องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เยอบีร่า

ชื่อสามัญ Gerbera, Barberton daisy

ชื่อวิทยาศาสตร์   Gerbera jamesonii hybrida

เยอบีร่า อยู่ในวงศ์ Compositae เป็นชื่อที่เรียกทับศัพท์ชื่อสามัญของภาษาอังกฤษซึ่งชาวสวนรู้จักกันในชื่อ “ เยีย ” ชนิดที่มีการปลูกมาก ได้แก่ Gerbera jamesonii Daisyเป็นชื่อที่ได้มาจากแคว้นทรานสเวลในอัฟริกาใต้ ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง Gerbera jamesonii และ G. viridifloriaต้นเยอบีร่าที่ปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความสามารถสูงในการดูดสารพิษจากอากาศภายในอาคาร มีอัตราการคายน้ำสูงประกอบกับมีความสวยงาม จึงเป็นไม้ประดับชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าเหมาะแก่การปลูกไว้ประดับในอาคารสำนักงานและบ้านเรือน เยอบีร่าเป็นไม้ตัดดอกที่มีสีสวยสดใสมีรูปทรงที่สวยงามและหลากหลาย มีอายุการปักแจกันนานหลายวัน ผู้บริโภคนิยมนำมาประดับบ้านเรือน จัดงานพิธีต่างๆ และจัดทำช่อดอกไม้ของขวัญในโอกาสต่างๆ อย่างกว้างขวาง เยอบีร่าจึงได้รับความนิยมสูงมากในตลาดโลกและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกเยอบีร่าประมาณ 3,000 ไร่ มีแหล่งผลิตที่สำคัญ เช่น ภาคเหนือ : จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เชียงใหม่ และเชียงราย ภาคกลาง : จังหวัดนนทบุรีและสมุทรสาคร ภาคใต้ : จังหวัดนครศรีธรรมราช และภูเก็ต และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดขอนแก่นและอุบลราชธานี แต่ก็ยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดจึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศประมาณปีละ 25 ล้านบาท และมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2537.)

เยอบีร่าเป็นไม้ตัดดอกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ติดอันดับ 1 ใน 3 ของไม้ดอกที่ทำรายได้ให้กับมูลนิธิโครงการหลวงทุกปี ปีละประมาณ 350,000 ดอก มูลค่าประมาณ 700,000 บาท ราคาคืนเกษตรกรโดยเฉลี่ยดอกละ 2 บาท พื้นที่ปลูก คือ หมู่บ้านม้งขุนกลาง หมู่บ้านกะเหรี่ยงผาหมอน และผาหมอนใหม่ ภายใต้การควบคุมดูแลของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง     อินทนนท์

ปัจจุบันยังประสบปัญหาการผลิตเป็นการค้า ซึ่งไม่สามารถผลิตดอกที่มีคุณภาพและปริมาณที่สม่ำเสมอได้อย่างต่อเนื่อง เพราะประสบปัญหาการปลูกซ้ำที่เดิมนานหลายปี ทำให้เกิดการสะสมของโรคในดิน เช่น โรครากเน่า โรคเหี่ยว ที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium sp., Rhizoctonia sp., Sclerotium sp. และโรครากปมที่เกิดจากไส้เดือนฝอย Meloidogyne incognita ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ

ฝ่ายงานไม้ดอกมูลนิธิโครงการหลวงได้ตระหนักถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นในการจัดซื้อสารเคมีเป็นมูลค่าสูง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้น้อยลง จึงคิดที่จะพัฒนาวิธีการผลิตที่หลีกเลี่ยงการปลูกเยอบีร่าบนดิน โดยการปลูกในภาชนะปลูกเป็นถุงพลาสติกสีขาวขุ่น และในกระถางพลาสติกสีดำวางบนชั้นวางโครงเหล็ก ให้น้ำและปุ๋ยโดยระบบน้ำหยด และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับการผลิตเยอบีร่า ทั้งนี้จะพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เพื่อประหยัดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุด

ลักษณะทั่วไป

ลักษณะทั่วๆ ไปของเยอบีร่า คือมีลำต้นแบบไรโซม (rhizome) เจริญไปในแนวราบภายใต้ผิวดินเล็กน้อย ใบเกิดจากตาที่ลำต้นโดยแตกเป็นพุ่มในลักษณะ basal คือ ก้านใบจะติดอยู่กับไรโซม ใบมีสีเขียวเข้ม ขอบใบหยักเว้าไม่เท่ากัน ไม่มีหูใบ แผ่นใยไม่กางเต็มที่ ขอบใบทั้งสองข้างมักจะโค้งเข้าหาเส้นกลางใบด้านท้องใบเล็กน้อย ใต้ใบ และก้านใบมีขนบางๆ ละเอียดอยู่ทั่วไป ช่อดอกแตกจากตาที่ส่วนของลำต้น ก้านดอกกลมยาว ชูขึ้นมาเหนือพุ่ม ช่อดอกเป็นแบบ head ประกอบด้วยดอกย่อยเล็กๆ (floret) จำนวนมากอัดกันแน่นอยู่บนฐานรองดอก ดอกย่อยนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ดอกย่อยชั้นนอก (ray floret) และดอกย่อยชั้นใน (dise floret) โดยดอกย่อยชั้นนอกเป็นดอกที่มีเกสรเพศเมีย (pistillate flower) เรียงอยู่รอบนอก ดอกย่อยชั้นในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ (perfect flower) เรียงอยู่ชั้นในมีขนาดเล็ก และสั้นจำนวนมาก เรียงกันแน่นอยู่บริเวณใจกลางของช่อดอก

  

สายพันธุ์เยอบีร่า (Variety)

สายพันธุ์ไทย (Thai Strain)

มีลักษณะของกลีบดอกลดหลั่นกันลงมา กลีบดอกแคบยาวมีสีสันไม่ค่อยสดใส บางพันธุ์อาจมีกลีบดอกย่อยๆ ดูแล้วรุงรัง ซึ่งเรียกลักษณะนี้ว่า “ หน้ายุ่ง ” ก้านดอกไม่ใหญ่ และยาวมาก ใบมีขนาดเล็กกว่าพันธุ์ยุโรป ปรับตัวเข้ากับสภาพพื้นที่ภาคกลางได้ดีเนื่องจากมีการผสมและคัดเลือกพันธุ์โดยชาวสวน เป็นการพัฒนาพันธุ์จากพันธุ์ดั้งเดิมที่นำเข้ามาปลูกเช่น พันธุ์สีขาว ได้แก่ ขาวจักรยาว ขาวจักรสั้น ขาวครีม พันธุ์สีเหลือง ได้แก่ สีดา เหลืองถ่อเหลืองพังสี เหลืองใหญ่ พันธุ์สีชมพู ได้แก่ บัวหลวง มณฑา ลูกรัก เณรแก้ว ชมพู-กระ ดอกกระดาษ พันธุ์สีส้ม ได้แก่ สุรเสน จำปา กุมารทอง นรราช สีอิฐ สร้อยฟ้า พันธุ์สีแดง ได้แก่ สีอิฐต้นแม่ แดงใหญ่ แดงรักแทง และแดงตาเปิ่น

พันธุ์ยุโรป (European Strain)

มีดอกชั้นเดียวหรือกึ่งซ้อน กลีบดอกกว้างใหญ่กว่าพันธุ์ไทย 2-3 เท่า กลีบดอกหนา ใจกลางดอกใหญ่ เป็นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม เรียกว่า ไส้ดำ Black center หรือ Dark center หรือ Black Heart ก้านดอกแข็งแรง ใบมีขนาดใหญ่ เช่น พันธุ์สีแดง ได้แก่ Ruby Red พันธุ์สีขาว ได้แก่ Dallma พันธุ์สีชมพู ได้แก่ Pink sparklet พันธุ์สีเหลือง ได้แก่ Sun Glow พันธุ์สีส้ม ได้แก่ Monarch

สายพันธุ์อเมริกาและออสเตรเลีย (American and Australia Strain)

ลักษณะดอกแคบยาว ใจกลางดอกมีขนาดเล็ก ก้านดอกเล็กยาว คุณภาพและอายุการปักแจกันน้อยกว่าสายพันธุ์ยุโรป

สายพันธุ์นิวซีแลนด์ (New Zealand Strain)

ลักษณะของกลีบดอกซ้อน แต่แตกต่างกับสายพันธุ์ไทย กลีบดอกชั้นนอกจะยาว ส่วนกลีบดอกชั้นในจะสั้นกว่า และกลีบดอกลดหลั่นกันหลายชั้น

สายพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์ดอกซ้อนและพันธุ์ยุโรป (Hybrid)

ลักษณะรูปทรงของดอกจะคล้ายกับสายพันธุ์ยุโรป กลีบดอกกว้าง แต่จะซ้อนคล้ายสายพันธุ์นิวซีแลนด์ซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างพวกที่มีดอกซ้อน เช่น สายพันธุ์ไทย หรือนิวซีแลนด์กับสายพันธุ์ยุโรป มีการเลือกลักษณะพันธุ์ตามที่ต้องการและอาจผสมกลับ (back cross) ไปหาพันธุ์ยุโรปอีก ได้แก่ Marleen, Sun Ellen, Horizon เป็นต้น

สายพันธุ์ไม้กระถาง (Pot Plant)

เริ่มมีการพัฒนาขึ้นในประเทศญี่ปุ่น (เกิดจากการผสมพันธุ์และเพาะเมล็ด) และแพร่หลายออกไปสู่ยุโรปและอเมริกา มีลักษณะ คือ ใบค่อนข้างเล็ก ก้านดอกสั้นออกดอกพร้อมกันมากกว่า 2 ดอก พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าพันธุ์แรก คือ พันธุ์ Happipot และปัจจุบัน เช่น พันธุ์ดอกใหญ่สีขาว Maxi White ดอกขนาดกลางสีขาว Midi White และดอกขนาดเล็กสีขาว Mini White

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (Environment)

ดิน (Soil)

เยอบีร่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีการถ่ายเทของอากาศและการระบายน้ำดี ความชื้นในดินสม่ำเสมอ มีอินทรียวัตถุสูง มีค่า pH 5.5-6.5 มีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 ควรใส่ปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ ถ้าค่า pH สูงกว่า 7 เยอบีร่าจะแสดงอาการขาดธาตุอาหาร แก้ไขโดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์

อุณหภูมิ (Temperature)

ที่เหมาะสมในเวลากลางคืนอยู่ระหว่าง 15-17 องศาเซลเซียส และกลางวันอยู่ระหว่าง 21-25 องศาเซลเซียส

แสง (Light)

ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตควรมีความเข้มประมาณ 4,000 ลักซ์ หากความเข้มแสงมาก ควรใช้ซาแลนพรางแสงร้อยละ 50 (ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน)

ความชื้น (Moisture)

ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสม คือ 80 เปอร์เซ็นต์ และควรปลูกภายใต้โรงเรือนหลังคาพลาสติก เพื่อให้ได้ดอกที่มีคุณภาพ

การขยายพันธุ์

การเพาะเมล็ด (Seeds)

เมล็ดเยอบีร่ามีลักษณะคล้ายกระสวย หรือเมล็ดข้าวเปลือกที่หัวท้ายแหลม เมล็ดสามารถเพาะได้ทันทีหลังจากเก็บจากต้นแม่ หากทิ้งไว้นานเมล็ดจะเสียความชื้นทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกน้อยลง โดยใช้วัสดุเพาะ เช่น ขุยมะพร้าว ผสมกับ ทราย หรือขี้เถ้าแกลบ ผสมกับทราย อัตราส่วน 1 : 1 ประมาณ 5 – 7 วัน เมล็ดจะงอก เมื่อต้นกล้างอกมีใบจริง 2-3 ใบ (30 วัน) จึงย้ายลงถุงขนาด 3?3 นิ้ว ใช้วัสดุปลูก ขุยมะพร้าว : ขี้เถ้าแกลบ : ทราย : พีท อัตราส่วน 1 : 1 : 1 : 1 นำไปปลูกเลี้ยงในโรงเรือนอนุบาล เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้จึงให้ปุ๋ยน้ำและปุ๋ยทางใบ และเมื่อต้นกล้าอายุ 2 เดือน จึงนำไปปลูกได้

การแยกหน่อ (Cutting)

เมื่อปลูกต้นกล้าเยอบีร่าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ อายุครบ 2 ปี (1 รุ่น, 1 crop) กอจะแน่นขึ้นทำให้ผลผลิตเริ่มลดลงจึงต้องขุดแยกหน่อขยายพันธุ์ โดยขุดทั้งกอแล้วล้างให้สะอาดแล้วค่อยแยกหน่ออกจากกอให้เป็นตนมียอดอยู่อย่างน้อย 1 ยอด มีใบ 4-5 ใบ และมีรากติดอยู่ 2-3 ราก ตัดรากให้เหลือประมาณ 2-3 นิ้ว และตัดใบออกประมาณครึ่งหนึ่งเพื่อลดการคายน้ำ นำหน่อไปชำในถุงใช้วัสดุชำประกอบด้วยขุยมะพร้าว : แกลบ : ทราย อัตราส่วน 60 : 30 : 10 ระวังอย่าให้วัสดุชำกลบยอด เพราะจะทำให้ยอดเน่าได้ง่าย ปลูกเลี้ยงในโรงเรือนอนุบาล เมื่อต้นกล้าอายุ 2 เดือน จึงย้ายปลูก

การชำยอด (Micro Cutting)

การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการชำยอดอ่อนจะได้จำนวนต้นมากกว่าการแยกหน่อ แต่วิธีการค่อนข้างยุ่งยากกว่า และอาศัยความชำนาญในการทำ ไม่เช่นนั้นต้นอ่อนจะตายหมด วิธีการ คือ นำกอเยอบีร่าที่มีอายุประมาณ 1 ปีขึ้นไป ล้างให้สะอาด ตัดใบออกให้เหลือก้านใบประมาณ 5 เซนติเมตร ตัดรากออกเล็กน้อย ตัดยอดออกเพื่อให้ตาข้างแตก นำไปปลูกในกระถางหรือกระบะใช้ BA ความเข้มข้น 1,000 ppm หยด 2-3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ เพื่อให้บริเวณโคนลำต้นแตกต้นใหม่ออกมา ตัดเอาส่วนยอดจุ่มฮอร์โมนเร่งราก ใช้ NNA หรือ IBA ความเข้มข้น 2,000 ppm แล้วนำไปชำจนออกรากก่อนนำไปปลูกเลี้ยงในถุง และในโรงเรือนต่อไป

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture)

Mutative และคณะ (1974) ได้แบ่งการเพาเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็น 2 ขั้นตอน คือ การเพิ่มจำนวนยอด โดยนำส่วนของปลายยอดต้นเยอบีร่ามาฟอกฆ่าเชื้อ แล้วเลี้ยงอาหารสังเคราะห์ในสภาพปลอดเชื้อเพื่อเพิ่มปริมาณของยอด เรียกว่าทำให้เกิด Multiple short ในอาหาร Multiplication media แล้วแบ่งยอดเลี้ยงในอาหารสูตรเดิมเพื่อเพิ่มจำนวนยอดให้ได้ตามปริมาณที่ต้องการ จึงชักนำให้เกิดรากในอาหารสังเคราะห์ที่เรียกว่า Rooting media ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 6-8 เดือน ในการผลิตต้นกล้า ซึ่งจะได้ต้นกล้าที่มีความสม่ำเสมอแข็งแรงและปราศจากโรค ได้ต้นกล้าปริมาณครั้งละมากในเวลาอันสั้น แต่มีต้นทุนในการผลิตสูง

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก 

โรงเรือน

ปัจจัยสำคัญในการป้องกันความเสียหายจากน้ำฝน อันก่อให้เกิดการระบาดของโรค แมลง และการตกกระแทกดินทำให้ดินกลบยอดจะเป็นโอกาสของการเกิดโรคจากเชื้อราต่างๆ เช่น โรคใบจุด (Leaf Spot) โรคราแป้ง (Powdery Mildew) โรครากเน่า (Sclerotium root rot) ที่ปลูกในโรงเรือนจะน้อยกว่าปลูกนอกโรงเรือน โรงเรือนที่ดีควรมีมาตรฐานแข็งแรงและสูงเพื่อช่วยระบายความร้อนและถ่ายเทอากาศ หลังคาพลาสติกใสรับแสงและป้องกันน้ำฝน หากเป็นโรงเรือนปิดด้วยตาข่ายไนล่อนให้มิดชิดจะช่วยป้องกันแมลง หรือผีเสื้อกลางคืนได้ดี ส่งผลต่อการลดการใช้สารเคมีได้มาก เช่น โรงเรือนโครงเหล็กมาตรฐานของมูลนิธิโครงการหลวง มุงหลังคาพลาสติกใส ขนาดโรงเรือน 6?24 เมตร ล้อมด้วยตาข่ายไนล่อน หรือโรงเรือนกลุ่มขนาด 30?24 เมตร (5 หลัง)

แปลงปลูก

ก่อนการปลูกเยอบีร่าควรนำตัวอย่างดินไปตรวจหาปริมาณธาตุอาหารและเชื้อรา สาเหตุการเกิดโรคกับกรมวิชาการเกษตรเสียก่อน เพื่อที่จะได้วางแผนการผลิตได้อย่างถูกต้อง เริ่มตั้งแต่การปรับโครงสร้างของดินการปรับเพิ่มหรือลดธาตุอาหาร หรือ pH ของดิน

การปลูก

ขึ้นแปลงปลูกกว้าง 1 เมตร สูงประมาณ 20 เซนติเมตร ปลูกแปลงละ 2 แถวสลับฟันปลาระยะห่างระหว่างต้น 30-35 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-40 เซนติเมตร การปลูกต้องให้ผิวหน้าดินอยู่ในระดับดินเดิมของต้นที่อยู่ในถุง เพื่อไม่ให้ดินกลบยอดต้นกล้าซึ่งจะทำให้ยอดเน่า

การดูแลรักษา 

การให้น้ำ

เยอบีร่าเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่ไม่ชอบน้ำขัง และต้องการปุ๋ยมาก การให้น้ำจึงต้องทำอย่างสม่ำเสมอโดยให้น้ำก่อนที่ดินจะแห้ง ถ้าปล่อยให้ดินแห้งจะทำให้อุณหภูมิรอบๆ ต้น และในโรงเรือนสูง ต้นเยอบีร่าจะขาดน้ำซึ่งเป็นผลทำให้ใบเหี่ยว ดอกเหี่ยว และคอพับลง ก้านดอกจะไม่ตรง ดอกมีขนาดเล็ก และมีอายุการปักแจกันลดลง การให้น้ำไม่สม่ำเสมออาจทำให้ก้านดอกเปราะหักง่าย หรือมีรอยแตกตามขวาง ความถี่ของการให้น้ำจึงขึ้นอยู่กับชนิดของดิน ถ้าเป็นดินเหนียวควรให้น้ำน้อยกว่าดินร่วนหรือดินทราย ระวังอย่าให้น้ำขัง เพราะจะทำให้รากเน่าและต้น เยอบีร่าตาย วิธีการให้น้ำเยอบีร่าสามารถทำได้ 3 วิธี ดังนี้

แบบสปริงเกอร์

การให้น้ำแบบนี้เหมาะสำหรับต้นเยอบีร่าแรกปลูกจนถึงก่อนการเก็บผลผลิต เพราะช่วงแรกเยอบีร่าต้องการน้ำมาก และให้น้ำแบบนี้อีกครั้งหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนมากจะปฏิบัติในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยปรับอุณหภูมิและความชื้นได้ดี แต่การให้น้ำแบบสปริงเกอร์มีข้อเสีย คือ สิ้นเปลืองน้ำมาก ทำให้ดอกเปียกน้ำ อาจเกิดจากเชื้อราที่ดอกทำให้ดอกเสียหาย

แบบใช้สายยางรด

เป็นวิธีที่ใช้ฝักบัวสวมเข้ากับสายยางรดทั้งแปลง เหมาะสำหรับการปลูกเยอบีร่าทั่วไป เพราะสามารถให้น้ำทั่วทั้งแปลง สิ้นเปลืองน้ำน้อย แต่มีข้อเสีย คือ ทำให้โครงสร้างของดินอัดแน่นจึงต้องพรวนดินบ่อยครั้ง อาจได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ และสิ้นเปลืองแรงงาน

แบบระบบน้ำหยด

เป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการปลูกเยอบีร่าเพื่อการค้า เพราะไม่ทำให้ใบและดอกเปียกน้ำ ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งสามารถให้ปุ๋ยพร้อมกับการให้น้ำ ข้อเสีย คือ ต้องลงทุนสูง ไม่เหมาะสำหรับการให้น้ำในพื้นที่ที่มีหินปูนมาก เพราะจะทำให้หัวน้ำหยดอุดตันได้เร็ว และไม่สามารถควบคุมความชื้นและอุณหภูมิในโรงเรือนได้ดี

การให้ปุ๋ย (Fertilizer)

เยอบีร่าเป็นไม้ดอกที่เจริญเติบโตเร็วและแตกหน่อเพิ่มจำนวนกอขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องให้ปุ๋ยเพียงพอต่อความต้องการตามระยะการเจริญเติบโตและระยะให้ผลผลิต ถ้าขาดธาตุอาหารจะแสดงอาการให้เห็นได้เร็วและชัดเจนที่ดอก ก้านใบ และใบ จึงจำเป็นต้องให้ปุ๋ยทั้งทางราก และเสริมทางใบคู่กันไปด้วย การให้ปุ๋ยเยอบีร่าแต่ละช่วงจะไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน ตลอดจนวิธีการให้ปุ๋ยก็มีหลายวิธี เช่น ใช้ปุ๋ยเม็ดฝังกลบรอบโคนต้น ละลายน้ำรด การให้ปุ๋ยแบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้

ช่วงก่อนออกดอก เมื่อเริ่มปลูก 1 เดือนแรก ให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เช่น ยูเรีย (46-0-0) สลับกับแคลเซียมไนเตรท (15-0-0) อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ใช้น้ำปุ๋ยรด ? ลิตร/ต้น ทุก 7 วัน เสริมปุ๋ยทางใบสูตร 30-20-10 อัตรา 50-100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เพื่อให้เจริญทางต้นและใบ เดือนที่ 2 ผสมปุ๋ยสูตร 15-0-0 กับ 15-15-15 อัตรา 10 + 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร (1 : 100) ใช้น้ำปุ๋ยรด 1 ลิตร/ต้นทุก 7 วัน ให้ปุ๋ยทางใบสูตร 21-21-21 อัตรา 50 -100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ทางใบทุก 7 วัน และสามารถฉีดพ่นพร้อมสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงไปด้วย ถ้าหากใช้วิธีฝังกลบรอบโคนต้นใช้อัตรา 20 กรัม/ต้น ทุก 15 วัน

ช่วงออกดอก สามารถใช้ปุ๋ยได้หลายสูตร เช่น 15-0-0, 15-15-15, 12-24-12, 8-24-24 และ 0-46-0 การให้ปุ๋ยแต่ละสูตรขึ้นอยู่กับระยะการเจริญเติบโต ระยะให้ผลผลิตหรือตามสภาพของเยอบีร่า โดยใช้ปุ๋ยสูตรใดสูตรหนึ่งดังกล่าว อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร รดทุก 7 วัน ส่วนปุ๋ยทริบเปิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) ใช้วิธีฝังรอบโคนต้นต้นละ 20 กรัม เดือนละ 1 ครั้ง และให้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 21-21-21 อัตรา 50 – 100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นพร้อมกับการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดโรคและแมลง ทุก 7 วัน ก็ได้

วิธีการให้ปุ๋ยแบบละลายน้ำรด

1. เครื่องผสมปุ๋ยแบบ Dosatron ใช้ปุ๋ยน้ำสูตรของ RPF-CMU ซึ่งคำนวณปุ๋ยโดยวิธี Nutritional Balance สามารถปรับความเข้มข้นของปุ๋ยได้

2. เครื่องผสมปุ๋ยแบบ Siphon ใช้ได้ทั้งปุ๋ยน้ำสูตรของ RPF-CMU และปุ๋ยสูตรทั่วไป โดยใช้ปุ๋ยต่อน้ำอัตรา 1 ต่อ 10 ส่วน

การแต่งทรงพุ่ม (Pruning)

เยอบีร่า เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตแตกหน่อเป็นกอใหญ่ ใบจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้นอัดกันแน่น ใบด้านบนจะบังใบด้านล่าง ทำให้ใบด้านล่างไม่สามารถสังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้ การระบายอากาศภายในกอไม่ดีทำให้เกิดโรคได้ง่าย เป็นที่อาศัยของแมลงศัตรูพืช และเมื่อแสงแดดส่องเข้าไม่ถึงลำต้น ทำให้เยอบีร่าไม่ค่อยแตกตาดอก ปริมาณดอกจึงน้อยลง ดังนั้นจำเป็นต้องแต่งใบออกบ้างเมื่อพุ่มโตเต็มที่ โดยเก็บใบแก่ ใบเป็นโรค และใบที่อยู่กลางกอออกให้เหลือใบไว้กอละ 20-25 ใบ การเก็บใบต้องเก็บให้ก้านใบหลุดจากต้น อย่าใช้กรรไกรตัดเพราะก้านใบที่เหลือติดกับต้นอาจเกิดเชื้อราแล้วลุกลามเข้าทำลายต้นได้ การเก็บใบอย่าให้มากเกินไป เพราะถ้าใบเหลือน้อยจะทำให้การสร้างอาหารไม่เพียงพอที่จะไปสร้างดอก การควบคุมจำนวนใบและขนาดทรงพุ่มจะช่วยให้เยอบีร่ามีผลผลิตสม่ำเสมอ มีอายุการเก็บเกี่ยวยาวนาน และยังช่วยให้ดอกโผล่พ้นต้นโดยไม่งอหรือหัก ทำให้ดอกมีคุณภาพ

เทคนิคการผลิตเยอบีร่า (Substrate)

การปลูกเยอบีร่าโดยไม่ใช้ดิน (Solidest) เป็นการปลูกในวัสดุปลูกที่เยอบีร่าสามารถเจริญเติบโตได้ดี วัสดุหาได้ง่ายในพื้นที่ ราคาถูก อาจเป็นส่วนของพืชที่ย่อยละเอียดแล้ว เช่น ขุย-มะพร้าว กาบมะพร้าวสับ ขี้เลื่อยไม้มะพร้าว แกลบ และขี้เถ้าแกลบ วัสดุเหล่านี้จะทำหน้าที่ในการดูดซับธาตุอาหารและเป็นที่ยึดเกาะของราก ทรายหยาบเป็นแร่ธาตุที่ทำให้วัสดุปลูกโปร่ง ระบายน้ำและอากาศ รักษาอุณหภูมิของวัสดุปลูกได้ดี นำวัสดุปลูกมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันในอัตราส่วน ดังนี้

สูตร 1 ขุยมะพร้าว : แกลบ : ทราย อัตราส่วน 60 : 30 : 10

สูตร 2 กาบมะพร้าวสับ : ขุยมะพร้าว : แกลบ : ทราย อัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10

สูตร 3 ขี้เลื่อยมะพร้าว : แกลบ : ทราย อัตราส่วน 60 : 30 : 10

สูตร 4 ขี้เถ้าแกลบ : ขุยมะพร้าว : แกลบ : ทราย อัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10

(ใช้วัสดุปลูกทุกสูตรรองก้นถุงพลาสติกและกระถางด้วยโม่หิน ขนาด ? หนาประมาณ 2 นิ้ว)

วัสดุปลูกที่ผสมตามอัตราส่วนแล้วนำไปอบด้วยไอน้ำร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 100 องศาเซลเซียส นานประมาณ 4-5 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจติดมากับวัสดุปลูก ทิ้งไว้ให้เย็นจึงนำมาปลูกได้

วัสดุปลูกทั้ง 4 สูตร เมื่อนำไปแช่น้ำและนำไปตรวจค่าความเป็นกรด-ด่าง ค่า pH จะอยู่ระหว่าง 6.7-7.1 และค่า EC อยู่ระหว่าง 0.4-0.7 ms/cm แสดงว่าวัสดุปลูกไม่เป็นพิษต่อการเจริญเติบโตของเยอบีร่าซึ่งปกติค่า pH จะอยู่ระหว่าง 5.5-7.0 และค่า EC ไม่เกิน 1.7 ms/cm

วิธีการปลูก

1. ปลูกในถุงพลาสติกสีขาวขุ่น ขนาด 7?14 นิ้ว บรรจุวัสดุปลูกได้ 5 ลิตร/1 ถุง เตรียมแปลงกว้าง 1 เมตร ซึ่งคลุมด้วยพลาสติกคลุมแปลง วางถุงแปลงให้มีระยะระหว่างต้นและแถว 40?40 เซนติเมตร

2. ปลูกในกระถางพลาสติก ขนาด 12 นิ้ว ความจุวัสดุปลูก 5 ลิตร/กระถาง วางกระถางบนชั้นวางโครงเหล็ก ขนาด 80?80 เซนติเมตร ความยาวของชั้นตามต้องการ

การให้น้ำและปุ๋ย

ติดตั้งระบบน้ำหยดด้วยชุดขาปักหัวแยก 4 สาย ขาปัก 1 อัน/1 ถุง หรือกระถางต่อเข้ากับแท็งค์ปุ๋ย ซึ่งใช้แรงดันปั๊มน้ำไฟฟ้าขนาด 1 นิ้ว ใช้ตู้ควบคุมไฟฟ้าแบบอัตโนมัติเพื่อตั้งเวลาให้ปั๊มทำงานหรือความถี่ในการให้ปุ๋ยน้ำ

น้ำ (water) เป็นน้ำสะอาดปราศจากเชื้อโรค หรือน้ำประปาที่บำบัดคลอรีนแล้ว ค่า pH ประมาณ 7 และค่า EC ไม่เกิน 0.5 (EC = Electro Conductivity = ค่าการนำไฟฟ้า มีหน่วยเป็นมิลลิซีเมนต่อเซนติเมตร ms/cm)

วิธีการให้ปุ๋ยน้ำ

ค่า EC (ms/cm)                 คุณภาพน้ำ

< 0.5                  น้ำมีคุณภาพดีสามารถใช้กับไม้ดอกทั่วไป

0.5 – 1.0                               น้ำมีคุณภาพดีปานกลาง

1.0 – 1.5               น้ำมีคุณภาพต่ำ เหมาะสมกับการปลูกพืชที่ไม่ทนเค็ม แต่อาจใช้กับพืชที่ทนเค็มได้

> 1.5                  น้ำมีคุณภาพไม่เหมาะสมกับการปลูกไม้ดอกทั่วไป

ปุ๋ย (Fertilizer) ใช้ปุ๋ยสูตรของ Royal Project Foundation – Chiang Mai University (RPF - CMU)

แม่ปุ๋ย                                          น้ำ 100 ลิตร

                                      ถัง A                              ถัง B


กรดไนตริก HNO3                          100 ซี              200 ซีซี

โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต NH4H2PO4 12-60-0       2,700 กรัม              -

โปแตสเซียมไนเตรท KNO3 13-0-46              5,400 กรัม           5,400 กรัม

แคลเซียมไนเตรท Ca(NO3) 15-0-0                 -               9,500 กรัม

แมกนีเซียมซัลเฟต MgSO4 7H2O                4,900 กรัม              -

ยูนิเลท Unilate                            250 กรัม               -

-ละลายแม่ปุ๋ยแต่ละชนิดตามสัดส่วนในตาราง จะได้สารละลายปุ๋ย ถัง A = 100 ลิตร และ     ถัง B = 100 ลิตร

-แท็งค์ปุ๋ยขนาดความจุ 1,000 ลิตร ใช้ปุ๋ยจากถัง A = 2.5 ลิตร และ ถัง B = 2.5 ลิตร รวม      เท่ากับ 5 ลิตร

-เทปุ๋ยถัง A = 2.5 ลิตร ลงในแท็งค์ถังปุ๋ย 1,000 ลิตร (เติมน้ำในแท๊งค์ปุ๋ยก่อนประมาณ          200 ลิตร) โดยค่อยๆ เทและคนให้เข้ากัน

-เทปุ๋ยถัง B = 2.5 ลิตร ลงในแท็งค์ถังปุ๋ย 1,000 ค่อยๆ เทและคนให้เข้ากัน ในระหว่างเท        ปุ๋ยทั้งถัง A และ B ให้คนและเติมน้ำให้ครบ 1,000 ลิตร จะได้น้ำปุ๋ยสูตร 1 : 200

-ให้ปุ๋ยแก่เยอบีร่าในแปลง โดยใช้แรงปั๊มน้ำไฟฟ้าขนาด 1 Hp แรงดัน 3 บาร์ เปิด-ปิด ปั๊ม         น้ำไฟฟ้าด้วยตู้ควบคุมอัตโนมัติ โดยให้ปุ๋ยน้ำวันละ 2 ครั้ง เฉลี่ยต้นละ 1 ลิตร/วัน

ธาตุอาหารเสริม

การปลูกเยอบีร่าโดยใช้ Substrate จำเป็นที่จะต้องมีความละเอียดและแม่นยำในเรื่องของธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรอง ตลอดจนฮอร์โมนในการเจริญเติบโตและเร่งตาดอก เพื่อให้พืชเจริญเติบโตเร็วและแข็งแรง ให้ผลผลิตเร็ว ดกและมีคุณภาพ จึงต้องเสริมธาตุอาหารให้ทางใบ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยปลา) ปุ๋ยเกร็ด สูตร 30-20-10, 21-21-21 ธาตุอาหาร เช่น Calcium (Ca), Boron (B), Manganese (Mn), Zinc (Zn), Copper (Cu), Iron (Fe) และฮอร์โมนพืช เช่น ออกซิน ไซโตไคนิน และจิบเบอร์เรลริน เป็นต้น ฉีดพ่นให้กับพืชตามระยะการเจริญเติบโตของพืชหรือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

คุณภาพของดอกเป็นสิ่งสำคัญ ดอกที่มีโรคหรือแมลงเข้าทำลายจะจำหน่ายไม่ได้หรือราคาจะลดลงอย่างมาก การป้องกันกำจัดโรคและแมลงจึงต้องทำอย่างสม่ำเสมอ โรคที่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับเยอบีร่ามีดังนี้

โรคใบจุด (Cercospora leaf spot)

เกิดจากเชื้อรา Cercospora sp. ใบเป็นจุดสีม่วงปนน้ำตาลหรือน้ำตาลไหม้ แผลจะใหญ่ขึ้นหรืออาจทะลุเป็นรูกระจายอยู่ทั่วไป ถ้าเป็นมากจะแผ่เป็นวงกว้างจะระบาดในฤดูฝน

การป้องกันและกำจัด 

ควรเลือกต้นพันธุ์ที่ปราศจากโรค เด็ดใบที่เป็นโรคออกทำลายและพ่นสารเคมี เช่น คาร์เบนดาซิม (บาวิสติน) ไซโคเฮ็กซิไมท์ (ฟูซานอล) และไตรโพรีน (ซาพรอน)

โรคเหี่ยว หรือ โรครากเน่า (Sclerotium root rot)

เกิดจากเชื้อรา Sclerotium rolfsii Sacc. ใบจะเหี่ยวเฉาค่อยๆ แห้งและตายในที่สุด บริเวณโคนต้นและรากที่เน่าจะพบว่ามีเส้นใยและเม็ดกลมๆ สีน้ำตาลของเชื้อรา (เม็ดผักกาด) โรคนี้จะทำให้เยอบีร่าตายทั้งกอ นอกจากนี้เชื้อราที่ทำให้เกิดอาการต้นหรือรากเน่าอีกหลายชนิด เช่น Phytophthora cryptogeaทำให้รากเน่าเละและ Rhizoctonia solani ทำให้ต้นเน่า การป้องกันกำจัด

ใช้ต้นที่ปราศจากโรค ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิมหลายๆ ปี หรือปลูกในที่ที่โรคระบาด ถ้าพบต้นเป็นโรคให้ขุดเผาไฟทำลายเสีย แล้วใส่ปูนขาวบริเวณหลุมหรือราดหลุมปลูกด้วยสารเคมีเทอร์-ราคลอร์ซุปเปอร์-เอ๊กซ์ (พีซีเอนบี หรือ ควินโตซิน + อีทริไดอาโซล) เป็นระยะๆ

โรครากปม (Root knot)

เกิดจากไส้เดือนฝอย Meloidogyne sp. ต้นจะแสดงอาการแคระแกร็น เมื่อขุดต้นขึ้นมาจะเห็นรากทีอาการโป่งนูนอยู่ทั่วไปซึ่งมีผลต่อความสมบูรณ์ของต้น และผลผลิตมักพบกับต้นที่ปลูกเป็นเวลานานกว่า 1 ปี

การป้องกันกำจัด

หลีกเลี่ยงการใช้ต้นพันธุ์จากการแยกกอหรือต้นที่มีรากปม ใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะดีที่สุด ไม่ควรปลูกในที่ที่มีไส้เดือนฝอยระบาด อบดินด้วยบาซามิคจี ก่อนปลูก

โรคราแป้ง (Powdery mildew)

เกิดจากเชื้อรา Oidium sp. ใบจะมีฝุ่นผงสีขาว ซึ่งเป็นใยของเชื้อราปกคลุมใบ ทำให้ใบหงิกงอขาดพื้นที่สีเขียวในการสร้างอาหาร ทำให้ต้นทรุดโทรม ผลผลิตลดน้อยลง และไม่ค่อยมีคุณภาพ มักพบในช่วงที่มีความชื้นสูง เช่น ฤดูฝน หรือฤดูหนาวมีหมอกจัด

การป้องกันและกำจัด  

ให้แสงแดดอย่างเต็มที่ในช่วงฤดูฝน หมั่นเก็บใบแก่ออก อย่าให้กอมีใบแน่นเกินไป ถ้าเริ่มพบใบเป็นโรคให้เก็บเผาทำลาย ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น ฟลูซิลาโซล (นูสตาร์) ไตรคีมอร์ฟ (คาร์ลิกซิน) ไพราโซฟอส (อาฟูกาน) และเฮกซาโคนาโซล (แอลวิน)

โรคดอกสีเขียว (Green flowers)

เกิดจากเชื้อ Mycoplasma sp. จะแสดงอาการที่ดอก คือ กลีบดอกสีเขียว ลักษณะคล้ายใบและจะเจริญเป็นยอดหรือต้นเล็กๆ อยู่บนช่อดอก จะสังเกตเห็นต้นเล็กๆ ขึ้นอยู่บริเวณโคนเป็นจำนวนมาก โรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หาย เมื่อพบต้นที่เป็นโรคควรรีบขุดฝังหรือเผาทำลายและพบว่าเพลี้ยจักจั่นบางชนิดเป็นพาหะของโรคนี้

เพลี้ยไฟ (Thrips)

นับว่าเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของเยอบีร่า จะทำลายทั้งต้น ใบ และดอก ซึ่งทำความเสียหายมากกับเยอบีร่าพันธุ์ต่างประเทศ ต้นกล้าที่ถูกทำลายใบจะมีอาการหงิกงอ หยาบกร้านมีขนาดเล็กกว่าปกติ ดอกที่ถูกทำลายจะมีรอยด่างสีขาว กลีบดอกจะหงิกงอ และไม่บาน ทำให้ดอกไม่มีคุณภาพจำหน่ายไม่ได้ เพลี้ยไฟจะระบาดมากในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิสูงและความชื้นต่ำ

การป้องกันกำจัด

ใช้สารเคมี เช่น อิมิดาโคพริด (คอนฟิดอร์) แลมป์ด้า-ไรฮาโลทริน (คาราเต้) โปรโซโอ-พอส (โตกุไธออน) และอะบาเม็กติน (แจ๊คเก็ต เวอร์ทิเมค แม็กต้า) ฉีดพ่นเมื่อแรกพบสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือถ้าระบาดให้พ่นซ้ำ 3 วันต่อครั้งติดต่อกัน 2 ครั้งและสลับสารเคมี

ไรขาว (Spider Mite)

ไรขาวจะทำลายทั้งต้น ใบ และดอก โดยเฉพาะระยะต้นกล้าปลูกใหม่ จะทำให้ยอดอ่อน และใบอ่อนมีสีเขียวคล้ำ แคระแกรน หยาบกร้าน หงิกงอ ดอกอ่อนจะฝ่อ หรือถ้าเจริญได้ก็จะไม่สมบูรณ์ กลีบดอกจะสั้นหรือเว้าแหว่ง ยาวไม่เท่ากัน ดอกไม่มีคุณภาพ

การป้องกันกำจัด

ใช้สารเคมี เช่น ซัลเฟอร์ (คูมูลัส ดีเอฟ กำมะถันทอง) โปรพาริไดท์ (โอไมท์) อะมีทราช (อีซีไมท์ อาไมน่า) และไพริดาเบน (แซนไมท์) ฉีดพ่นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ถ้าระบาดมากให้พ่นซ้ำ 3 วันต่อครั้ง ติดต่อกันนาน 2 ครั้ง และสลับสารเคมี

หนอนชอนใบ (Leaf miner)

สกุล : Liromyza วงศ์ : Agromyzidae อันดับ : Diptera 

เป็นหนอนแมลงวัน หัวจะแหลม ส่วนท้ายโตกว่าหัว ตัวยาวประมาณ 1-5 มิลลิเมตร สีขาวถึงเหลืองอ่อน ตัวเต็มวัยเป็นแมลงวันตัวเล็กๆ สีดำ ขนาดโตกว่าแมลงหวี่เล็กน้อย มีสีเหลืองคาดตรงกลางหัว ตัวเต็มวัยเพศเมียจะใช้อวัยวะวางไข่ที่ส่วนท้ายของท้องแทงไชไปใต้ผิวใบแล้ววางไข่ภายใน หลังจากนั้นจะเห็นเป็นรอยขาวคดเคี้ยว เมื่อฉีกใบอ่อนจะพบตัวหนอนชอนอยู่ในเนื้อใบโดยที่ผิวใบไม่ขาด ในใบหนึ่งอาจพบ 2-10 ตัว และเมื่อโตเต็มที่จะเข้าดักแด้ในดินบริเวณโคนต้นหรือบางชนิดจะห้อยดักแด้ใต้ใบ ดักแด้มีสีเหลืองเข้มหรือน้ำตาล มีวงจรชีวิต ดังนี้

          ไข่   ----------    หนอน  ----------                 ดักแด้  -----------    ตัวเต็มวัย

ตัวเต็มวัยเพศเมียมีชีวิตอยู่ได้ 2-3 สัปดาห์ อาจวางไข่ได้ 40-50 ฟอง ก่อนตาย

การป้องกันกำจัด

ปลูกเยอบีร่าภายใต้โรงเรือนมาตรฐานของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งล้อมด้วยตาข่ายไนล่อน สามารถป้องกันตัวเต็มวัยของหนอนชอนใบได้ หากมีตัวเต็มวัยในโรงเรือนให้ใช้กับดักกาวเหนียว (ติดแผ่นพลาสติกสีเหลือง) ตัวเต็มวัยจะลดปริมาณลงได้มากและใช้สารเคมี เช่น อิมิดา- โคลพริด (คอนฟิดอร์) โปรไธโอฟอส (โตกุไธออน) และอะบาเม็คติน (แจ๊คเก็ต เวอร์ทิเมค แม็กต้า) อย่างใดอย่างหนึ่งผสม ฟลูเพนน๊อกซูรอน (คาสเคท) ซึ่งเป็นสารเคมีป้องกันการลอกคราบของดักแด้ ฉีดพ่นเมื่อแรกพบการเข้าทำลายใบก่อนที่จะระบาดและอยู่ในดุลพินิจของผู้ดูแลรักษา ควรพ่นสารเคมีช่วงเช้าเวลา 07.00 – 09.00 น. เนื่องจากตัวหนอนจะออกใบพืชเพื่อเข้าดักแด้ และตัวเต็มวัยจะไม่ค่อยเคลื่อนที่หรือบินหนี

แมลงหวี่ขาว (White fly)

วงศ์ : Aleurodidae อันดับ : Homoptera

แมลงหวี่ขาวในเยอบีร่ามีชื่อสามัญว่า แมลงหวี่ขาวในโรงเรือน (Green house white fly) ตัวเต็มวัยมีรูปร่างคล้ายผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก มีปีก 2 คู่ มักมีผงคล้ายแป้งสีขาวขุ่นปกคลุมบนแผ่นปีกและตามลำตัววงจรชีวิตประมาณ 27 วัน ที่อุณหภูมิประมาณ 21 องศาเซลเซียส (ฤดูหนาว) ดังนี้

ไข่   ----------    หนอน    -----------    ดักแด้    ----------  ตัวเต็มวัย

พฤติกรรมการทำลายจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบเยอบีร่า จะถ่ายของเหลวใสและเหนียวออกมาติดใบและหยดลงใบที่อยู่ด้านล่าง ทำให้เกิดราดำขึ้นบนของเหลวที่แมลงหวี่ขาวถ่ายไว้ ใบเยอบีร่าจะสกปรก มีราดำขึ้นทั่วทั้งกอ ต้นจะโทรม ผลผลิตลดลง นอกจากนี้ตัวเต็มวัยยังเป็นพาหะนำโรคไวรัสอีกด้วย

การป้องกันกำจัด

ปลูกเยอบีร่าภายใต้โรงเรือนมาตรฐานของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งล้อมด้วยตาข่ายไนล่อน นอกจากนั้นควรทราบข้อจำกัดของวิธีการควบคุมวิธีการต่างๆ ทั้งการเขตกรรม และการควบคุมโดยชีววิธี เพื่อใช้พิจารณาเลือกวิธีการและเวลาควบคุมที่เหมาะสม หากจะใช้สารเคมี เช่น อิมิดาโคลพริด (คอนฟิดอร์) และและอะบาเม็คติน (แจ๊คเก็ต เวอร์ทิเมค แม็กต้า)และสารยับยั้งการลอกคราบ บูโพราฟซิน (แอปพลอต) ฉีดพ่นช่วงเช้า 07.00 – 09.00 น. เพราะตัวอ่อนจะออกจากดักแด้ และตัวเต็มวัยจะไม่ค่อยเคลื่อนที่หรือบินหนี (งานอารักขาพืชบนที่สูง มูลนิธีโครงการหลวง)

การผลิตเยอบีร่าบนที่สูงในปัจจุบันนับวันยิ่งจะผลิตได้ยากขึ้น เนื่องจากพื้นที่มีจำนวนจำกัด การปลูกซ้ำที่เดิมทำให้เกิดปัญหาเรื่องโรคในดิน และมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านทำให้ทั้งโรคและแมลงระบาด ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการผลิตเพราะไม่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ดังนั้นการผลิตเยอบีร่าเพื่อให้ได้คุณภาพและมีความสม่ำเสมอจึงจำเป็นต้องมีการลงทุนสูง เริ่มตั้งแต่การสร้างโรงเรือนมาตรฐานตามแบบของมูลนิธิโครงการหลวง การเลือกพิ้นที่ที่ไม่เคยมีการปลูกเยอบีร่ามาก่อน พันธุ์เยอบีร่าที่ตลาดต้องการ และมาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การให้น้ำและปุ๋ยตามหลักวิชาการ การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงอย่างถูกวิธีและที่สำคัญ คือ ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ของผู้ปลูกจะเป็นบรรทัดฐานนำไปสู่การพัฒนาเทคนิคการผลิตที่ทันสมัย ซึ่งมีการดำเนินงานผลิตอย่างมีแบบแผน แม่นยำ และเที่ยงตรง แม้จะมีการลงทุนค่อนข้างสูงแต่ผลผลิตที่ได้จะมีคุณภาพดี มีความสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการผลิตเยอบีร่าเพื่อการค้า

การเก็บเกี่ยว 

เยอบีร่าที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและจากการเพาะเมล็ดจะให้ดอกแรกหลังจากปลูก 4-5 เดือน ส่วนต้นที่ได้จากการแยกหน่อจะเริ่มให้ดอกแรกเมื่อปลูกได้ 2-3 เดือน แต่ดอกยังมีขนาดเล็กต้องใช้เวลาเลี้ยงอีก 1-2 เดือน จึงจะได้ดอกที่ขนาดใหญ่สมบูรณ์ขึ้น ระยะที่เหมาะสมในการเก็บดอกคือ ระยะที่กลีบดอกชั้นในที่เป็นเกสรเพศผู้ (dise florets) บานแล้ว 1-2 วง ควรเก็บในช่วงเช้า เพราะเซลล์ของก้านดอกอวบแข็งและเปราะสามารถเก็บดอกได้ง่าย วิธีเก็บใช้มือจับบริเวณโคนก้านดอกโน้มก้านลงพร้อมกับโยกลงข้างๆ ระหว่างก้านใบแล้วกระตุกขึ้นดอกจะหลุดออกมาได้ง่ายแล้วให้รีบแช่ก้านดอกในถังน้ำสะอาด เก็บในที่ร่ม แล้วจึงลำเลียงเข้าอาคารคัดบรรจุ

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

การคัดเกรด (Grading)

การคัดเกรดเป็นการจัดชั้นคุณภาพและขนาดของดอก เป็นการเพิ่มราคาผลผลิต ลดความเสียหายระหว่างการขนส่ง และเป็นการสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภคแบ่งออกเป็น 3 เกรด คือ

เกรด A ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.0 นิ้ว ความยาวก้าน 50 เซนติเมตร ขึ้นไป

เกรด B ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 นิ้ว ความยาวก้าน 40 เซนติเมตร ขึ้นไป

เกรด C ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.0 นิ้ว ความยาวก้าน 30 เซนติเมตร ขึ้นไป

ทุกเกรดก้านและกลีบดอกสมบูรณ์ไม่มีตำหนิ

การบรรจุหีบห่อ (Packing)

การบรรจุหีบห่อแต่ละดอกจะห่อด้วยพลาสติกใสขนาด 3?5 นิ้ว มัดเป็นกำๆ ละ 10 ดอก รัดคอดอกและก้านดอกด้วยยางรัด รัดให้แน่นพอสมควร ถ้าแน่นเกินไปก้านจะหักหรือช้ำมาก ตัดปลายก้านออกเล็กน้อยเพื่อให้ก้านดอกดูดน้ำได้ดี แช่ดอกเยอบีร่าในสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรด์ (Sodiumhypochlorite) อัตราส่วนต่อน้ำประมาณ 40 ต่อล้านส่วนผสม (40 ppm) เช่น Cloroxอัตรา 4 ซีซี ต่อน้ำสะอาด10 ลิตร แช่นาน 4-6 ชั่วโมง แล้วแช่ในน้ำสะอาดเก็บในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส นาน 1 คืน เพื่อรอการขนส่ง

การเก็บที่อุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บได้นาน 1 สัปดาห์ แต่ไม่ควรเก็บนานเกิน 1 สัปดาห์ เพราะจะทำให้อายุการปักแจกันน้อยลง ก่อนการขนส่งจะบรรจุดอกลงในกล่องกกระดาษโดยหันดอกไปทางด้านกว้างของกล่องทั้ง 2 ข้าง วางดอกเป็นชั้นๆ จนแน่นเต็มกล่อง อย่าให้กล่องหลวมเพราะดอกจะช้ำระหว่างขนส่ง


เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.