบ

พบเชื้อราชั้นสูงมีการสร้างสปอร์ใสเซลล์เดียว และเชื้อรา Colletotrichum sp.ป้องกันโดยตัดแต่งใบที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูกไปทำลาย หากพบการแพร่ระบาดออกมาให้ใช้สารเคมี เดอโรชาลบาวิสติน อ๊อกเทฟ ฉีดพ่นสลับกับเบนเลท หรือ แคปแทน สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

หนอนกระทู้

การป้องกันโดย กำจัดหนอนออกทำลายและพ่นสารเคมี ไซเปอร์เมทริน เชื้อ Bacillus thuringensis เซฟวิน คลอไพรีสฟอส แคสเคน ตามอัตราแนะนำ

ตั๊กแตน

มักระบาดในฤดูฝน กำจัดโดยการพ่นสารเคมีพวกไซเปอร์เมทริน เมื่อพบการระบาด

การเก็บเกี่ยว

ระยะเวลาเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวเมื่อใบมีลักษณะสีเขียวเข้ม มีลักษณะแก่ เซลล์ของใบจะมีลักษณะแข็งแรงทนต่อการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง และมีอายุการใช้งานนานโดยใช้มัดเป็นกำ ใน 1 กำ จะมี 10 ใบ ใบพืชไม่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย

เวลาตัดใบ

ควรตัดชิดโคนก้านใบ ความยาวก้าน ยาว 15 เซนติเมตร ความกว้างของใบแบ่งตามชั้นเกรด โดยเกรด 1 ความกว้างของใบมากกว่า 6 เซนติเมตรขึ้นไป และใบเกรด 2 ความกว้างของใบ 4-6 เซนติเมตร จากนั้นพันก้านด้วยสำลี และหุ้มด้วยพลาสติกอีกครั้งหนึ่งแล้วนำไปแช่ในน้ำสะอาดต่อไป การเก็บเกี่ยวควรเป็นช่วงเช้า หรือช่วงเย็นที่อากาศไม่ร้อน แสงแดดมีความเข้มต่ำเพื่อป้องกันใบเหี่ยว และช่วยลดการคายน้ำช่วยให้อายุการปักแจกันการใช้งานนานขึ้น

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

ควรแช่ในน้ำที่สะอาดเพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องแช่ในน้ำยาสารเคมี เพราะพืชชนิดนี้มีลักษณะแข็ง ทนทาน มีอายุการใช้งานที่นาน

การเก็บรักษา

ถ้าเก็บในสภาพห้องเย็นหรือตู้แช่ (8-10 เซนติเมตร) จะช่วยให้ใบสดเขียว มีอายุการเก็บรักษาและใช้งานได้นานขึ้น แต่ถ้าไม่มีห้องเย็นหรือตู้แช่ให้เก็บในที่ร่ม สภาพอุณหภูมิห้องก็ได้เช่นกัน (32-37 องศาเซลเซียส) และอย่าให้แสงแดดส่องเพราะจะทำให้ใบเหลืองเหี่ยว มีอายุการใช้งานสั้น