องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

รองเท้านารี

ชื่อสามัญ  Lady’s Slipper

ชื่อวิทยาศาสตร์  Paphiopedilum spp.

รองเท้านารี เป็นกล้วยไม้สกุลหนึ่งที่มีลักษณะกระเป๋าของดอกคล้ายคลึงกับรองเท้าของสุภาพสตรี จึงรู้จักกันทั่วไปในนามของรองเท้านารีหรือ Lady’s Slipper รองเท้านารีมีอยู่ทั่วโลก 5 สกุลย่อย 137 ชนิด รองเท้านารีในสกุลย่อย Paphiopedium เป็นสกุลย่อยที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีความหลากหลายมากที่สุด มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนโดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะโซโลมอน สำหรับประเทศไทยพบว่ามีอยู่ 17 ชนิด เราสามารถจำแนกกลุ่มของรองเท้านารีพันธุ์แท้ตามระบบรากได้ 2 แบบดังนี้ คือ

1. ระบบรากกึ่งดิน

รองเท้านารีพวกนี้ขึ้นอยู่ตามแอ่งผาและซอกหิน ซึ่งมีใบไม้ผุทับถมอยู่ บางชนิดขึ้นอยู่กับดินแดงร่วน บางชนิดขึ้นอยู่กับหินปูน รากของรองเท้านารีพวกนี้จะอวบอ้วน อวบน้ำและมีขนเล็กๆ ปกคลุม ได้แก่ เหลืองพังงา ขาวสตูล ฝาหอย เหลืองปราจีน เป็นต้น

2. ระบบรากอากาศ

รองเท้านารีพวกนี้ขึ้นอยู่ตามคาคบไม้ และเปลือกไม้ รากของรองเท้านารีพวกนี้จะเป็นเส้นมีขนาดเล็กกว่า และไม่อวบน้ำเท่าพวกแรก ได้แก่ เมืองกาญจน์ และ   อินทนนท์

นอกจากนี้ถ้าหากเราแยกตามฟอร์ม ดอกสามารถจำแนกได้ 2 รูปแบบ คือ

1. แบบกึ่งฟอร์มกลมและฟอร์มกลม ได้แก่ ช่องอ่างทอง ขาวสตูล เหลืองตรัง เหลืองพังงา เหลืองปราจีน เหลืองอุดร เหลืองกาญจน์ และฝาหอย

2. แบบฟอร์มกึ่งแคบ ได้แก่ รองเท้านารีกลุ่มคางกบ เหลืองกระบี่ เมืองกาญจน์ สุขะกุล เหลืองเลย คางกบคอแดง เป็นต้น (โอภาส, 2540 และอุไร, 2541)

รองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่งที่อยู่ในโครงการ “The research on Cymbidium and Paphiopedium production in the highland” ซึ่งได้ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการเป็นไม้ดอกชนิดใหม่ที่ทำรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่นของเกษตรกรชาวเขา โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2547 รองเท้านารีเป็นกล้วยไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นที่นิยมปลูกเลี้ยงทั่วไป สำหรับประเทศไทยพบว่าเป็นถิ่นกำเนิดของรองเท้านารีพื้นเมืองหลายชนิด แต่ด้วยการตัดไม้ทำลายป่า และเก็บออกจากป่ามาขายทำให้ลดจำนวนลงอย่างมากทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าจะสูญพันธุ์ในไม่ช้าถ้าขาดการอนุรักษ์ ฝ่ายงานไม้ดอก มูลนิธิโครงการหลวงจึงมีแนวคิดที่จะปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการปลูกเลี้ยงอย่างยั่งยืน ซึ่งในโครงการนี้ได้มีการรวบรวมพันธุ์จากรองเท้านารีพันธุ์แท้และลูกผสมหลายสายพันธุ์ มาศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกเลี้ยงและควรจะมีวิธีการปลูกเลี้ยงอย่างไร โดยได้มีวัตถุประสงค์การศึกษา 2 แนวทาง คือ การปลูกลงกระถาง และการปลูกลงแปลง

การปลูกลงกระถาง มีข้อดีที่เหมาะต่อการซื้อขาย ใช้พื้นที่น้อย ประหยัดวัสดุปลูก มีการเจริญเติบโตสม่ำเสมอ แต่มีข้อเสียที่ใช้ต้นทุนสูง เนื่องจากจำเป็นต้องซื้อกระถางและทำชั้นวาง ส่วนการปลูกลงแปลง มีข้อเสียที่ต้องใช้พื้นที่มากทำให้ใช้วัสดุปลูกมาก และถ้าหากผสมวัสดุปลูกที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตที่หาได้ง่ายภายในท้องถิ่น มีราคาถูก และง่ายต่อการปฏิบัติโดยเกษตรกรของมูลนิธิฯ (Krasaechai et. al, 2004)

ในบรรดากล้วยไม้ รองเท้านารีจัดว่าเป็นกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงยากที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงควรทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของรองเท้านารีแต่ละชนิดว่าต้องการอย่างไร โดยเฉพาะวัสดุปลูก ความเข้มแสง การระบายน้ำและถ่ายเทอากาศตลอดจนอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อให้เข้าใจระบบนิเวศวิทยา สภาพแวดล้อมทางภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของรองเท้านารี ทำให้การจัดสภาพแวดล้อมเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับแต่ละพันธุ์มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ทราบถิ่นกำเนิดของรองเท้านารีแต่ละชนิดแล้วก็ตาม บางครั้งการนำเอาวัสดุในถิ่นกำเนิดดังกล่าวมาใช้อาจให้ผลไม่ดีเท่าที่ควรก็ได้ นั่นเป็นเพราะว่ามีสภาพแวดล้อมไม่เหมือนกันนั่นเอง ผู้เรียบเรียงเคยขึ้นไปศึกษาถิ่นกำเนิดของรองเท้านารีเหลืองกระบี่ ซึ่งชาวบ้านตามเชิงเขาได้นำต้นและดินภูเขาที่ต้นเหลืองกระบี่เกิดขึ้นมาปลูกตามบ้านเป็นกอๆ เพียงแค่ไม่กี่เดือนกลับพบว่าต้นเน่าฉ่ำน้ำตายไปอย่างน่าเสียดาย ในขณะที่บางคนนำมาปลูกกับกกกะลาปาล์มเผา กลับให้ผลดีกว่า

สำหรับมูลนิธิโครงการหลวงในขณะนี้ยังไม่มีการจัดจำหน่ายหรือส่งเสริมเกษตรกรเกิดขึ้น เนื่องจากกำลังอยู่ในการดำเนินงานวิจัยเพื่อหาแนวทางในการปลูกเลี้ยง แต่จะมีการนำมาจัดแสดงในงานดอยคำบ้างบางส่วน โดยการนำรองเท้านารีมาจัดตกแต่งสถานที่ทั้งพันธุ์พื้นเมืองและลูกผสม ซึ่งจากการนำมาจัดแสดงได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมเป็นอย่างดีจึงมีแนวโน้มเป็นไปได้ที่จะนำรองเท้านารีทดลองส่งเสริมหลังจากที่งานวิจัยได้ดำเนินการเสร็จแล้ว

โดยทั่วไปรองเท้านารีพันธุ์พื้นเมือง จะมีราคาจำหน่ายในตลาดพันธุ์ไม้ในราคาค่อนข้างสูงอยู่แล้ว การประเมินราคาตามท้องตลาดจะใช้วิธีการนับยอดจำหน่าย ซึ่งมีราคาจำหน่ายตั้งแต่ยอดละ 10-200 บาท ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของต้น จำนวนดอก และความหายากของสายพันธุ์ โดยทั่วไปรองเท้านารีในกลุ่มใบลายจะมีราคาต่ำที่สุด ได้แก่ ขาวสตูล เหลืองพังงา เหลืองปราจีน จะมีราคาจำหน่ายส่งยอดละ 10 บาท แต่เมื่อออกดอกในกระถาง 4 นิ้ว แล้วจะสามารถจำหน่ายได้กระถางละ 100-150 บาท ในขณะที่รองเท้านารีเหลืองเลย เมืองกาญจน์ จะมีราคาจำหน่ายส่งยอดละ 200 บาท หากมีดอกและมีหน่อ 2-3 หน่อ จะมีราคาจำหน่ายทั้งกอในกระถาง 9-11 นิ้ว ตั้งแต่ 500-1,500 บาท

ในขณะที่รองเท้านารีพันธุ์ลูกผสม จะมีราคาจำหน่ายที่แพงกว่า กล่าวคือกลุ่มประเภทดอกเดี่ยวใบลาย เช่น ลูกผสมของ Paph. armeniacum จะมีราคาจำหน่ายในกระถางขนาด 4 นิ้ว ประมาณ 400-450 บาท ส่วนลูกผสมของไม้ช่อ จะมีราคาจำหน่ายแพงถึงกระถางละ 8,000-16,000 บาท เป็นต้น

วิธีการขยายพันธุ์

1. การเพาะเมล็ด สามารถทำได้ทั้งสภาพธรรมชาติ และในสภาพปลอดเชื้อ สามารถจ้างเพาะเมล็ดได้ตามห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ทั่วไป สำหรับการเพาะเมล็ดในสภาพธรรมชาติ มีวิธีการง่ายๆ คือ การนำฝักที่สุกแก่เต็มที่โรยเมล็ดลงบนโคนต้น เมล็ดจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 2 ปีขึ้นไป เหตุที่ต้องหว่านเมล็ดใต้โคนต้นเพราะเมล็ดของรองเท้านารีไม่มีอาหารสะสมเหมือนเมล็ดพืชอื่น จำเป็นต้องอาศัยเชื้อไมโครไรซ่าในการช่วยในการงอกและสร้างอาหารในระยะแรก ซึ่งเชื้อเหล่านี้มีอยู่มากมายตามรากของต้นแม่นั่นเอง จากการที่ได้ลองเพาะเมล็ดรองเท้านารีชนิดต่างๆ พบว่ามีรองเท้านารีหลายชนิดที่สามารถเพาะเมล็ดได้ในสภาพธรรมชาติ ได้แก่ อินทนนท์ลาว คางกบลาว เหลืองปราจีน และฝาหอย สำหรับคางกบลาว พบว่ามีการงอกเกิดขึ้น 54 กระถาง ต่อกระถางทั้งหมด 230 กระถาง คิดเป็น 23.48 เปอร์เซ็นต์ การงอกของคางกบลาวมากกว่าฝาหอย เฉลี่ย 3-5 ต้น/กระถาง จึงมีแนวโน้มเป็นไปได้ที่จะสามารถส่งเสริมเกษตรกรชาวเขาปฏิบัติเพราะทำได้ง่าย และไม่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการฯ แต่จะต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ส่วนใหญ่ต้นที่ได้แข็งแรง ส่วนการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อใช้เวลา ประมาณ 1-2 ปีเช่นกัน แต่ได้ปริมาณต้นมากกว่า

2. การแบ่งและแยกกอวิธีนี้เป็นวิธีที่สามารถนำมาใช้เพิ่มปริมาณต้นได้ และเป็นวิธีการดั้งเดิมที่ชาวบ้านที่เก็บของป่ามาขายใช้กันอยู่ทั่วไป โดยจะบิหรือเด็ดต้นย่อยที่มีรากแล้วออกจากกอที่มีต้นเดิม หรือการนำกอเก่าวางบนเครื่องปลูกหรือกลบบางๆ ให้ได้รับความชื้น รองเท้านารีก็สามารถงอกขึ้นมาจากเหง้าเดิมได้ การแบ่งและแยกกอควรคำนึงถึงความสมบูรณ์ของต้นเก่า และหน่อใหม่ให้สัมพันธ์กัน หากเป็นไม้เดี่ยวซึ่งมีจำนวนใบอยู่ระหว่าง 5-7 ใบที่สมบูรณ์ก็สามารถออกดอกได้ จึงสามารถแบ่งกอเป็นต้นเดี่ยวได้ ได้แก่ ขาวสตูล เหลืองพังงา ฝาหอย เหลืองปราจีน ส่วนหากเป็นไม้กอซึ่งจะต้องมีลำต้นมากกว่า 2-4 ต้นขึ้นไปจึงจะออกดอก การแบ่งกอเป็นต้นเดี่ยวนอกจากจะทำให้ไม่ออกดอกแล้วต้นที่ได้อาจตายได้เพราะอาหารภายในลำต้นไม่เพียงพอในการฟื้นตัว ไม้กลุ่มนี้ ได้แก่ เมืองกาญจน์ เหลืองกระบี่ เหลืองเลย และไม้กลุ่มอินทนนท์ เป็นต้น (คณิต, 2545)

การอนุบาล

สำหรับวัสดุปลูกที่ใช้ในการอนุบาล ที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้งใช้ขุยมะพร้าว เปลือกไม้ผุ และใบไม้ผุ อัตรา 1:1:1 วัสดุปลูกนี้สามารถใช้ได้ตั้งแต่ต้นกล้าออกขวดและต้นกล้าใหญ่เป็นวัสดุปลูกที่เหมาะต่อการอนุบาลต้นกล้ามาก สำหรับผู้ที่มีความประสงค์ปลูกเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมนั้น เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน วัสดุปลูกบางอย่างหาได้ง่ายบนดอยแต่หายากมากในพื้นที่อื่น ดังนั้นจึงควรมีการปรับวัสดุปลูกให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ใช้ปลูกด้วย แต่อย่างไรก็ตามวัสดุปลูกที่เหมาะสมกับอีกพื้นที่หนึ่งอาจไม่เหมาะกับอีกพื้นที่ก็ได้ สำหรับการเจริญเติบโตของรองเท้านารีนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมมากกว่าวัสดุปลูกเป็นส่วนใหญ่

สำหรับรองเท้านารีพื้นเมืองที่ซื้อหาตามตลาดพันธุ์ไม้ ระยะแรกของการปลูกควรปลูกลงในตะกร้าก่อน หากได้รับไม้โทรม ควรตัดแต่งใบและรากก่อน รากที่ดีจะต้องไม่กลวง บีบดูจะต้องแน่นให้ตัดเฉพาะส่วนเน่าออก จากนั้นให้ผสมยาแบนเลทกับแคปแทน อัตราส่วนอย่างละเท่ากันผสมสารจับใบแช่ทิ้งไว้ 5 นาที จากนั้นพักไว้ให้สารป้องกันกำจัดเชื้อราดังกล่าวเคลือบรากให้พอหมาดก่อนปลูก การปลูกของหน่วยวิจัยขุนห้วยแห้งจะใช้โฟมบิหักใส่ตะกร้าให้เต็มก้นตะกร้าให้ได้ 1 ใน 4 ของตะกร้าก่อน จากนั้นจึงเทวัสดุผสมระหว่างขุยมะพร้าว เปลือกไม้สับ และใบไม้ผุ อัตรา 1:1:1 ลงไป ทยอยปลูกเป็นแถวๆ เพื่อให้บังใบกันและง่ายในการย้ายปลูกในอนาคต จากนั้นใช้เศษเปลือกไม้ผุที่สับเป็นชิ้นเล็กๆ ร่อนแล้วเทคลุมทับผิวหน้า เพื่อรักษาความชื้นประมาณ 2 เดือน ต้นไม้จะสามารถตั้งตัวได้ สามารถสังเกตได้จากประกายของใบ หากใบออกใหม่ใหญ่กว่าเดิมหรือกล้วยไม้แทงออก 2 หน้า (2 หน่อ) แสดงว่าต้นตั้งตัวได้แล้ว พอรองเท้านารีเริ่มมี 6-8 ใบ ควรย้ายลงกระถางเดี่ยวจะง่ายในการบังคับให้ออกดอก

ส่วนรองเท้านารีลูกผสมวิธีการส่วนใหญ่เหมือนกัน ต่างกันที่ลูกไม้ในขวดที่ได้จากห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ควรพักในที่ร่มที่มีแดดรำไรเพื่อให้รองเท้านารีปรับสภาพก่อนย้ายปลูกประมาณ 1 อาทิตย์ จากนั้นจึงใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อทุบขวด ล้างวุ้นออกให้หมดแช่สารป้องกันกำจัดเชื้อราและทิ้งไว้ให้สารเคลือบรากพอหมาดก่อนสักระยะจึงค่อยปลูก การเลือกไม้ออกขวด ควรเลือกที่เป็นไม้ถ่ายขวดที่ยังมีรากสั้นอยู่ไม่สานกันแน่น และไม่มีร่องรอย การตัดปลายรากจะทำให้ออกขวดรอดตายได้มากกว่า การปลูกควรปลูกในตะกร้าจะดีกว่าในกระถาง

สำหรับสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปจะคล้ายคลึงกันทั้งพันธุ์พื้นเมืองและลูกผสม คือ ชอบแดดรำไร ตาข่ายพรางแสงควรให้ 2 ชั้น ชั้นละ 50-75% หากปลูกลงกระถาง ยกเว้นเป็นชนิดที่ชอบแสงควรให้ข้างล่างโปร่งข้างบนทึบเพื่อช่วในการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศ วัสดุปลูกที่ดีสำหรับคางกบกระถาง ควรรองชั้นล่างด้วยโฟมบิ ชั้นบนใช้ถ่านแกลบ ที่สำคัญควรยกพื้นชั้นวางจะทำให้ลดอัตราการเน่าลดลงได้ แต่ถ้าเป็นลูกไม้ใหม่ต้องสังเกตและปรับสภาพแวลล้อมตามความเหมาะสม โดยส่วนใหญ่รองเท้านารีที่ทีใบบางจะชอบที่ร่มรำไร ใบหนาจะชอบแดดจัดที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้งใช้ถ่านแกลบและโฟมบิ เพราะมีน้ำหนักเบา สะดวกในการเคลื่อนย้าย และถือหิ้วสะดวกสำหรับลูกค้า อย่างไรก็ตามขอให้อย่าไปยึดติดกับวัสดุตัวปลูก เพราะสำหรับรองเท้านารีนั้นการจัดการสิ่งแวดล้อมสำคัญมากกว่า วัสดุปลูกเดียวกันนำไปปลูกคนละที่จะให้ผลต่างกัน ส่วนการดูแลอื่นๆ จะคล้ายคลึงกับกล้วยไม้ทั่วไป

การปลูกเลี้ยงรองเท้านารีอย่างไรจึงดีและเหมาะสม ในที่นี้ขอแนะนำให้ถอดกระถางดู โดยเราจะสังเกตดูความหนาแน่นของระบบราก และสุขภาพของราก หากวัสดุปลูกดีรากจะเดินแน่นและบีบดีจะไม่กลวง ถัดมาเราสามารถสังเกตได้จากประกายใบและการแตกกอ อย่างไรก็ตามประกายใบและการแตกกออาจจะเป็นการลวงตาได้ หากท่านเลือกจากตลาดพันธุ์ไม้ที่เพิ่งย้ายปลูกโดยส่วนใหญ่มักจะยังไม่โทรมในขณะอยู่ในเนิร์สเซอรี่ แต่อาจจะโทรมเมื่อมาถึงมือเราซักระยะหนึ่งเพราะยังตั้งตัวไม่ได้นั่นเอง ดังนั้นต้องสังเกตจากตัวรองเท้านารีเองว่าเหมาะสมหรือไม่

ช่วงระยะเวลาที่ใช้ในการขยายพันธุ์

การแบ่งแยกกอหรือย้ายปลูกควรดำเนินการในปลายเดือนมีนาคม – เมษายน เพราะเป็นช่วงที่รองเท้านารีมีการพักตัวตามธรรมชาติ ต้นจะไม่ค่อยอวบน้ำ จึงไม่เกิดโรคเน่าได้ง่ายเท่าไรนัก

การเตรียมแปลงและการเตรียมดิน

สำหรับงานทดลองที่หน่วยงานวิจัยขุนห้วยแห้ง เป็นงานวิจัยที่ประยุกต์ขึ้นจากการนำแนวความคิดของศาตราจารย์ระพี สาคริก ที่เคยทดลองปลูกคางกบลงแปลงร่วมกับ อาจารย์อุทัย จารณศรี ที่สถานีฝึกนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2507 และประยุกต์กับการปลูกหน้าวัวลงแปลงทางภาคใต้ที่จะมีการรองพื้นพลาสติกเพื่อเก็บความชื้นและป้องกันเชื้อในดิน ซึ่งในที่นี้เรามีความสนใจศึกษาว่าคางกบชนิดใดที่มีการเจริญเติบโตได้ดีที่เหมาะสมต่อการแนะนำให้ชาวเขาปลูก และวัสดุปลูกที่ใช้ควรเป็นอย่างไร โดยปลูกในแปลงขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 5 เมตร ที่มีการกรุด้านข้างด้วยลูกกรงตาข่ายและรองพื้นด้วยพลาสติกตามงานทดลอง จำนวน 12 แปลง ปลูกเป็นแถวระยะ 20?50 เซนติเมตร รองพื้นแปลงด้วยกาบมะพร้าวสับเพื่อช่วยในการระบายน้ำ จากนั้นจึงเทวัสดุปลูกที่แตกต่างกันลงไปจากงานทดลองเปรียบเทียบคางกบ 5 ชนิด พบว่าคางกบเขมรมีการเจริญเติบโตดีกว่ามากชนิดอื่นๆ ในด้านการแตกกอและออกดอก นอกจากนั้นยังพบว่าคางกบปักษ์ใต้เหมาะต่อการผลิตเป็นไม้กระถางมากเพราะแตกกอสม่ำเสมอมาก และสามารถออกดอกได้หลายดอกในกอเดียวกัน

เทคนิควิธีการปลูก

1. การเลือกพันธุ์รองเท้านารีในการปลูก

การเลือกพันธุ์รองเท้านารีเพื่อใช้ปลูก ควรเริ่มจากกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์ลูกผสมมากกว่ารองเท้านารีพันธุ์พื้นเมือง เนื่องจากในการปลูกเลี้ยงเป็นเชิงการค้าจะไม่ผิดต่อกฎไซเตส โดยที่อาจสามารถหาซื้อลูกไม้เหล่านี้ตามเนิร์สเซอรี่หรือห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทั่วไปในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยให้เริ่มจากการปลูกเลี้ยงไม้ลูกผสมในกลุ่มไม้ที่มีเลือดเป็นไม้ที่เหมาะต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นก่อน เพราะลูกไม้เหล่านี้ปรับตัวเก่ง เลี้ยงไม่ยาก หากเลี้ยงดีอาจสามารถออกดอกได้ภายใน 2-3 ปี ไม่ควรเล่นไม้ช่อเพราะอาจต้องใช้เวลาเลี้ยงนานมากกว่า 5 ปี ควรเน้นที่ชนิดปลูกเลี้ยงง่าย โตเร็ว และจำหน่ายได้ง่ายก่อนเพื่อทำทุน และเพิ่มพูนประสบการณ์และกำลังใจในการปลูกเลี้ยงก่อน จึงขยับไปเล่นชนิดที่ยากขึ้น

ควรปลูกรองเท้านารีพันธุ์ใดนั้น ต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์เป็นอันดับแรกว่าปลูกไปเพื่ออะไร หากปลูกเพื่ออนุรักษ์ก็สามารถหารองเท้านารีพื้นเมืองมาปลูกได้ตามตลาดพันธุ์ไม้ทั่วไป แต่ถ้าหากเพื่อพัฒนาพันธุ์ก็ควรรวบรวมพันธุ์ดังกล่าวในลักษณะที่สนใจก่อน จึงนำมาจับคู่ผสมแล้วจึงนำฝักที่ได้มาเพาะเมล็ด จากนั้นจึงคัดเลือกต้นทีมีลักษณะดีปลูกเลี้ยงง่ายเอาไว้ต่อไป อย่างไรก็ตามในเชิงการค้าแล้วควรให้ความสำคัญในเรื่องตลาดเป็นหลัก ต้องรู้ว่าตลาดของเราชอบอะไร นอกจากนี้ต้องรู้ว่าสภาพแวดล้อมของเรา สามารถผลิตไม้ชนิดไหนได้และหาง่ายในท้องถิ่น ปัจจุบันนี้รองเท้านารีลูกผสมถูกพัฒนาพันธุ์ให้ปลูกเลี้ยงได้ง่ายขึ้น ออกดอกได้ง่ายขึ้น พวกนี้จะโตเร็วกว่าพันธุ์แท้แทบทั้งสิ้น ซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่ายตามห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือตามตลาดพันธุ์ไม้

2. การเลือกไม้ขวด

สำหรับการเลี้ยงไม้ขวดนี้ ขั้นแรกต้องเลือกห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่เชื่อถือได้ก่อน บางแห่งที่ไม่รักษาคุณภาพอาจมีพันธุ์อื่นปนติดอยู่บ้าง บางแห่งอาจเพาะไม่ออกก็มี แต่ต้องยอมรับว่ารองเท้านารีเป็นกล้วยไม้ที่เพาะเมล็ดได้ยากมาก บางพันธุ์ในสภาพธรรมชาติเพาะง่ายกว่าในอาหารวุ้นก็มี ซึ่งเรื่องนี้ผู้ปลูกไม่จำเป็นต้องปฏิบัติเอง การจ้างห้องปฏิบัติการฯ เอกชนที่เป็นมืออาชีพจะให้ผลดีกว่า ซึ่งถ้าหากไม่ได้ผสมเกสรเองก็สามารถเลือกไม้ขวดไปออกขวด และปลูกต่อได้โดยมีหลักการเลือก ดังนี้

1. เลือกต้นที่มีสีเขียวเข้ม แข็งแรง ไม่เหลืองซีด หรือเป็นสีน้ำตาล ยกเว้นใบด้านล่างที่อาจเป็นสีน้ำตาลบ้าง

2. เลือกต้นทีมีระบบรากแข็งแรง

3. ควรเลือกขวดไม่ขึ้นรา หรือมีบางต้นได้รับความเสียหายจาหอาการเน่า

4. ควรเลือกที่ภ่ยในขวดอาหารวุ้นยังจับตัวกันแน่นไม่โยกคอนหรือเหลง เพราะการขนย้ายขวด เพื่อนำไปปลูกอาจทำให้เกิดราขึ้นขวดอาหารได้

5. ที่ข้างขวดต้องมีการติดฉลากชื่อพันธุ์ติหรือเขียนไว้ชัดเจน และตรงกับต้นที่อยู่ภายใน

3. การเลือกพ่อแม่ไม้หรือลูกไม้ที่ออกขวดแล้ว

หากไม่แน่ใจว่าจะสามารถออกขวดแล้วรอดได้มากพอ การซื้อพ่อแม่หรือลูกไม้ที่ออกขวดแล้วกห็เป็นหนทางหนึ่งทีทำให้ต้นกล้ามีโอกาสรอดตายได้สูงกว่า โดยที่ราคาของต้นไม้เหล่านี้จะสูงกว่าลูกไม้ในขวด และยังคงถูกกว่าต้นที่ออกดอกแล้วอีกด้วย ซึ่งการเลือกซื้อควรมีหลักในการเลือกดังนี้

1. ให้สังเกตจากสีใบว่าสีใบเขียวเข้มหรือไม่ จากนั้นให้สัมผัสดูว่ามีความชื้นหรือไม่ หากใบมีความชุ่มชื้น และมีสีเขียวเข้มแสดงว่าต้นตั้งตัวได้แล้ว หากมีสีซีดหรือแห้งผาดแสดงว่ายังตั้งตัวไม่ได้ จากนั้นลองโยกต้นหรือกระถางเบาๆ หากต้นคลอนแสดงว่าเพิ่งปลูกยังตั้งตัวได้ไม่นานหรือออกขวดเสร็จผู้ขายก็นำมาจำหน่ายเลย ต้นที่ยังตั้งตัวไม่ได้ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเน่าอยู่ จึงยังไม่ควรเลือกซื้อมาปลูกก่อน

2. กรณีที่ต้นไม้ตั้งตัวได้แล้วให้ดูส่วนล่างว่ารากถึงก้นกระถางหรือไม่ ถอดดูจะเห็นว่ารากเดินมาก หากรากน้อยต้นจะหลุดออกได้ง่าย (ควรขออนุญาตจากผู้จำหน่ายก่อน)

3. กรณีผู้จำหน่ายใช้วิธีถอดกระถางล้างรากออกมาจำหน่าย กรณีนี้ไม่สนับสนุนให้ซื้อเท่าไรนัก เพราะน่าจะเป็นต้นที่ตามรังต่างๆ น่าจะคัดทิ้งแล้วโดยเฉพาะต้นที่เป็นต้นเก่ามีก้านช่อดอกอยู่ พวกนี้ล้วนแต่ออกดอกให้เห็นแล้วทั้งสิ้น ยกเว้นแต่เป็นต้นที่ยังไม่ออกดอกก็น่าลองปลูกเลี้ยงดูแต่หากคิดว่าไม่สวยของเขาอาจสวยเราก็ซื้อได้ เพราะการเอาแม่ไม้มาผสมกันแบบสุดโต่งอาจให้ลูกที่หลากหลายที่สามารถได้ต้นที่มีลักษณะดีก็ได้

4. แต่กรณีที่แนะนำให้ซื้อก็คือ ต้นที่ออกดอกให้เห็นแล้ว ไม่ควรเชื่อว่าในกลุ่มนี้หรือขวดนี้จะเผือกหากไม่เห็นได้ด้วยตาตนเอง เพราะอาจเสียเงินเปล่าได้ สำหับต้นเผือกส่วนใหญ่แล้วให้สังเกตลำต้นซึ่งมักจะเขียวหรือขาวปลอดไม่มีจุดประ เป็นต้น

4. การชักนำให้ออกดอก

สำหรับรองเท้านารีขาวสตูล เหลืองตรัง หรือรองเท้านารีที่มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ โดยส่วนใหญ่ไม่ต้องการอากาศหนาวเย็นในการออกดอก พบตามธรรมชาติ การเจริญเติบโตจนกระทั่งถึงระยะการออกดอกของรองเท้านารีเหล่านี้ จะมีใบที่สมบูรณ์ขนาดใหญ่อย่างน้อย 3-5 ใบ จากนั้นจึงมีการพักตัวกระทบแล้งหรือขาดน้ำ ช่วงระยะเวลาสั้นๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์จึงออกดอก ซึ่งในช่วงนี้หากได้รับความเข้มแสงเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับการให้ปุ๋ยที่มีสูตรโปแตสเซียมสูงล่วงหน้า ก่อนการขาดน้ำ 1 เดือน ก็สามารถชักนำให้เกิดการออกดอกได้ เหมือนในธรรมชาติที่มีการพักตัวในช่วงฤดูร้อน แล้วรับน้ำฝนในช่วงต้นฤดูฝน จึงออกดอกตามธรรมชาติ โดยปกติวิสัยของรองเท้านารีเหล่านี้มักออกดอกได้ไม่ยากนัก ยิ่งเป็นกรณีที่เป็นไม้เพาะเสี้ยงที่ได้รับปุ๋ยและการดูแลรักษาอย่างดีแล้ว ผู้ปลูกสามารถควบคุมปัจจัยในการเจริญเติบโตได้ ยิ่งสามารถทำให้การออกดอกได้สะดวกขึ้น และสม่ำเสมอตลอดทั้งปี แต่ในกรณีไม้กอเช่นเหลืองกระบี่ จากการสำรวจในธรรมชาติและปลูกเลี้ยงจะพบว่ารองเท้านารีนี้จะไม่พบการออกดอกในต้นที่มีลำ 1 หรือ 2 ลำต้นเลย แต่จะพบเฉพาะต้นที่เป็นกอ ซึ่งจะมีลำตั้งแต่ 4 ลำต้นขึ้นไปทั้งสิ้น แสดงให้เห็นโดยปกติไม้สายพันธุ์นี้ การออกดอกต้องการช่วงการพักตัวและอาหารสะสมสูงกว่า ดังนั้นจึงต้องอาศัยจำนวนลำที่มากกว่าเพื่อสะสมอาหารและสร้างตาดอก และโดยปกติวิสัยเหลืองกระบี่ออกดอกได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นไม้ธรรมชาติหรือเพาะเลี้ยงก็ตามยกเว้นจะหาวิธีหรือกรรมวิธีการปลูกเลี้ยงพิเศษเพิ่มขึ้น โดยมีการศึกษาเลียนแบบธรรมชาติในการออกดอกของเหลืองกระบี่ ส่วนกรณีเหลืองตรังและขาวสตูลนั้น การออกดอกจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเจริญสุดลำจึงให้ดอก กล่าวคือ ใน 1 ต้นหากเจริญครบ 3-5 ใบที่สมบูรณ์แล้ว กระทบแล้งในเวลาที่เหมาะสม ก็จะให้ดอกได้ง่าย (คณิต, 2545)

โรงเรือน

รองเท้านารีโดยส่วนใหญ่จะอ่อนแอต่อแรงกระแทกของเม็ดฝน โรงเรือนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการปลูกเลี้ยง เพราะทำให้ควบคุมปริมาณแสงและความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนให้สม่ำเสมอได้ (อุไร, 2541)

วัสดุปลูก

รองเท้านารีสามารถใช้วัสดุปลูกได้หลายชนิด ได้แก่ อิฐมอญทุบ ถ่าน หินเกล็ด ออสมันดา ใบก้ามปูผุ ปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ผุหรือปุ๋ยคอก ดินขุยไผ่ เปลือกถั่วลิสงหมัก หรือโฟมหักเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ปลูกเลี้ยงควรเปลี่ยนวัสดุปลูกทุกปีหรือเมื่อวัสดุปลูกยุบตัว หรือเมื่อต้นแตกกอคับกระถาง สำหรับการเปลี่ยนเครื่องปลูกเมื่อเทวัสดุปลูกเก่าออกแล้วให้ใส่ของใหม่ ควรปลูกให้เสร็จทันทีไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะต้นไม้อาจชะงักการเจริญเติบโตได้ เนื่องจากรากของรองเท้านารีมีขนอยู่รอบๆ ถ้ารื้อออกแล้วปล่อยทิ้งไว้นานรากจะแห้ง และอย่าให้รากกระทบกระเทือนมากจะหักและขาด ควรระวังไม่ให้ใบมีรอยช้ำหรือเป็นแผล เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

ความชื้นสัมพัทธ์

ความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนหรือบริเวณที่ปลูกควรมีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 45% ในเวลากลางวัน และ 80% ในเวลากลางคืน แต่ต้องมีการถ่ายเทอากาศที่ดี ไม่ชื้นแฉะเกินไปจนสะสมโรค รองเท้านารีต้องการความชื้นสูง แต่ไม่ชอบแฉะความชื้นยิ่งมากยิ่งดี จะทำให้เจริญงอกงาม และเติบโตเร็ว (โอภาส, 2540)

ภาชนะปลูก

สามารถใช้ได้หลายชนิด ตั้งแต่กระถางพลาสติก กระถางดินเผา ตะกร้าพลาสติก อย่างไรก็ตามควรเลือกขนาดภาชนะปลูกให้เหมาะสมกับต้นไม่ให้ใหญ่หรือเล็กเกินไป

ชั้นวางกล้วยไม้

การทำชั้นวาง ทำให้ช่วยในการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศ ทำให้รองเท้านารีไม่เน่าง่าย และไม่ให้กระถางมีความชื้นสูงเกินไป สามารถปฏิบัติงานได้ง่ายและดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งให้ผลดีกว่าการวางกระถางบนพื้นการทำชั้นวางสามารถเลือกใช้วัสดุได้หลายประเภทตามวัตถุประสงค์และความคงทนถาวร เช่นอาจทำเป็นวางไม้ไผ่ ชั้นวางแกรงโปร่งพลาสติก หรือสำหรับรองเท้านารีที่มีระบบรากอากาศ การทำราวลวดดัดแขวนก็ให้ผลดีเช่นกัน

การจัดการด้านความเข้มแสง

เราทราบได้อย่างไรว่ารองเท้านารีชนิดใดต้องการความเข้มแสงมากหรือน้อยเพียงไร ในที่นี้ขอให้ศึกษาเรื่องถิ่นกำเนิดของรองเท้านารีเป็นหลัก สำหรับรองเท้านารีที่ต้องการความเข้มแสงสูงได้แก่ เหลืองกระบี่ เพราะมีถิ่นกำเนิดอยู่บนหน้าผาสูงในภาคใต้หรือหน้าผาบนเกาะในทะเล โดยส่วนใหญ่รองเท้านารีชนิดนี้ขึ้นบริเวณที่มีแสงแดดจัดจึงมีใบหนา และมีสีเขียวอมเหลือง (ความเข้มแสงประมาณ 2,000-2,500 ลักซ์ ความชื้นสัมพัทธ์ 55-70%) สำหรับรองเท้านารีที่ต้องการความเข้มแสงสูงแต่ต้องการความชื้นสัมพัทธ์น้อย (ประมาณ 2,000-2,500 ลักซ์ ความชื้นสัมพัทธ์ 50-65%) ได้แก่ ขาวสตูล เหลืองพังงา ช่องอ่างทอง เหลืองปราจีน รองเท้านารีเหล่านี้มีถิ่นกำเนิดอยู่บนภูเขาหินปูนตามซอกเขาหินปูนทางภาคใต้ และภาคตะวันออก ส่วนรองเท้านารีที่ต้องการความเข้มแสงน้อยและอากาศเย็น (ความเข้มแสงประมาณ 1,000-1,500 ลักซ์ ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95% และอุณหภูมิประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส) ได้แก่ คางกบคอแดง คางกบลาว คางกบปักษ์ใต้ คางกบเขมร สุขะกุล รองเท้านารีชนิดนี้ใบจะบาง มีถิ่นกำเนิดอยู่บนภูเขาป่าไม้ เจริญเติบโตอยู่บนพื้นดินที่มีการทับถมของใบไม้ผุ หากได้รับแสงแดดจัดใบจะเป็นโรคได้ง่าย รองเท้านารีที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้มากเกาะอยู่ตามคาคบไม้ มี 2 ชนิด ได้แก่ รองเท้านารีอินทนนท์ และเมืองกาญจน์ รองเท้านารีกลุ่มนี้ชอบแสงแดดรำไร และอากาศเย็น เป็นต้น

หากเป็นรองเท้านารีลูกผสม เราทราบได้อย่างไรว่าควรจัดสภาพแวดล้อมอย่างไร อันดับแรกต้องทราบว่าเป็นลูกผสมของรองเท้านารีพันธุ์ใดกับพันธุ์อะไร มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ไหน ถ้าหากไม่ทราบ สามารถจัดสภาพแวดล้อมได้ โดยการสังเกตจากความหนาบางของใบ ระบบราก และทรงต้น เช่น ถ้าเป็นลูกผสมของรองเท้านารีในกลุ่มคางกบ ใบจะลายเป็นจุดประเขียว ขาว ระบบรากเป็นแบบรากดิน จะฟูหนาใหญ่อวบน้ำ สามารถปลูกได้แบบคางกบ แต่ถ้าหากทรงต้นและดอกใกล้เคียงกับอินทนนท์ มีระบบรากแบบอากาศเป็นเส้น และปกคลุมด้วยขนฟูสั้นๆ การปลูกในกระถางแขวนเอาไว้ในที่แสงรำไรน่าจะเหมาะสมกว่า

การจัดการด้านอุณหภูมิ

เราสามารถแบ่งรองเท้านารีตามความต้องการอุณหภูมิได้ ดังนี้

กลุ่มที่ต้องการอากาศร้อนชื้นอบอ้าว ได้แก่ ขาวสตูล เหลืองพังงา และเหลืองปราจีนกลุ่มที่ต้องการอากาศเย็น ได้แก่ อินทนนท์ เหลืองเลย ดอยตุง และอินซิกเน่ย์กลุ่มที่ต้องการอากาศเย็นและชุมชื้น ได้แก่ รองเท้านารีกลุ่มคางกบ และสุขะกุล

ปุ๋ย สำหรับรองเท้านารี ปุ๋ยที่ใช้จะใช้ปุ๋ยสูตรซิมบีเดียมได้ ดังนี้

ปุ๋ย                                       ถัง A (กรัม/น้ำ 10 ลิตร)         ถัง B (กรัม/น้ำ 10 ลิตร)

HNO3                     10 ซีซี                                20 ซีซี 

NH4H2PO4                                    200                   -

Ca(NO3)2 H2O                -                                      500

KNO3                     400                                    400

MgSO4 7H2O                880                  880

UNILATE                    25                   -

* EC (25oC) = 1.0 ms/cm

การให้ปุ๋ยน้ำควรให้อัตราอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ส่วนปุ๋ยเกร็ดที่ให้ คือ ปุ๋ยทวินเพอร์ตี้ 21-21-21 ให้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง นอกจากนี้สามารถให้ปุ๋ยละลายช้าได้ โดยใช้สูตรปุ๋ยออสโมโค๊ท สูตร 14-14-14 สูตร 3 เดือน ใส่แต่ละกระถางประมาณ 5-10 กรัม/กระถาง หรือประมาณ ? ช้อนชา ในไต้หวันจะใส่ปุ๋ยนีในซองชาที่เป็นถุงผ้าใยรีเมย์ เย็บด้วยลวดเย็บกระดาษใส่ลงไปในกระถาง จะไม่ทำให้น้ำกระแทกโดนปุ๋ยหล่นหายออกไปจากกระถาง นอกจากนี้สามารถให้ปุ๋ยปลาได้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับฮอร์โมนเร่งรากรูทโกร อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนปุ๋ยอินทรีย์โดยปกติจะใช้วิธีการเติมเปลือกไม้สับเป็นปุ๋ยอินทรีย์หลัก หรืออาจใช้วิธีการหมักปุ๋ยหมักจากใบไม้ผุผสมขี้วัวก็ให้ผลดีเช่นกัน ถ้าสามารถหาใบจามจุรีหมักได้จะให้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งควรมีการเปลี่ยนกระถางหรือเพิ่มให้ทุกๆ ปี สำหรับเปลือกไม้สับควรเลือกชนิดที่มีเนื้อไม้สีน้ำตาลแดงจะให้ผลดีกว่าสีขาว เพราะเนื้อไม้สีขาวเชื้อรามักจะเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งสามารถทำให้รากของรองเท้านารีเน่าได้

จากการทดลองปลูกรองเท้านารีที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง พบว่ารองเท้านารีมีโรคและศัตรูพืชรบกวนไม่มากนัก โรคที่สำคัญคือ โรคโคนเน่า และดอกเน่าเท่านั้น ส่วนแมลงสำคัญที่พบมีชนิดเดียว คือ เพลี้ยไฟ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เพลี้ยไฟ (Thrips)

สาเหตุเกิดจาก Thrips palmi Karny และ Dichromothrips corbetti Priesner ระบาดมากในฤดูร้อน จะดูดกินน้ำเลี้ยงในดอก หรือยอดใบอ่อน ทำให้ใบไม่สมบูรณ์ กลีบดอกมีรอยด่างเป็นวงหรือจุดสีน้ำตาล

ลักษณะการทำลาย

1. อาการที่ดอกตูม เพลี้ยไฟจะดูดน้ำเลี้ยงทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ดอกตูมจะเป็นสีน้ำตาล และแห้งเหี่ยวคาช่อดอก หรือหลุดร่วงจากก้านช่อดอก

2. อาการที่ดอกบาน กลีบดอกจะมีสีวีดขาวในบริเวณที่กลีบซ้อนกัน ต่อมาแผลจะกลายเป็นสีน้ำตาล จึงเรียกว่า ดอกไหม้

การป้องกันกำจัด

1. เพลี้ยไฟระบาดมากในฤดูร้อนซึ่งมีอากาศร้อน จึงต้องคอยตรวจดูเพลี้ยไฟและฉีดยาเป็นประจำ

2. ฉีดพ่นด้วย ไดคาร์โซล หรือ สตาร์เกิลซ์ สำหรับการฉีดพ่นสารเคมีรองเท้านารีกลุ่มฟอร์มดอกกลมจะทำได้ง่ายกว่ากลุ่มกลีบแคบเพราะมีพื้นที่หลบซ่อนของเพลี้ยไฟมากกว่า ดังนั้นกลุ่มกลีบแคบต้องฉีดสารเคมีพ่นให้ทั่วถึง

โรคโคนเน่า

สาเหตุเกิดจากเชื้อราFusarium sp. มักเกิดกับกล้วยไม้ที่ได้รับน้ำมาก เครื่องปลูกแฉะ มีการระบายน้ำไม่ดี และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก

ลักษณะการทำลาย ทำให้รากเน่า และลุกลามไปยังใบจนเน่าเละทั่วทั้งต้น นอกจากนี้อาจเกิดการกัดกินของหอยทากจนเป็นแผลและมีเชื้อเข้าทำลาย

การป้องกันกำจัด

1. หมั่นเปลี่ยนเครื่องปลูกทุกๆ ปี รักษาความสะอาดต้น และภายในโรงเรือนอยู่เสมอ

2. ตรวงโรงเรือนให้อยู่ในสภาพที่มีลมเทได้สะดวกอยู่เสมอ

3. เมื่อต้นมีอาการเกิดขึ้น นำต้นออกจากกระถาง ตัดบริเวณที่เกิดอาการออกและนำไปทำลาย ทาแผลด้วยปูนแดงหรือทิงเจอร์ไอโอดีน ผึ่งให้แห้ง แล้วนำมาปลูกในเครื่องปลูกใหม่ หมั่นฉีดพ่นสารละลายทิงเจอร์ทุก 3-7 วัน ในระยะแรกไม่ควรรดน้ำให้โดนโคนต้นและใบมากนัก

โรคดอกเน่า

สาเหตุเกิดจากเชื้อราสีเทา Botrytris sp.

ลักษณะการทำลาย กลีบดอกที่กำลังบานหรือบานจะมีเชื้อราสีเขียวหม่นอมน้ำตาลขึ้นปกคลุมเป็นกระจุกอยู่ทั่วไป มองเห็นชัดด้วยตาเปล่า ทำให้กลีบดอกที่บานเต็มที่มีอาการเน่าช้ำเหมือนน้ำร้อนลวก ในตอนเช้าที่มีอากาศเย็นชื้นหรือช่วงฤดูฝน

การแพร่ระบาด เชื้อราชอบเกิดในที่มีอากาศหนาวเย็นอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 15-20 oC ความชื้นในอากาศสูงตามหุบเขาที่มีหมอกหรือน้ำค้างปกคลุมและฝนตกปรอยๆ ตลอดวัน หรือช่วงฤดูฝน ต้นฤดูหนาว จะพบโรคนี้ระบาด สปอร์ของเชื้อราแพร่ระบาดโดยปลิวไปตามลม

การป้องกันกำจัด

1.แยกต้นหรือตัดช่อดอกที่เป็นโรคออกจากโรงเรือนที่ปลูกกล้วยไม้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไปกับลมและน้ำ

2. พ่นสารในกลุ่มเบนโนมิล อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (ครรชิต, 2541; นิยมรัฐ, 2545 และ ปิยรัฐ, 2546)

การให้น้ำ

สำหรับรองเท้านารี คุณภาพน้ำมีความสำคัญมาก น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำสะอาด ไม่ขุ่นไม่มีตะกอน ซึ่งน้ำที่ดีที่สุด คือน้ำฝน สำหรับน้ำประปา ควรรองใส่ภาชนะทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน หรืออาจใช้หัวฉีดพ่นฝอยละเอียดเพื่อให้คลอรีนระเหยออกไปก่อน (อุไร, 2541) จากการนำรองเท้านารีฝาหอยที่เลี้ยงด้วยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นน้ำที่มีหินปูนมาปลูกที่หน่วยขุนห้วยแห้งและด้วยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่มีหินปูน พบว่าหลังจากน้ำที่ไม่มีหินปูนขจัดคราบหินปูนที่จับบนใบออกไป ต้นสามารถเจริญเติบโตได้ดีและแตกกอได้อย่างรวดเร็ว

การรดน้ำ

ถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญยิ่ง ที่ต้องอาศัยดุลพินิจพิเคราะห์เองว่า ควรมากน้อยเพียงไหน ไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนคำแนะนำที่กล่าวมาแล้ว การให้น้ำควรคำนึงถึงความเหมาะสม รองเท้านารีที่ปลูกในกระถางจะให้บ่อยกว่าที่อยู่ในแปลง และรองเท้านารีที่มีวัสดุปลูกโปร่งและหยาบจะให้ถี่กว่าวัสดุปลูกที่แน่นทึบและละเอียด นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสถานที่ปลูกเลี้ยง ว่ามีกระแสลมพัดผ่านมากน้อยเพียงใด มีความชื้นในโรงเรือนเท่าไร ซึ่งผู้ปลูกเลี้ยงต้องอาศัยการสังเกตด้วยตัวเองว่า ปริมาณการให้น้ำมากน้อยเพียงเดียวหรืออาจจะเช้า/เย็นก็ได้ จากประสบการณ์พบว่าการให้น้ำในช่วงเช้าตรู่ประมาณ 6.00-7.00 น. จะให้ผลดีกว่าในช่วงสาย เที่ยง หรือบ่าย ซึ่งโดยปกติตามรังกล้วยไม้ทั่วไป มักจัรดน้ำตอนเช้าตรู่ก่อนดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ในรอบวัน

การเก็บเกี่ยว

ควรทำการเก็บเกี่ยวต้นออกจากแปลง หรือย้ายปลูกประมาณเดือนเมษายน เพราะช่วงนี้รองเท้านารีกำลังพักตัว การเก็บเกี่ยวดอกหรือจำหน่ายทั้งกระถางจะทำในช่วงที่รองเท้านารีแต่ละชนิดออกดอก ซึ่งแตกต่างกันดังนี้ (Krasaechai et. al, 2004)

ข้อมูลการเจริญเติบโตและการปรับตัวเบื้องต้น

ตาราง : ความสามารถในการปรับตัวและออกดอกของรองเท้านารีแต่ละชนิดที่ปลูกที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร

ระยะเก็บเกี่ยว

ดอกบานได้ 3-4 วัน เป็นดอกไม้ที่อ่อนแอต่อเอธิลีนมาก (มูลนิธิโครงการหลวงและสำนักพัฒนาเกษตรที่สูง, 2547)

วิธีการเก็บเกี่ยว

การตัดดอกหรือค้ำต้น มีความจำเป็นสำหรับการจำหน่าย เพราะต้นที่ไม่ได้ตัดหรือค้ำดอก ดอกจะคู้ลง บางครั้งดอกมีขนาดใหญ่เกินไป อาจคู้ลงแนบกับกระถางทำให้ไม่มีความสง่า ผึ่งผาย การดัดช่อดอกทำได้โดยการเริ่มตั้งแต่ดอกเริ่มบาน ดัดโดยใช้ไม้หรือลวด ผูกด้วยลวดไวนิลมัดขนมให้ก้านตั้งตรงก่อนจำหน่าย สามารถจัดตกแต่ง เช็ดใบ หรือตัดใบที่เป็นโรคออกไปได้

การดัดดอก

จะทำเมื่อดอกใกล้จะบาน โดยการดามช่อดอกกับไม้หรือพลาสติกก้านลูกโป่ง การพันก้านจะขึ้นอยู่กับความประณีตของผู้ตกแต่ง บางรายจะใช้สำลีหุ้มก้านช่อดอกก่อน บางรายจะใช้กิ๊บหนีบผม แต่ที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้งจะใช้ลวดมัดขนมไวนิลหรือลวดฟิวส์สายโทรศัพท์มัดก้านช่อดอก นอกจากก้านช่อดอกแล้ว การหันทิศของดอกก็มีความสำคัญเช่นกัน การดัดดอกที่ดีต้องจัดดอกให้บานตรงกลางระหว่างใบ ส่วนการจัดมุมแหงนของดอกต้องได้จังหวะไม่ก้มหรือหงานเกินไป การค้ำก้านดอกจะมีความสำคัญกับรองเท้านารีลูกผสมมากเพราะดอกมีขนาดใหญ่มากจนก้านช่อดอกรับน้ำหนักไม่ไหว การตัดใบให้ทำเฉพาะใบที่มีสีเหลือง การทำความสะอาดใบให้เช็ดเบาๆ เพราะอาจจะมีคราบปุ๋ยและสารเคมีป้องกันศัตรูพืชติดอยู่ สำหรับสาหร่ายให้ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนหรือกระดาษทิชชูถูและเช็ดออกเบาๆ สำหรับรองเท้านารีที่มีใบลายหรือใบม่วง หากได้รับปุ๋ยปลาจนต้นสมบูรณ์แข็งแรง ใบที่ได้จะสวยงามมากจนมองดูเหมือนพรายน้ำสะท้อนแสงติดอยู่ที่ใบ ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นอีกอย่างของรองเท้านารีที่มีลายใบ สำหรับรองเท้านารีนั้นนอกขากเป็นไม้กระถางแล้ว ยังสามารถใช้ตกแต่งสวนได้อีกด้วย ซึ่งการจัดตกแต่งสวนมีข้อควรระวังอยู่ 2 ข้อ คือ ห้ามรดน้ำสัมผัสดอก และห้ามทำการผสมเกสร ขณะจัดตกแต่งหรือวางประดับเด็ดขาด เพราะจะทำให้อายุใช้งานสั้นลง โดยปกติจะสามารถจัดวางได้ประมาณ 1-3 เดือน

การแช่น้ำยา (ส่วนประกอบของน้ำยารักษาสภาพและวิธีการแช่)

จากการทดลองปักแจกันดอกรองเท้านารีคางกบลาวที่มีความยาวก้านช่อดอกตั้งแต่ 19, 21, 23, 25, 27 และ 30 เซนติเมตร พบว่าความยาวก้านช่อดอกมีผลต่ออายุปักแจกัน ความยาวก้านช่อดอกที่มีอายุปักแจกันได้นานที่สุด คือความยาวก้านช่อดอก 25 เซนติเมตร ซึ่งสามารถปักแจกันได้นาน 34.4 วัน

จากการทดลองน้ำยายืดอายุปักแจกันของรองเท้านารีคางกบลาว โดยใช้ความยาวก้านช่อดอกเท่ากัน คือ 25 เซนติเมตร พบว่าการใช้น้ำสะอาดจะให้ผลดีกว่า 8HQ หรือ AgNO3 ทำให้อายุปักแจกันได้นานที่สุด 34.4 วัน เช่นกัน (Krasaechai et. al, 2004) อย่างไรก็ตามการปลูกรองเท้านารีเพื่อตัดดอกคงไม่คุ้มทุนนักเพราะออกดอกปีละหนึ่งครั้ง ในต้นที่ออกดอกแล้วจะไม่สามารถออกดอกได้อีก อายุปักแจกันถึงแม้จะนานแต่ราคาจำหน่ายยังไม่คุ้มทุนเท่าการจำหน่ายเป็นไม้กระถาง การจำหน่ายเป็นไม้ตัดดอกควรบรรจุก้านดอกลงในหลอดแก้วหรือหลอดพลาสติกที่มีน้ำ โดยตัดก้านช่อดอกแล้วแช่น้ำทันที ส่วนการขนส่งเป็นไม้กระถางควรใส่ในถุงสลิปก่อน เพื่อป้องกันการกระแทกระหว่างการขนส่ง หากสามารถห่อดอกได้ ก็ควรทำโดยการใช้กระดาษว่าวที่เกษตรกรนิยมใช้ห่อท้อหรือห่อดอกเบญจมาศห่อดอกก่อนขนส่งก็ได้

อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษา

โดยการแช่น้ำที่อุณหภูมิ -0.5-4 องศาเซลเซียส ได้นาน 2-3 สัปดาห์ (มูลนิธิโครงการหลวงและสำนักพัฒนาเกษตรที่สูง, 2547) ดอกบานที่ติดอยู่กับต้นอาจมีอายุนานถึง 1-3 เดือน

ข้อแนะนำอื่นๆ

เมื่อคราวที่ท่านศาตราจารย์ระพี สาคริก มาเยี่ยมหน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง ท่านได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ในด้านการขยายพันธุ์สำหรับเกษตรกรชาวเขานั้น ควรเริ่มจากการแบ่งและแยกกอก่อน โดยใช้วิธีเหมือนที่ชาวบ้านเก็บออกจากป่ามาจำหน่าย คือ จะเลือกเด็ดมาเฉพาะต้นที่มีขนาดต้นโตไล่เลี่ยกัน มีรากและสามารถปลูกแล้วรอดตายได้ โดยเก็บมาแล้วมัดรวมกัน จะไม่ดึงมาทั้งกอเพราะถ้าหากเขาเก็บหมด คราวหน้าเขาก็จะไม่มีให้เก็บ ซึ่งเราสามารถเอามาสร้างจิตสำนึกให้กับเขาได้ ให้เขาหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้การเดินทางขึ้นไปเก็บออกจากป่ามาจำหน่ายนั้น ต้นจากป่าไม่สวยเหมือนต้นที่นำมาปลูกแล้วระยะหนึ่ง หากมีปลูกอยู่แล้วในแปลง ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นไปเก็บมาใหม่ การปลูกลงแปลงเพียงครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวต้นไปจำหน่ายได้เรื่อยๆ ต้นในป่าก็จะเพิ่มขึ้นเพราะไม่ได้ถูกเก็บมาจำหน่าย นอกจากนี้การโรยเมล็ดรอบๆ กระถางหรือรอบแปลงปลูกก็สามารถเพิ่มปริมาณต้นได้เช่นเดียวกัน เมื่อต้นกล้ามีใบ 3-4 ใบ และมีรากแล้ว จึงสามารถย้ายออกปลูกได้ต่อไป

การผลิตรองเท้านารีในประเทศไต้หวัน

เมื่อครั้งที่คณะผู้เรียบเรียงได้มีโอกาสศึกษาดูงานด้านการผลิตกล้วยไม้ที่ไต้หวัน อาจารย์ Keng Chang Chuang ซึ่งทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยเกษตรแห่งไต้หวัน (Taiwan Agriculture Research Institute, TARI) ได้นำเรามาดูงานที่บริษัท Era Biotechnology ซึ่งอยู่ในจังหวัดไชยี่ มีผู้จัดการ คือ คุณ Eric Lai ที่นี่มีรองเท้านารี 3 โรงเรือน ดัดแปลงจากโรงเรือนเลี้ยงไก่ เป็นโรงเรือนที่มี cooling pad พัดลมตัวใหญ่และเล็ก และมีพัดลมเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์อยู่ด้านล่างคอยเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศ มีลักษณะคล้ายหมอกบางๆ สำหรับวัสดุปลูกที่นี่จะใช้หินโม่ รากเฟิน และเปลือกถั่ว บางชนิดใช้สแฟกนัมมอส ที่นี่จะมีเทคนิคการให้ปุ๋ยละลายช้า โดยใส่ลงในซองชาประมาณ 1 ช้อนชา การผสมปุ๋ยสำหรับรองเท้านารีจะใช้ปุ๋ยเกรดอย่างดี ทำให้การละลายไม่มีกากตกค้างจับอยู่ตามใบ รองเท้านารีที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นรองเท้านารีลูกผสมได้จากการเพาะเมล็ด โดยที่จะมีการดูแลอย่างดี ทำให้ต้นกล้าที่ได้มีความสม่ำเสมอมาก ส่วนใหญ่เป็นประเภทดอกเดี่ยวซึ่งสามารถออกดอกได้ใน 1-2 ปี ถ้าเป็นดอกช่อจะใช้เวลา 3-5 ปี ราคาจำหน่ายต่อต้นประมาณ 100 NT ขึ้นไป บางต้นออกดอกสามารถบานได้ทนถึง 2 เดือน โดยไม่เหี่ยวเฉา จึงเป็นไม้กระถางที่น่าสนใจมากในไต้หวัน ตลาดหลักที่สำคัญจะเป็นตลาดภายในท้องถิ่น คือตลาดพันธุ์ไม้ที่เทียนเว่ย ในขณะนี้ที่ไต้หวันมีบริษัทหรือเนิร์สเซอรี่เอกชนหลายแห่ง ได้สนใจรวบรวมพันธุ์รองเท้านารีพันธุ์แท้เพื่อนำมาปรับปรุงพันธุ์กันมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่ารองเท้านารีลูกผสมจะเป็นกล้วยไม้กระถางส่งออกที่สำคัญของไต้หวันต่อจากฟาแลนนอปซิสอย่างแน่นอน (Chuang, 2545)


เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.