องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ผักเผ็ด

ชื่อสามัญ   Para cress, Toothache plant

ชื่อวิทยาศาสตร์  Acmella oleracea (L. ) R.K.Jansen

วงศ์   COMPOSITAE

ภาคเหนือ ผักเผ็ด หญ้าตุ้มหู ภาคกลาง ผักคราด ผักคราดหัวแหวน ภาคอีสาน ภาคใต้ -

ผักเผ็ดเป็นพืชล้มลุก ลำต้นทอดเลื้อยไปตามผิวดิน ชูยอดขึ้นรับแสง มีขนปกคลุมเล็กน้อย ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ ปลายใบแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อย ดอกเป็นช่อออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด สีเหลือง เมล็ดรูปรี สีน้ำตาลเข้ม ด้านปลายมีขนช่วยในการกระจายพันธุ์

สภาพนิเวศ : ชอบขึ้นบริเวณที่มีความชุ่มชื้น อินทรีย์วัตถุสูง แสงแดดรำไร

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ดและปักชำ

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ

การใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อนนำมาแกงร่วมกับแกงแค แกงใส่ปลาแห้ง หรือลวกกินกับน้ำพริก ช่วยให้เจริญอาหาร นอกจากนี้ยังนำมาเข้ายาบำรุงร่างกายไก่ชน

แหล่งที่พบ : ผักเผ็ดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่ตามพื้นที่เกษตร ริมถนน หรือ ตามพื้นที่โล่งที่มีความชื้นทั่วไป ชาวปางมะโอแบ่งผักเผ็ดออกเป็น 2 ชนิด คือ ผักเผ็ดป่าและผักเผ็ดเมือง

เกร็ดน่ารู้ : ผักเผ็ดเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน ช่อดอกและก้านดอกมีสาร Spilanthol มีฤทธิ์ทำให้ชา สามารถนำมารักษาอาการปวดฟันได้ ตามชื่อสามัญคือ “Toothache Plant” ส่วนต้นสดนำมาตำผสมเหล้าหรือน้ำส้มสายชู แก้ฝีในลำคอ ต่อมน้ำลายอักเสบ และแก้ปวดฟัน