องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ซิมบีเดียม

 

ชื่อสามัญ    Cymbidium

ชื่อวิทยาศาสตร์    Cymbidium sp.

ซิมบีเดียมเป็นกล้วยไม้สกุลหนึ่งที่มูลนิธิโครงการหลวงได้นำมาศึกษาการปลูกเลี้ยงบนที่สูงตั้งแต่ พ.ศ. 2515 เพื่อศึกษาและทดลองปลูกเลี้ยง  ซิมบีเดียมบนที่สูงว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ชาวเขาปลูกตัดดอกจำหน่าย โดยได้นำพันธุ์พื้นเมืองของประเทศ และพันธุ์ลูกผสม นำเข้าจากประเทศต่างๆ ได้แก่ ผรั่งเศส ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ ปัจจุบันพบว่าซิมบีเดียมเหล่านี้สามารถปลูกเลี้ยงและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และเป็นที่ต้องการของตลาด

ซิมบีเดียมเป็นไม้ดอกที่มีปริมาณความต้องการของตลาดมาก ราคาจำหน่ายแพงแต่มีจุดอ่อนที่เป็นพืชที่ออกดอกปีละครั้ง ซิมบีเดียมแต่ละชนิดจะทยอยออกดอกตั้งแต่ปลายฤดูฝนไปจนถึงต้นฤดูร้อน การส่งเสริมการปลูกจึงประกอบด้วย 2 แนวทาง คือ 

1. การผลิตเป็นไม้ตัดดอก เป็นการผลิตที่ต้องใช้พื้นที่มาก แต่ต้นทุนการผลิตต่ำ ต้องการการดูแลเฉพาะช่วงให้ผลผลิต จากการปลูกซิมบีเดียมในร่มเงาไผ่พบว่าลงทุนน้อยและให้ผลผลิตในปริมาณมากกว่าการปลูกไม้ตัดดอกในโรงเรือนพลาสติก เหมาะกับเกษตรกรที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ปลูกไม้ผลหรือสวนป่าอยู่แล้ว เนื่องจากซิมบีเดียมออกดอกปีละ 1 ครั้ง และออกดอกในฤดูหนาวที่ไม่มีฝนตก ทำให้ผลผลิตไม่ได้รับความเสียหาย

2. การผลิตเป็นไม้กระถาง เป็นการผลิตใช้พื้นที่น้อย ต้นทุนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโรงเรือน และชั้นวางต้นไม้ วิธีนี้เหมาะกับเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อยและมีโรงเรือนอยู่แล้ว การปลูกระบบนี้ต้องการการดูแลต้นไม้แบบประณีต แต่ให้ผลคุ้มค่า วิธีการนี้เกษตรกรต้องมีปริมาณต้นพันธุ์เพียงพอ หรือมีแม่พันธุ์อยู่แล้วบางส่วน

เนื่องจากเราพบซิมบีเดียมบนพื้นที่สูงของประเทศ ดังนั้นควรเป็นพื้นที่สูงที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น หรือหากเป็นพื้นที่ต่ำก็ควรใช้พันธุ์ซิมบีเดียมที่เหมาะสมและสามารถปลูกได้ในอากาศไม่ร้อนมากนัก ซึ่งเป็นพันธุ์ที่สามารถออกดอกได้ในฤดูร้อนหรือออกดอกได้ดีในพื้นที่ต่ำ การเลือกสถานที่ปลูกเลี้ยงควรมีระดับความสูง 1,200-1,300 เมตร เป็นพื้นที่โล่งแจ้งในที่ลาดหันหน้ารับแสงแดดทางทิศตะวันออก สถานที่ดังกล่าวควรมีช่องทางรับลมเข้ามาทางทิศใต้ซึ่งจะช่วยให้ใบของซิมบีเดียมไม่ร้อนจัด ในฤดูร้อนสถานที่ที่ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่นั้นอาจทำให้เกิดการอับลมขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้ซิมบีเดียมไม่เจริญเท่าที่ควรจึงควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าว ถึงแม้จะมีความชื้นของอากาศสูงกว่าที่โล่งแจ้งก็ตาม (พิศิษฐ์, 2519)

ซิมบีเดียมสามารถจำหน่ายได้หลายลักษณะ เช่น จำหน่ายเป็นไม้กระถาง ไม้ตัดดอกหรือเด็ดดอกเป็นเข็มกลัดจำหน่าย ซิมบีเดียมจัดเป็นไม้ตัดดอกที่มีปริมาณผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอยู่ในขณะนี้ สำหรับการส่งให้กับฝ่ายตลาดของมูลนิธิโครงการหลวงนั้น จะมีราคาส่งอยู่ที่เฉลี่ยราคาดอกละ 10 บาท ปัจจุบันพบว่าได้มีซิมบีเดียมกระถางจากเมืองจีนเข้ามาจำหน่ายในตลาดพันธุ์ไม้บ้างแล้ว ซึ่งมีทั้งชนิดดอกใหญ่และชนิดดอกเล็ก โดยมีราคาจำหน่ายตั้งแต่ 300-1,500 บาท/กระถาง แต่ละกระถางจะมีช่อดอก 2-4 ช่อ สำหรับประเทศไทยลูกค้ามักจะนิยมซิมบีเดียมลูกผสมสายพันธุ์ยุโรปทั้งดอกใหญ่และเล็กแต่ไม่นิยมสายพันธุ์พื้นเมืองเหมือนไต้หวัน

การขยายพันธุ์

ซิมบีเดียมสามารถทำได้หลายวิธี คือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การแบ่งกอ การปลูกตะเกียง สำหรับการปลูกโดยทั่วไปจะนิยมการแบ่งกอมากกว่าวิธีอื่นๆ แต่หากทำเป็นการค้าโดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพราะจะลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้แต่ก็ให้ผลช้ากว่า ประมาณ 3-5 ปี จึงจะให้ดอก ในทางการค้าที่ไต้หวันจึงนิยมทำแปลงแม่พันธุ์ต่างหากเพื่อทำการแบ่งกอโดยเฉพาะ ต้นที่ได้จากการแบ่งกอหากมีลำลูกกล้วยประมาณ 3-5 กอ ก็สามารถออกดอกได้ภายในปีแรก แต่หากน้อยกว่านี้ก็อาจไม่ออกดอกก็เป็นได้ แม่พันธุ์เหล่านี้เจ้าของเนิร์สเซอรี่จะใช้วิธีการพ่นด้วยฮอร์โมนเพื่อเพิ่มการแตกกอจากนั้นจึงทำการบำรุงต้นใหม่ อย่างไรก็ตามต้นที่ได้จากการแบ่งกอ จะได้ลักษณะการแตกกอไม่สวยเท่าต้นจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่วนมากจะมีการเอนไปด้านใดด้านหนึ่ง การแบ่งและแยกกอบางครั้งจะมีกออัดกันแน่นมาก ผู้แบ่งอาจจำเป็นต้องผ่าแบ่งถูกลำลูกกล้วยได้ นอกจากนี้ควรเอากอที่มีลำลูกกล้วยเก่าที่ไม่มีใบออกด้วย เพราะลำลูกกล้วยเก่านี้จะไม่มีการเจริญต่อหากนำมาปลูกเป็นไม้กระถางจะทำให้ภาพรวมของกระถางไม่ดี ในต่างประเทศจึงพยายามใช้วัสดุปลูกที่ง่ายในการแบ่งกอ เช่น มีหินโม่หรือรากเฟินสับ เพราะรากจะเกาะอยู่ไม่อัดแน่นจึงทำให้สามารถแยกออกได้โดยง่าย

การอนุบาล

1. การออกขวด มีขั้นตอนดังนี้ นำต้นซิมบีเดียมจากสภาพปลอดเชื้อมาวางไว้ในโรงเรือนที่จะทำการออกขวดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมก่อนเป็นระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นจึงนำต้นออกจากขวด การเอาออกจะขึ้นอยู่กับภาชนะที่บรรจุ เช่น ถ้าเป็นขวดมีปากกว้างสามารถนำปากคีบดึงเอาต้นซิมบีเดียมออกมาได้ หรือหากเป็นขวดแบนยาวการห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วทุบก้นขวดออกจะทำให้กระทบกระเทือนต้นได้น้อยกว่า จากนั้นจึงล้างเอาวุ้นออกด้วยแปรงสีฟัน หรือถูด้วยมือแล้วฉีดด้วยน้ำเบาๆ ถ้าหากรากมีการหักหรือเน่าให้ตัดออกและให้เหลือไว้เฉพาะรากที่แข็งแรง เมื่อบีบดูยังแข็งอยู่ภายในไม่นิ่มหรือกลวง นำต้นซิมบีเดียมจุ่มในสารเคมีป้องกันเชื้อรา แบ่งเป็นกลุ่มตามขนาดของต้น วางพักไว้ 1 คืน ผสมวัสดุปลูกที่มีส่วนผสมของขุยมะพร้าว เปลือกไม้ผุ และไม้ผุอัตราส่วน 1:1:1 นำวัสดุปลูกบรรจุลงในตะกร้าที่บุก้นด้วยโฟมบิขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือ ปลูกซิมบีเดียมเป็นแถวเพื่อให้ใบไม่ชิดหรือบังกัน จากนั้นจึงนำไม้ผุที่สับและร่อนเป็นชิ้นเล็กโรยทับผิวหน้าและรดน้ำให้ชุ่ม ในระยะแรกควรระมัดระวังเรื่องการให้น้ำไม่ให้น้อยหรือมากเกินไป เราจะสามารถรู้ได้ว่าต้นกล้าเริ่มตั้งตัวได้ เมื่อใบเริ่มเขียวขึ้นหลังจากนี้ต้นกล้าจะเริ่มแข็งแรงขึ้นมีใบใหม่งอกขึ้นมาเพิ่มเติม จนมีขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร จึงเริ่มย้ายลงกระถางเดี่ยวขนาด 4 นิ้วโดยใช้วัสดุปลูกเดิมต่อไป

2. การเปลี่ยนกระถางหลังจากที่ต้นกล้าซิมบีเดียมมีขนาด 20 เซนติเมตรขึ้นไป จึงย้ายลงกระถาง 6 นิ้ว ระยะนี้ซิมบีเดียมจะมีจำนวนใบและขนาดลำลูกกล้วยขนาดใหญ่ขึ้นแต่ไม่มีการแตกกอเพิ่มขึ้น จากงานทดลองผลของวัสดุปลูกที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของซิมบีเดียมนิวซีแลนด์ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มดอกขนาดกลางหรือเล็ก และกลุ่มดอกขนาดใหญ่ กลุ่มละ 4 พันธุ์ โดยใช้วัสดุปลูกที่แตกต่างกัน 4 ชนิด พบว่าขุยมะพร้าว ใบไม้ผุ กิ่งไม้ผุ อัตราส่วน 1:1:1 เป็นวัสดุปลูกที่เหมาะสมที่สุด จนกระทั่งเมื่อต้นเริ่มมีความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร จึงเริ่มย้ายลงกระถาง 9 นิ้วต่อไป ซึ่งที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้งได้ใช้วัสดุปลูกด้วยใยมะพร้าวรองก้นด้วยอิฐมอญทุบ และโรยผิวหน้าด้วยหน้าดิน และคลุมด้วยใบไม้ผุหนาประมาณ 1 เซนติเมตร พบว่าต้นกล้าซิมบีเดียมสามารถออกดอกได้ภายใน 3 ปี หลังจากที่มีลำลูกกล้วยประมาณ 3 ลำ

ช่วงระยะเวลาที่ใช้ในการขยายพันธุ์

ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ช่วงที่ซิมบีเดียมไม่ออกดอกหรือพักตัว เริ่มตั้งแต่ช่วงประมาณเดือนมีนาคม – มิถุนายน หากล่าช้าไปกว่านี้กล้วยไม้จะเริ่มออกดอก หากผ่าเป็นกอย่อยมากช่อดอกจะเล็กและไม่ออกดอกได้

1. แนวความคิดปลูกซิมบีเดียมตามแนวลาดชัน เป็นแนวความคิดเดิม โดยอาจารย์พิศิษฐ์ วรอุไร ที่ได้บุกเบิกการปลูกซิมบีเดียมบนดิน เป็นแนวความคิดที่ปลูกที่ห้วยทุ่งจ้อและสถานีฯ ฝึกชาวเขาขุนช่างเคี่ยน ซึ่งเป็นพื้นที่ลาดชันมีการถ่ายเทอากาศดี โดยแบ่งเป็น 2 แนวคิดย่อย คือ การปลูก ซิมบีเดียมในกระบะ และการปลูกซิมบีเดียมบนดิน สำหรับหน่วยวิจัยขุนห้วยแห้งได้นำซิมบีเดียมที่นำเข้าจากฝรั่งเศสมาปลูกและดูแลรักษาอยู่ในขณะนี้

2. แนวความคิดปลูกซิมบีเดียมแบบสวนป่า คือการปลูกซิมบีเดียมภายใต้ร่มเงาของไม้ยืนต้น ต้นไม้ที่พบว่าให้ผลดีคือไผ่หมาจู๋ หรือถั่วมะแฮะ เนื่องจากเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากสวนป่านี้ร่วมกับซิมบีเดียมได้ เพราะซิมบีเดียมจะออกดอกปีละครั้งเท่านั้น ในช่วงฤดูหนาวซึ่งไม่มีฝนตก จึงไม่ทำให้ผลผลิตเสียหาย แต่อย่างไรก็ตามสวนป่าเหล่านี้ยังมีการเจริญเติบโตอยู่เรื่อยๆ ต่อไป ซึ่งอาจพรางแสงต้นซิมบีเดียมทำให้การเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควรได้ ต้องมีการตัดสางต้นอยู่เสมอ

3. แนวความคิดปลูกซิมบีเดียมในโรงเรือนพลาสติกโค้ง เป็นการปลูกซิมบีเดียมภายใต้โรงเรือน โดยใช้ระยะระหว่างต้น 1.5-2 เมตร ตามทรงพุ่ม เป็นการทดลองปลูกในโรงเรือนพลาสติกโค้งเดิมที่เกษตรกรนิยมใช้ปลูกเบญจมาศ แล้วพรางแสงด้านบนและด้านข้างด้วยตาข่ายพรางแสง 50 เปอร์เซ็นต์

4. แนวความคิดปลูกซิมบีเดียมในโรงเรือนขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 แนวคิดย่อยคือ 1) การปลูกซิมบีเดียมบนดินเพื่อตัดดอก และ 2) การปลูกซิมบีเดียมในกระถางยกพื้นเพื่อตัดดอกหรือทำเป็นไม้กระถาง แนวความคิดเดิมของ อาจารย์พิศิษฐ์ วรอุไร แต่ผลที่ได้คือใช้พื้นที่มากไม่คุ้มต่อค่าใช้จ่าย ซิมบีเดียมแต่ละกอออกดอกไม่สม่ำเสมอ ก้านดอกโค้งงอ การผ่าแบ่งกอยาก หากปลูกไปนานๆ อาจเกิดปัญหาการระบาดของไวรัสได้ แต่มีข้อดีที่ซิมบีเดียมออกดอกอยู่ภายใต้หลังคาจึงไม่ได้รับความเสียหายจากสภาพแวดล้อม ส่วนแนวความคิดการปลูกซิมบีเดียมในกระถางยกพื้น ได้เกิดขึ้นภายหลังจากการที่คณะผู้วิจัยได้เดินทางไปดูงานที่ไต้หวัน ได้เห็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้มากที่สุด และมีท่านผู้รู้หลายท่านได้เดินทางเข้ามาเยี่ยมชมและได้ให้คำแนะนำเอาไว้

5. แนวความคิดปลูกซิมบีเดียมกระถางนอกโรงเรือน เป็นแนวความคิดของการปลูกซิมบีเดียมของบริษัทจีเนียน ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ได้นำมาใช้ปลูกซิมบีเดียมในกระถางขนาดใหญ่ประมาณ 12 นิ้ว บนชั้นวางยกพื้นตามแนวขวางทางลาดชัน และมีตาข่ายพรางแสงเป็นระยะ

โดยสรุปแล้ว ผู้เรียบเรียงมีความคิดว่าแนวทางที่ 4 และ 5 น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเกษตรกรบางรายมีโรงเรือนอยู่แล้ว แม้ซิมบีเดียมออกดอกได้ปีละครั้ง ก็มีแนวทางอื่นๆ ในการใช้พื้นที่ให้เกิดคุณค่าได้ เช่น การปลูกลงกระถางนอกโรงเรือนในช่วงที่ยังไม่ได้ให้ผลผลิตดังกล่าว การนำเข้ามาดูแลรักษาอย่างประณีตในโรงเรือนก่อนออกดอกประมาณ 2 เดือน น่าจะทำให้ลดต้นทุนได้อย่างมาก ทั้งนี้และทั้งนั้นเกษตรกรควรทราบว่าซิมบีเดียมพันธุ์ใดจะออกดอกเมื่อไร เพื่อจะได้จัดทำปฏิทินการออกดอกเพื่อหมุนเวียนพันธุ์เข้ามาดูแลรักษาในโรงเรือนได้อย่างเหมาะสม

การเตรียมการปลูกและการปลูก

สำหรับการเลือกพื้นที่ปลูก เนื่องจากเราพบซิมบีเดียมบนพื้นที่สูงของประเทศ ดังนั้นควรเป็นพื้นที่สูงที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น หรือหากเป็นพื้นที่ต่ำก็ควรใช้พันธุ์ซิมบีเดียมที่เหมาะสม และสามารถปลูกได้ในอากาศไม่ร้อนมากนักซึ่งควรเลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสมที่สามารถออกดอกได้ในฤดูร้อน หรือออกดอกได้ดีในพื้นที่ต่ำ จากการตรวจเอกสารทำให้เสนอแนะแนวทางได้ดังนี้ การเลือกสถานที่ปลูกเลี้ยงควรมีระดับความสูง 1,200-1,300 เมตร เป็นพื้นที่โล่งแจ้งในที่ลาดหันหน้ารับแสงแดดทางทิศตะวันออก สถานที่ดังกล่าวควรมีช่องทางรับลมเข้ามาทางทิศใต้ ซึ่งจะช่วยให้ใบของซิมบีเดียมไม่ร้อนจัดในฤดูร้อน สถานที่ที่ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่นั้น อาจทำให้เกิดการอับลมขึ้นซึ่งเป็นเหตุให้ซิมบีเดียมไม่เจริญเท่าที่ควรจึงควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าว ถึงแม้จะมีความชื้นของอากาศสูงกว่าที่โล่งแจ้งก็ตาม การปลูกแต่เดิมใช้วิธีการนำต้นซิมบีเดียมที่ผ่ากอแล้วมาปลูกอยู่ในหลุมที่ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นนำเอากอซิบีเดียมวางลงไป ใช้ใบไม้ผุกลบด้านข้างแล้วรดน้ำให้ชุ่ม อย่างไรก็ดีวิธีการนี้ใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก แต่เดิมใช้วิธีการปลูกโดยได้กระบะไม้ ก้นกรุด้วยลวดตาข่ายและทำการปลูกลงแปลงบนพื้นดิน มีออสมันด้า ใบไม้และกิ่งไม้เป็นเครื่องปลูก อาจารย์พิศิษฐ์ได้แนะนำวิธีการปลูกซิมบีเดียม ซึ่งอาจจะทำได้สองแบบ คือ ปลูกลงบนพื้นดินที่ลาดเอียงและมีการระบายน้ำดีแบบหนึ่ง กับอีกแบบหนึ่งคือการปลูกในกระบะไม้ที่ลึกประมาณ 20 เซนติเมตร ขนาดกว้าง?ยาว เท่ากับ 30?45 เซนติเมตร และก้นกระบะเป็นลวดตาข่ายขนาด 1 เซนติเมตร เมื่อปลูกเสร็จ ตั้งกระบะบนร้านสูง 30 เซนติเมตร ก็ได้ ทั้งสองแบบมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน

การเตรียมดิน

การปลูกแต่เดิมใช้วิธีการนำต้นซิมบีเดียมที่ผ่ากอแล้วปลูกอยู่ในหลุมที่ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นนำเอากอซิมบีเดียมวางลงไปใช้ใบไม้ผุกลบด้านข้างแล้วรดน้ำให้ชุ่ม

เทคนิควิธีการปลูก

1. การปลูกลงกระถาง การผลิตซิมบีเดียมเพื่อตัดดอก ควรปลูกในภาชนะที่ใหญ่ น้ำหนักควรให้สมดุลกับต้นและดอก หากใช้วัสดุปลูกที่เบาเกินไปจะเกิดปัญหากระถางล้มได้ เพราะรับน้ำหนักดอกและต้นไม่ไหว หากใช้วัสดุปลูกที่หนักเกินไป จะเป็นภาระต่อการเคลื่อนย้ายและชั้นวางต้องมั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้วัสดุปลูกที่ใช้ควรมีลักษณะร่วนไม่เกาะราก สามารถสลัดออกได้ง่าย เพื่อให้ง่ายต่อการแบ่งหรือแยกกอต่อไป ในขณะที่การผลิตดอกเพื่อผลิตเป็นไม้กระถาง ควรปลูกในภาชนะทรงสูง ขนาดเล็กรับกับรูปทรงของใบและดอก วัสดุปลูกควรมีน้ำหนักเบา เพื่อให้ง่ายต่อการขนส่งและจำหน่าย เนื่องจากซิมบิเดียมสามารถใช้วัสดุได้หลายชนิด ดังนั้นควรเลือกชนิดที่หาได้ง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น สำหรับการทำชั้นวางสามารถเลือกทำได้ทั้งชั้นวางที่ทำจากไม้ เหล็กหรือปูนซีเมนต์ ขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์และโรงเรือน

2. การปลูกลงแปลง จากการทดลองของพิศิษฐ์และวิสันต์ (2516) ที่ได้ทดลองปลูกซิมบิเดียมพื้นเมืองในวัสดุปลูกลงแปลง พบว่าวัสดุปลูกที่น่าจะเหมาะสมใช้ในการปลูก ควรเป็นมอส อ๊อสมันด้า ใบไม้ และกิ่งไม้ อัตราส่วน 2:1:4:3 ซึ่งในการทดลองนี้ได้ดัดแปลงใช้ขุยมะพร้าว และแกลบดิบแทนมอส ส่วนใยมะพร้าวใช้แทนอ๊อสมันด้า ใช้ทดแทนวัสดุดังกล่าวเพราะหาง่ายกว่าในท้องถิ่น

3. การปลูกลงแปลงภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ Krasaechai et al. (2004) ได้ทำการทดลองปลูกซิมบีเดียมจากไต้หวัน 2 พันธุ์ ได้แก่ Lunata Suntan และ Kenny เพื่อศึกษาวิธีการปลูกที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมให้ผลิตเพื่อตัดดอกของ


มูลนิธิโครงการหลวงโดยได้ทดลองวิธีการปลูกที่แตกต่างกัน 2 วิธีดังนี้

1. การปลูกภายใต้ตาข่ายพรางแสงในโรงพลาสติกโค้ง

2. การปลูกภายใต้ร่มเงาไผ่หมาจู๋ ในด้านการเจริญเติบโตพบว่าการปลูกภายใต้ร่มเงาไผ่หมาจู๋ ต้นซิมบี-เดียมจะมีการเจริญเติบโตได้ดีในทุกลักษณะ มีเพียงจำนวนหน่อและความสูงที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นที่ใกล้เคียงกับการปลูกในโรงเรือนพลาสติกโค้ง เมื่อพิจารณาถึงพันธุ์พบว่า ซิมบีเดียมพันธุ์ Kenny มีจำนวนใบและหน่อที่เพิ่มขึ้นหลังปลูกมากกว่าพันธุ์ Lunata Suntan ส่วนในด้านความสูงต้น จำนวนช่อดอก/ต้น และเปอร์เซ็นต์การเกิดดอก พบว่าพันธุ์ Lunata Suntan มากกว่าแต่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ การปลูกซิมบีเดียมทั้ง 2 พันธุ์ ภายใต้ร่มเงาไผ่หมาจู๋จะมีจำนวนช่อดอก/ต้น และเปอร์เซ็นต์การเกิดดอกมากกว่าการปลูกในโรงเรือนพลาสติกโค้ง โดยที่การปลูกภายใต้ร่มเงาไผ่หมาจู๋จะมีเปอร์เซ็นต์การเกิดดอกทั้ง 2 พันธุ์ ไม่ต่างกันในขณะที่จำนวนช่อดอก/ต้นพันธุ์ Kenny จะมากกว่าพันธุ์ Lunata Suntan เล็กน้อย สำหรับการปลูกในโรงเรือนพลาสติกโค้งพันธุ์ Lunata Suntan จะมีการเกิดดอกและจำนวนช่อดอก/ต้น มากกว่าพันธุ์ Kenny วิธีการปลูกซิมบีเดียมทั้ง 2 วิธี ให้ผลผลิตไม่ต่างกัน ทั้งด้านจำนวนช่อดอก/ต้น ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ เปอร์เซ็นต์ช่อดอกที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ จำนวนดอก/ช่อ ความยาวช่อดอก และจำนวนวันตั้งแต่แทงช่อดอก-เก็บเกี่ยวได้ ส่วนในด้านความแตกต่างของพันธุ์พบว่าซิมบีเดียมทั้ง 2 พันธุ์ให้ผลผลิตแตกต่างกันเฉพาะเรื่องจำนวนดอก/ช่อ และความยาวช่อดอกเท่านั้น โดยที่พันธุ์ Lunata Suntan จะให้จำนวนดอก/ช่อน้อยกว่าพันธุ์ Kenny แต่จะมีความยาวช่อดอกมากกว่าพันธุ์ Kenny ทั้งนี้เพราะพันธุ์ Lunata Suntan เป็นซิมบีเดียมประเภทดอกใหญ่ (Standard type) ในขณะที่พันธุ์ Kenny จัดอยู่ในประเภทดอกเล็ก (Miniature type)

การจัดการด้านความเข้มแสง

ควรเลือกทำเลปลูกที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี และมีน้ำเพียงพอ การปลูกเลี้ยงซิมบีเดียมกลางแจ้งที่มีแดดแรงเกินไป ทำให้ใบไหม้ นอกจากนี้ยังมีผลทำให้สีของซิมบีเดียมบางสีซีดจางได้ทั้งที่ยังบานไม่สุดช่อ เช่น สีแดง หรือส้ม ส่วนสีเขียว ขาว และเหลือง พบว่าไม่มีผล ควรได้รับแสงแดดประมาณวันละ 8 ชั่วโมง

การจัดการด้านอุณหภูมิ

ซิมบีเดียมแต่ละชนิดต้องการสภาพอากาศแตกต่างกัน บางชนิดต้องการอากาศร้อน (25-35 องศาเซลเซียส) บางชนิดต้องการอากาศค่อนข้างเย็น (15 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า) บางชนิดต้องการอากาศเย็นจัด (2-15 องศาเซลเซียส)

ปุ๋ย สำหรับปุ๋ยที่จะใช้ปุ๋ยสูตรน้ำของซิมบีเดียมที่มีส่วนประกอบดังนี้

 แม่ปุ๋ย              ถัง A กรัม/น้ำ 10 ลิตร          ถัง B กรัม/น้ำ 10 ลิตร

HNO3                10 ซีซี                    20 ซีซี  

NH4H2PO4             200                        -

MgSO4.7H2O            800                        -

Ca(NO3)2.2H2O           -                        500

KNO3                 400                       400

Unilate                25                       -


การให้น้ำ

จะขึ้นอยู่กับวัสดุปลูก และสภาพอากาศ หากวัสดุปลูกโปร่งไม่อุ้มน้ำ และสภาพอากาศร้อนควรให้น้ำถี่ขึ้น

โรคและศัตรูพืช

โรคไวรัส (Virus)  สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส Odontoglossum Ring Spot Virus และ Cymbidium Mosaics Virus

ลักษณะอาการ ที่มักพบบ่อยๆ มีดังนี้

1. ลักษณะใบด่าง ตามแนวยาวของใบโดยมีสีเขียวอ่อนสลับสีเขียวเข้ม

2. ยอดบิด ช่วงข้อจะถี่สั้น การเจริญเติบโตน้อยลง แคระแกร็น

3. ช่อดอกสั้น กลีบดอกบิด มีเนื้อหนาแข็งกระด้าง บางครั้งกลีบดอกจะมีสีซีดตรงโคนกลีบ หรือมีลักษณะดอกด่างซีด และดอกมีขนาดเล็กลง

การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสแพร่ระบาดได้ง่ายโดยติดไปกับเครื่องใช้ต่างๆ เช่น มีด กรรไกรที่ใช้ตัดหน่อเพื่อขยายพันธุ์ หรือใช้ตัดดอก และตัดแต่งต้น

การป้องกันกำจัด

1.หมั่นตรวจกล้วยไม้ ถ้าพบอาการผิดปกติดังกล่าว ให้แยกออกแล้วนำไปเผาทำลาย อย่านำต้นกล้วยไม้ที่แสดงอาการผิดปกติดังกล่าวไปขยายพันธุ์

2.การทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ทุกครั้งที่มีการตัดแยกหน่อ หรือดอก จะช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัส โดยจุ่มในสารละลายไตรโซเดียม เพื่อฆ่าเชื้อก่อน

3.ควรบำรุงต้นกล้วยไม้ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ และในการปั่นตา ควรแน่ใจว่าต้นกล้วยไม้ปราศจากโรคจริงๆ เพราะการปั่นตาจะช่วยส่งเสริมให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดมากขึ้น

โรคต้นเน่าแห้งหรือราเมล็ดผักกาด (Stem rot)

สาเหตุเกิดจากเชื้อราSclerotium rolfsii Sacc.

ลักษณะอาการ เชื้อจะเข้าทำลายบริเวณราก หรือโคนต้นแล้วลุกลามไปยังส่วนของโคนต้นขึ้นไป บริเวณที่ถูกทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและน้ำตาลตามลำดับ เนื้อเยื่อจะผุเปื่อย ถ้าอากาศชื้นมากๆ จะมีเส้นใยสีขาวแผ่ปกคลุมบริเวณโคนต้นพร้อมกับมีเมล็ดกลมๆ ขนาดเล็กสีน้ำตาลคล้ายเมล็ดผักกาดเกาะอยู่ตามโคนต้น บางครั้งจะแสดงอาการที่ใบทำให้ใบเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่ออากาศแห้งจะเหี่ยวและร่วงตายไปในที่สุด 

การแพร่ระบาด ทำความเสียหายมากในฤดูฝน เชื้อราแพร่กระจายไปกับลมหรือน้ำ นอกจากนี้เม็ด Sclerotium ของเชื้อราสามารถทนทานต่อการทำลายของสารเคมี ทนต่อสภาพแวดล้อม และมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานาน และยังเป็นสาเหตุของโรคพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ 

การป้องกันกำจัด

1.หมั่นตรวจดูสวนเสมอ ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้ให้เก็บรวบรวมแล้วเผาทำลายเสีย เพื่อเป็นการลดแหล่งแพร่เชื้อ

2.ราดด้วยสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น อีทริดโดอะโซล หรือคาร์บอกซิน อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

3.พบว่าการใช้สารดูดซึมในกลุ่มเบนโนมิล ติดต่อเป็นเวลานานๆ จะกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้ง่าย ดังนั้นจึงควรผสมกับสารชนิดอื่น เช่น แมนโคเซบ จะเห็นผลดีกว่า

โรคโคนเน่าดำ (Foot Rot)

สาเหตุเกิดจากเชื้อราFusarium sp. ได้แก่ F. solani, F. oxysporum และ F. moniliforme เป็นต้น

ลักษณะอาการ เชื้อราเข้าทางราก ทำลายท่อน้ำท่ออาหาร หรือบริเวณตาหน่อตรงโคนต้น เมื่อผ่าลำต้นเนื้อเยื่อจะเป็นสีน้ำตาลค่อยๆ ลุกลามไปหายอด เกิดอาการโคนเน่าเป็นไปอย่างช้าๆ ใบจะเหลือง และเหี่ยว ในที่สุดต้นจะแห้งตาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรคนี้รุนแรงน้อยกว่าการทำลายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

การแพร่ระบาด เชื้อราไปกับน้ำที่ใช้รด โดยเฉพาะในฤดูฝนจะระบาดรุนแรง

การป้องกันกำจัด

1. เอาส่วนที่เป็นโรคพร้อมทั้งเครื่องปลูกบริเวณที่เกิดโรคเผาทำลาย

2. พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ควินโทซีน

3. กำจัดวัชพืช ตะไคร่นื้ซึ่งเป็นสาเหตุส่งเสริมการเกิดโรคนี้ด้วยสารไดยูรอน อัตรา 4-5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

เพลี้ยแป้ง (Mealy bugs)

เป็นแมลงชนิดหนึ่ง ลำตัวที่แท้จริงนั้นนิ่มและบาง มีสีชมพูอ่อน แต่ปกคลุมด้วยขี้ผึ้งซึ่งมีลักษณะเป็นแป้งขาวๆ ติดอยู่ตามขนของลำตัว ทำให้แลดูลำตัวปกคลุมไปด้วยแป้งสีขาวและไม่เปียกน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ มี 2 ชนิด คือ ชนิดปกติชอบอยู่ตามใบและต้นส้ม คือ Planococcus citri และชนิดหางยาว คือ Pseudococcus adonidum

การทำลายคอยดูดกินน้ำเลี้ยงตามยอดใบ ยอดใบอ่อน เนื่องจากเป็นแมลงประเภทปากดูด ดังนั้นยาประเภทกินตายจึงไม่มีผลเท่าไรนัก นอกจากนี้แมลงจำพวกนี้เคลื่อนที่ช้าและยังหลบซ่อนตัวอยู่เป็นกลุ่มๆ ในที่ลับตา เช่น กาบใบ ซอกใบ ใต้ใบที่ซ้อนทับกัน ยอดอ่อน และแม้แต่รากซึ่งอยู่ในวัสดุปลูกหรือก้นกระถางก็สามารถมีแมลงชนิดนี้เกาะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ได้การแพร่ระบาด มีมดเป็นพาหะนำมา มีการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ สามารถออกลูกเป็นตัวได้โดยไม่มีการผสมพันธุ์

การป้องกันกำจัด

ใช้ยา malathion ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง เว้นสัปดาห์ละครั้ง ต่อไปฉีดป้องกันเดือนละครั้ง นอกจากนี้การปราบมดมิให้เกิดขึ้นโดยการใช้ Chordane พ่นบางๆ จำทำให้การแพร่กระจายของเพลี้ยแป้งหมดไป ถ้าพบเพลี้ยแป้งเกิดขึ้นให้เอาสำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดหรือเอาแปรงสีฟันขนอ่อนเอาตัวออกแล้วเอาสำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดอีกทีก็ได้

เพลี้ยหอย

เป็นแมลงที่ลำตัวจริงๆ อ่อนนิ่ม แต่ถูกห่อหุ้มด้วยเกราะเหมือนขี้ผึ้ง มีลักษณะเป็นฝาครอบมองดูคล้ายกับเมล็ดแบนนูนสีน้ำตาลหรือสีดำติดอยู่ตามใบ ตามต้น ซอกใบหรือลำลูกกล้วย มีขนาดและลักษณะต่างๆ กัน กลมบ้าง รีบ้าง เล็ก ใหญ่แล้วแต่ชนิดของเพลี้ยหอย

การทำลายเพลี้ยจะดูดกินน้ำเลี้ยงเช่นเดียวกับเพลี้ยแป้ง นอกจากนั้นยังสามารถขับถ่ายของเหลวที่มีลักษณะคล้ายน้ำหวานออกมา ทำให้ราดำซึ่งมีลักษณะคล้ายเขม่าไฟชอบขึ้น  ชื่อวิทยาศาสตร์ เพลี้ยหอยมี 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเป็นพวกเกราะอ่อน มีเกราะอ่อนติดอยู่บนลำตัว มีขาเล็กมาก สามารถเคลื่อนที่ได้ช้าๆ คล้ายหอยทาก มีขนาดตั้งแต่ 1/16-1/4 นิ้ว มีหลายชนิด แต่ชนิดที่พบบ่อยๆ คือ Coccus hesperidum และ C. Pseudohesperidum ชนิดที่เกาะรูปครึ่งทรงกลมชื่อ Saissetia hemisphaerica และชนิดเกราะสีดำชื่อ Saissetia oleae กลุ่มที่สอง ได้แก่ พวกเกราะแข็ง ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นขี้ผึ้งแยกไม่ติดกับตัวเป็นฝาครอบอยู่อย่างหนาแน่น ตัวเมียเท่านั้นที่ทำลายต้นไม้ ลักษณะของเพลี้ยหอยชนิดนี้มีขนาดยาวเล็กกว่า 1/8 นิ้ว ของเหลวที่ขับออกมาไม่เหมือนกลุ่มแรก คือ ไม่ได้เป็นอาหารของราดำแต่เป็นพิษต่อพืช มักพบอยู่ตามใต้ใบ กาบร่องใบ ส่วนโคนต้นใบ การพ่นยาจึงควรทั่วถึง

การป้องกันกำจัด พ่นด้วย malathion ได้ผลดีแต่ไม่สามารถใช้ได้กับเพลี้ยหอยทุกระยะ ทำลายได้เฉพาะตัวแก่เท่านั้น ดังนั้นต้องทำเป็นระยะๆ ทุกๆ 3 สัปดาห์ สัก 3-4 ครั้ง หรือโมโนโครโตฟอส


เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.