องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

กะหล่ำปม

 

 

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป กะหล่ำปมจัดอยูในวงศ์ Brassicaceae (Cruciferae) เป็นพืชล้มลุกที่ใช้บริโภคส่วนของลำต้นที่สะสมอาหาร มีถิ่นกำเนิดแถบเมดิเตอร์เรเนียน ทางตะวันตกเฉียงใต้และภาคเหนือของทวีปยุโรป ลักษณะทั่วไปของลำต้นส่วนเหนือดินจะเป็นปมพองออก ลักษณะกลมหรือกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 - 10 เซนติเมตร มี 2 สี คือ เขียวและม่วง ใบเป็นใบเดี่ยวรูปรีหรือรูปไข่แกมรี ปลายแหลมถึงป้าน ขอบใบหยัก โดยเฉพาะส่วนใกล้โคน และเว้าลึกถึงเส้นกลางใบ ก้านใบเล็ก ยาว แผ่นใบมีนวล

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ส่วนที่ใช้ประโยชน์ ได้แก่ ส่วนของลำต้นที่มีลักษณะเป็นปมสะสมอาหาร และใบอ่อน โดยส่วนของลำต้นสามารถรับประทานสดในสลัด หรือนำไปประกอบอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น ผัดน้ำมันหอย ต้มจับฉ่าย ต้มซุป ผัดกับเนื้อสัตว์ อาหารทะเล หรือผัดใส่ไข่ หรือนำมาใช้แทนมะละกอในส้มตำ ใบอ่อนสามารถนำมาต้มหรือผัดน้ำมันหอย ให้คุณค่าทางอาหารและวิตามินสูง โดยเฉพาะวิตามินเอและเกลือแร่ต่างๆ

 

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 15 – 22 องศาเซลเซียส และควรได้รับแสงอย่างพอเพียง ดินที่ใช้ปลูกควรร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์สูง การระบายน้ำดีและอากาศดี ดินควรมีสภาพความเป็นกรด – ด่าง 6 – 6.5 และมีความชื้นสูง ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ หากขาดน้ำจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต คุณภาพปมไม่ดี มีเส้นใยมาก รูปร่างปมไม่สวย

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมกล้า เพาะกล้าแบบประณีตในถาดหลุม อายุกล้าประมาณ 20 วันไม่ควรเกิน 25 วัน แล้วย้ายปลูก หากต้นกล้าอายุมากจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต

การเตรียมดิน ไถดินลึกประมาณ 15 – 20 เซนติเมตร ตากดิน 7 – 10 วัน เก็บเศษวัชพืชออกจากแปลง

การปลูก ขุดดินตากแดดอย่างน้อย 14 วัน เก็บหญ้าและวัชพืชออกจากแปลงขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร ใส่ปุ๋ย 15 – 15 – 15 ปูนขาว ปุ๋ยขี้ไก่และโบแรกซ์ อัตรา 1 กรัม/ ตรม. ผสมคลุกเคล้าในดินให้ทั่ว ปรับหน้าแปลงให้เรียบ ทำหลุมลึก 6 – 8 ซม.ระยะ 20 ซม.ระหว่างต้นและแถว 20 ซม.

ข้อควรระวัง

ฤดูฝนไม่ควรให้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่มากจะทำให้หัวแตก   แต่ให้ชดเชยด้วยปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกแทน

การให้น้ำ ควรให้สม่ำเสมอ

การให้ปุ๋ย ปลูกซ่อมต้นที่ตายหลังย้ายปลูก 7 วัน ประมาณ 7 – 10 วัน หลังจากย้ายปลูกใส่ปุ๋ย 15 – 15 – 15 และ 46 – 0 – 0 อัตรา 1 : 2 ครั้งแรกประมาณ 20 – 30 กรัม/ ตรม. การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 15 วัน ใส่ปุ๋ย 13 – 13 – 21 ประมาณ 20 –25 กรัม /ตรม. การใส่ปุ๋ยใช้วิธีขีดร่องรอบต้นลึก 2 – 3 ซม. โรยปุ๋ยลงร่อง กลบดินแล้วรดน้ำ ทำการกำจัดวัชพืช พร้อมทำการใส่ปุ๋ยทุกครั้ง หากพืชแสดงอาการอ่อนแอหรือขาดธาตุให้ฉีดพ่น ธาตุอาหารเสริม และฉีดพ่นสารเคมีป้องกันศัตรูพืช เมื่อเกิดปัญหาโรคพืชและแมลง รดน้ำ ทุก 2 – 3 วัน

ข้อควรระวัง

  1. เวลาพูนดินโคนต้นระวังอย่าให้ใบหักและรากขาด
  2. ควรย้ายกล้าตามกำหนดเวลา
  3. ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันการแตกของหัว
  4. เมื่อพืชเริ่มสร้างหัวให้ฉีดพ่นโบรอนทุก 7 วัน

 

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว ควรเก็บเกี่ยวเมื่อผลสีเขียวอ่อน ผลไม่แก่จนเกินไปและขนาดเหมาะสม อายุเก็บเกี่ยว 50 – 60 วัน โดยใช้มือถอนจากดิน ตัดรากและก้านใบออกเหลือ 1 เซนติเมตร กำจัดหัวที่มีตำหนิทิ้งไปและจัดชั้นคุณภาพ บรรจุในตะกร้าพลาสติกโดยมีกระดาษกรุรองทั้งตะกร้า ขนส่งโดยรถบรรทุกธรรมดาหรือรถห้องเย็น

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นกระหล่ำปมทั้งหัว ไม่มีตำหนิต่างๆ เช่น รอยแผล ผิวแตก หรือตกสะเก็ด ไม่มีตำหนิหรือช่องว่างภายในหัว สด สะอาด รูปร่างและสีตรงตามพันธุ์ และปลอดภัยจากสารเคมี

การจัดชั้นคุณภาพ

 ชั้นหนึ่ง  1. มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 – 8 เซนติเมตร

       2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง  1. มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 – 7 เซนติเมตร

       2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U   1. มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 6 เซนติเมตรหรือมากกว่า 8 เซนติเมตร

      2. มีตำหนิภายนอกได้บ้างไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      3. ปลอดภัยจากสารเคมี

ข้อกำหนดในการจัดเรียง กะหล่ำปมในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นชั้นคุณภาพ พันธุ์เดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอ

การเตรียมสู่ตลาด 1. ตัดแต่งและกำจัดส่วนที่เป็นตำหนิออก 2. บรรจุลงในพลาสติกเจาะรู

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 – 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 2 – 4 สัปดาห์

ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ม.ค. - ธ.ค.

 

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์