ฟิโลเดรนดรอน
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกจัดเป็นศูนย์ฯที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำ คือ ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 500 เมตร ในฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงถึง 37 องศาเซลเซียส การผลิตไม้ดอกให้ได้คุณภาพดีจึงผลิตได้เฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น ดังนั้นจึงหาไม้ดอกไม้ประดับอื่นที่สามารถผลิตได้ตลอดทั้งปีเพื่อเป็นพืชส่งเสริม และเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร การผลิตไม้ตัดใบเป็นทางเหลือกหนึ่งที่สามารถผลิตได้ในสภาพพื้นที่และภูมิอากาศของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก ไม้ตัดใบในตระกูลฟิโลเดนดรอน (Philodendron sp.) เป็นไม้ใบในจำนวนหลายๆชนิดที่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตเป็นการค้าเพื่อส่งเสริมให้แก่เกษตรกร ฟิโลเดนดรอนเป็นพืชในเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดแถบเขตร้อนของทวีปอเมริกา และทางตะวันตกของอินเดียส่วนใหญ่เป็นไม้เลื้อยจัดอยู่ในวงศ์ Araceae มีอยู่ด้วยกันประมาณ 200 ชนิดและมีมากกว่า 100 ลูกผสมที่ถูกพัฒนาโดยนักปรับปรุงพันธุ์ และบริษัทเอกชนต่างๆ ดังนั้นจึงเกิดความสับสนในเรื่องของชื่อสามัญอย่างมาก ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมเกษตรกรผลิตไม้ใบในตระกูลฟิโลเดนดรอนอยู่ 2 ชนิด (ลำดับที่ 1 และ 2 ) และอีก 2 ชนิดที่กำลังพยายามนำออกสู่งานส่งเสริม (ลำดับที่ 3 และ 4)
ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์
ฟิโลเดนดรอน โกลดีอี้ Philodendron goeldii
ฟิโลเดนดรอน ใบมะละกอ Philodendron selloum
ฟิโลเดนดรอน ใบเลื่อยเขียว Philodendron sp.
ฟิโลเดนดรอน ไวโอลิน Philodendron bipennifolium
ฟิโลเดนดรอน โกลดีอี้ ฟิโลเดนดรอน ใบมะละกอ และฟิโลเดนดรอน ใบเลื่อยเขียวจัดอยู่ในประเภท self-hesding type ที่มีลำต้นสั้น ข้อสั้น ระยะห่างระหว่างใบน้อย ฟิโลเดนดรอนบางนิดในประเภทนี้ไม่สามารถมองเห็นลำต้นได้จนกว่าใบแก่ด้านล่างจะหลุดร่วงไป ส่วนฟิโลเดนดรอน ไวโอลินจัดอยู่ในประเภท vining types มลำต้นทอดเลื้อยชัดเจน มีความยาวระหว่างข้อ ระยะห่างระหว่างใบมาก บ้างว่าใบมีลักษณะคล้ายไวโอลิน หรือหัวม้าจึงทำให้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Horsehead Philodendron หรือ Fiddleleaf Philodendron ดอกของฟิโลเดนดรอนคล้ายดอกแคลล่า ลิลี่ มีกาบหุ้มที่เรียกว่า spathe ซึ่งมีหลายเฉดสี เช่น สีม่วง สีแดง สีชมพู หรือสีเขียวอมขาว ตรงกลางมีดอกขนาดเล็กตั้งตรงเรียกว่า spadices ซึ่งอาจมีสีเหลือง สีครีม หรือสีขาว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด โดยเกสรเพศเมียอยู่ด้านล่าง เกสรเพศผู้อยู่ด้านบน
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ฟิโลเดนดรอนเป็นพืชที่ชอบสภาพอากาศอบอุ่นตลอดทั้งปี ความชื้นสูง ซึ่งไม่ควรต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิในเวลากลางวันที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตควรอยู่นะหว่าง 24-30 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิในเวลากลางคืนไม่ควรต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ฟิโลเดนดรอนส่วนใหญ่มักปลูกเป็นพืชประดับชอบแสงแดดรำไรหรือร่ม ดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตต้องมีความอุดมสมบูรณ์มีอินทรียวัตถุสูง pH 6.0 โดยประมาณ การให้ปุ๋ยอินทรีย์จึงดีที่สุด ดินต้องมีการระบายน้ำดีไม่แห้งหรือเปียกจนเกินไป ในขณะเดียวกันต้องสามารถเก็บความชื้นได้ดีด้วย ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ปลูกที่มีลม และสภาพดินเค็ม เนื่องจากเป็นพืชที่มีความทนทานต่อดินเค็มต่ำ
การตลาด
การตลาดๆม้ใบในตระกูลฟิโลเดนดรอนของมูลนิธิโครงการหลวงยังไม่ดีเท่าที่ควร อาจเนื่องมาจากขนาดใบที่ใหญ่มีข้อจำกัดในการนำไปใช้ ตลาดมีความต้องการใบเล็กรูปทรงสมบูรณ์ นอกจากนี้อาจเพราะเป็นไม้ที่ผลิตได้ง่าย พบเห็นโดยทั่วไป แต่ในความเป็นจริงการบริโภคไม้ใบในตระกูลฟิโลเดนดรอนนี้ยังมีอยู่มาก และไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากแต่ละต้นให้ผลผลิตน้อย และมีการเจริญเติบโตช้า การผลิตให้ได้ปริมาณมากตอบสนองความต้องการตลาดได้อย่างต่อเนื่อง และคุ้มทุนต้องผลิตเป็นจำนวนมาก
การขยายพันธุ์ สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่
1. การเพาะเมล็ด
เป็นวิธีที่ช้า มักนิยมทำในหมู่นักปรับปรุงพันธุ์ เพื่อผลิตลูกผสมใหม่ๆออกสู่ตลาด การเพาะเมล็ดของพืชในตระกูลฟิโลเดนดรอนต้องอาศัยความชำนาญและความประณีต เนื่องจากเมล็ดมีอายุสั้น จึงต้องรีบเพาะเมื่อเมล็ดสุก หากต้องการเก็บรักษาต้องเก็บในสภาพสุญญากาศ เมล็ดฟิโลเดนดรอนมีขนาดเล็กมาก การเพาะในต่างประเทศจะโรยเมล็ดบนผิวหน้าของวัสดุเพาะ และคลุมเมล็ดด้วย sphagnum moss หรือ sphagnum peat โดยทำเป็นแผ่นบางๆคลุม อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเมล็ดประมาณ 24-27 องศาเซลเซียส ระหว่างเพาะเมล็ดต้องเก็บรักษาความชื้นไว้ให้ดี นอกจากนี้วัสดุเพาะต้องไม่มีความเค็มมิฉะนั้นเมล็ดจะตาย นำเมล็ดมาไว้ในที่ร่มหรือในห้องเพาะซึ่งให้แสงจากหลอดฟลูออเรนซ์ชนิด cool white เนื่องจากสามารถควบคุมความสม่ำเสมอของแสงและอุณหภูมิได้ ระดับความเข้มแสงที่เหมาะสมต่อการงอกคือ 300-600 แรงเทียน และเมื่อต้นกล้าพัฒนาจนมีใบ 2 ใบ จึงเพิ่มความเข้มแสงเป็น 1500-2500 แรงเทียน เพื่อให้มีการเจริญเติบโตสูงสุดและทำให้ได้ต้นที่แน่นกะทัดรัด
2. การตัดชำ
เป็นวิธีง่ายเหมาะกับฟิโลเดนดรอนประเภท vining types ซึ่งจะได้ต้นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเร็ว แต่อาจไม่มีความสม่ำเสมอหากต้องการผลิตเป็นจำนวนมาก การตัดชำสามารถชำได้ทั้งส่วนยอดหรือส่วนลำต้น โดยท่อนชำควรมีอย่างน้อย 2 ท่อน และมีใบติดมาด้วย การตัดควรตัดใต้ข้อตัดรากเก่าและแห้งทิ้ง เพื่อป้องกันการเน่าและการระบาดของโรคอันเนื่องมาจากเชื้อไวรัส ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ในการตัดชำทุกครั้งที่ต้องตัดชำต้นต่อไป โดยการเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์หรือไฮเตอร์แล้วปล่อยหรือเช็ดให้แห้ง ป้ายรอยแผลด้วยปูนแดง หรือสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา (แคปแทนผสมเบโนมิล) ผึ่งให้แห้ง ชำในวัสดุปลูก ได้แก่ ขุยมะพร้าวถ่านแกลบ:กาบมะพร้าวสับ:ทราย:ปุ๋ยหมัก ในอัตราส่วน 1:1:2:1/2:1/2 ทั้งนี้ขุยมะพร้าวและกาบมะพร้าวสับต้องแช่น้ำอย่างน้อย 1 คืน เพื่อล้างความเค็มที่อาจติดมา อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการออกรากนั้นวัสดุชำควรมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 21-24 องศาเซลเซียส และตั้งไว้ในที่ร่มระวังอย่าให้ถูกแสงโดยตรงหลังจากนั้น 4-8 สัปดาห์ ท่อนชำจึงออกราก
3. การแยกหน่อใหม่ออกปลูก
หรือที่เรียกว่า offsete ซึ่งเป็นต้นใหม่ที่มักโผล่จากโคนต้นหรือจากรากหน่อใหม่นี้หากมีระบบรากแล้วสามารถแยกออกปลูกได้เลย แต่ถ้ายังไม่มีรากต้องตัดแยกด้วยมีดสะอาดแล้วนำไปชำให้เกิดรากเสียก่อน
4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อใช้ในการขยายพันธุ์ฟิโลเดนดรอนประเภท self-heading types เนื่องจากมีข้อปล้องสั้น ต้นและใบมีขนาดใหญ่ เป็นวิธีที่ได้ต้นพันธุ์ดีมีความสม่ำเสมอ สะอาดปราศจากโรค แต่มีต้นทุนสูง และต้องใช้เวลาในการเลี้ยงนานกว่าจะได้ผลผลิต
การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก
การเตรียมแปลง
การเตรียมแปลงขึ้นอยู่กับลักษณะของผลผลิตที่ต้องการ หากไม่ต้องการจำกัดขนาดใบนำต้นหรือท่อนชำที่ได้ปลูกลงแปลง การเตรียมแปลงสำหรับปลูกฟิโลเดนดรอน โกลดีอี้ ฟิโลเดนดรอน ใบมะละกอ และฟิโลเดนดรอน ใบเลื่อยเขียว ให้ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร ความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับพื้นที่ แต่ละแปลงปลูก 2 แถว ระยะระหว่างแถวระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ปลูกสลับฟันปลา สำหรับฟิโลเดนดรอน ไวโอลิน ขึ้นแปลงกว้าง 50 เซนติเมตร ปักหลักค้ำยันที่ทำจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น หุ้ทด้วยกาบหรือใยมะพร้าว ปักหลักกลางแปลง แต่ละหลักห่างกัน 30 เซนติเมตร ปลูกฟิโลเดนดรอน ไวโอลินหลักละ 2 ต้น ระยะแรกต้องมัดต้นให้ติดกับหลักเพื่อช่วยพยุงลำต้นให้ตั้งตัวเกาะวัสดุค้ำยันได้ง่ายและเร็วขึ้น
หากต้องการจำกัดขนาดใบ ให้ปลูกฟิโลเดนดรอนลงกระถางขนาด 8 นิ้ว ที่มีวัสดุปลูก ขุยมะพร้าว:ถ่านแกลบ:กาบมะพร้าวสับ:ทราย:ปุ๋ยหมัก ในอัตราส่วน 1:1:2:1/2:1/2 วางแถวคู่ บนพื้นที่ปูด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันรากลงดินแต่ละแถวห่างกัน 50 เซนติเมตร และเว้นให้มีทางเดินทุก 2 แถว สำหรับการปลูกฟิโลเดนดรอน ไวโอลิน ให้ปักวัสดุค้ำยันกลางแถว แต่ละหลักห่างกัน 30 เซนติเมตร และวางกระถางชิดวัสดุค้ำยันทั้ง 2 ข้าง มัดต้นให้ติดกับหลัก
การเตรียมดิน
การปลูกลงดินควรปรับปรุงดินให้ร่วนซุย มีการระบายน้ำดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดินในบริเวณแปลงปลูก และควรตรวจสอบความเค็มของดินก่อนปลูก
เทคนิควิธีการปลูก
การปลูกฟิโลเดนดรอน โกลดีอี้ ฟิโลเดนดรอน ใบมะละกอ และฟิโลเดนดรอน ใบเลื่อยเขียว ระวังอย่าให้ดินกลบยอด หากปลูกในกระถางควรปูพื้นด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันไม่ให้รากเจริญลงดิน ซึ่งจะไม่สามารถควบคุมขนาดใบได้
การดูแลรักษา
การจัดการด้านความเข้มแสง
ฟิโลเดนดรอนเป็นพืชที่ชอบร่มหรือร่มรำไร ควรหลีกเลี่ยงการได้รับแสงโดยตรง โดยพรางแสงด้วยตาข่ายพรางแสง 60-70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแสงในแต่ละช่วงฤดู โดยปกติพืชต้องได้รับแสง 16 ชั่วโมงต่อวัน ฟิโลเดนดรอนบางชนิดต้องการความเข้มแสง 25-50 แรงเทียบ ตลอดทั้งปี
การจัดการด้านอุณหภูมิ
อุณหภูมิที่เหมาะสมในเวลากลางวันควรอยู่ระหว่าง 24-30 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิในเวลากลางคืนไม่ควรต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงสามารถลดอุณหภูมิด้วยการสเปรย์น้ำบนพื้นและต้นพืช ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชื้นได้อีกทางหนึ่ง
ปุ๋ย
มีการแนะนำให้ใช้ปุ๋ยน้ำที่มีสัดส่วนธาตุอาหารหลัก 3-1-2 หรือ 2-1-2 ส่วนธาตุอาหารรองควรให้เมื่อพืชอยู่ในช่วงของการพัฒนาโดยให้ร่วมกับปุ๋ยน้ำของธาตุอาหารหลัก โดยอัตราการให้ไนโตรเจนควรอยู่ที่ 2.9-3.4 ปอนด์ต่อตารางฟุตทุกเดือน
การให้น้ำ
ควรให้อย่างสม่ำเสมอ อย่าให้เปียกหรือแห้งจนเกินไปพอให้มีความชุ่มชื้น อาจให้น้ำด้วยสายยางหรือระบบน้ำต่างๆ ทั้งสปริงเกอร์ หรือระบบน้ำหยด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ ต้นทุนและแรงงานที่มี น้ำที่ให้ควรสะอาดเพื่อไม่ให้หลงเหลือคราบสกปรกบนใบได้
โรคและศัตรูพืช
ฟิโลเดนดรอนเป็นพืชที่ทนต่อโรค ไม่ค่อยพบปัญหาและการระบาดของโรค แต่มักพบปัญหาและความเสียหายเนื่องจากแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะหอยทาก กำจัดโดยใช้ แองโกล สลัก วางเหยื่อล่อ นอกจากนี้อาจพบความเสียหายเนื่องจากเพลี้ยไฟบ้างในฤดูร้อน ฉีดพ่นด้วยเซฟวิน 85 โตกุไธออน คอนฟิดอร์ หรือเอสเซนด์ เป็นต้น หรือฉีดพ่นน้ำเป็นละอองฝอยบ่อยครั้ง โรคที่อาจพบ ได้แก่ อาการใบเน่าโคนเน่าจากเชื้อรา สามารถกำจัดได้โดยตัดใบที่เป็นโรคทิ้งทันที หากระบาดมาก อาจฉีดพ่นด้วยแคปแทนผสมเบโนมิล โรคใบจุด ฉีดพ่นด้วยคาร์เบนดาซิม แมนโคแซบ เป็นต้น
การเก็บเกี่ยว
ระยะการเก็บเกี่ยว
ระยะที่เหมาะสม คือ ระยะที่ใบกางเต็มที่มีสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบไม่อ่อนนิ่มหรือแก่จนมีสีเหลืองปรากฏ ไม่มีรอยตำหนิอันเนื่องมาจากโรคหรือแมลง ควรตัดใบที่ 2 นับจากยอดลงมา
วิธีการเก็บเกี่ยว
ใช้กรรไกรหรือมีดสะอาดตัดให้ชิดลำต้น และเพื่อหลีกเลี่ยงโรคระบาดจากเชื้อไวรัสก่อนตัดต่อไปให้ทำความสะอาดอุปกรณ์ด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือไฮเตอร์แล้วปล่อยให้แห้ง
สภาพแวดล้อมขณะเก็บเกี่ยว
ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเช้า หากมีความจำเป็นต้องเก็บในช่วงเย็น ควรทิ้งระยะให้ห่างจากช่วงบ่าย เพื่อให้ความร้อนที่สะสมบนใบลดลง ใบจะได้ไม่อ่อนตัวหรือเหี่ยวเร็ว มีอายุการใช้งานนาน
การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
การแช่น้ำยา
ใบฟิโลเดนดรอนมีอายุการใช้งานนาน ไม่จำเป็นต้องแช่ในน้ำยายืดอายุการปักแจกัน หากแต่เมื่อตัดจากต้นแล้ว ควรรีบแช่ก้านใบในน้ำทันทีและระหว่างการขนส่งควรใช้สำลีชุบน้ำหุ้มปลายก้านใบ
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษา
สามารถเก็บรักษาไว้ในสภาพอุณหภูมิปกติได้ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ในห้องเย็น เพียงแต่ระหว่างการเก็บรักษาต้องแช่ก้านใบไว้ในน้ำเสมอ และอย่าให้ใบถูกแสงแดดโดยตรง
ข้อแนะนำอื่นๆ
ฟิโลเดนดรอน ไวโอลิน มีลักษณะการเจริญเติบโตเป็นไม้เลื้อย ต้องมีหลักยึดให้เกาะเลื้อย ซึ่งการจำกัดความสูงของต้นสามารถทำได้โดยตัดแต่งทรงต้น ให้แตกตาใหม่เลื้อยขึ้นมาแทน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนภายหลังจากตัดแต่งจึงสามารถตัดใบจำหน่าย การปลูกในกระถางเมื่อรากเจริญเติบโตจนแน่นกระถางมาก จำเป็นต้องเปลี่ยนต้นพันธุ์ใหม่เพื่อให้ต้นมีการเจริญเติบโตที่ดีและได้ใบที่มีคุณภาพ