ดีงูหล้า
ชื่อสามัญ Bat flower
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tacca chantrieri Andr
วงศ์ TACCACEAE
ภาคเหนือ ดีงูหล้า ดีงูหว้า ภาคกลาง ว่านหัวฬา ดีงูหว้า ดีปลาช่อน นิลพูสี เนระพูสีไทย ค้างคาวดำ ภาคอีสาน - ภาคใต้ มังกรดำ ม้าถอนหลัก ว่านพังพอน
ดีงูหล้าเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีเหง้าใต้ดิน รากมีปุ่มปมจำนวนมาก ใบเดี่ยวเจริญจากเหง้า รูปไข่กลับ โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว ดอกมีก้านชูสูงขึ้นจากกลางกอ สีม่วงดำคล้ายหัวค้างคาว มีใบประดับ 4 ใบ ใบประดับของดอกย่อยเรียงยาวเป็นเส้น 10-25 เส้น ผลเป็นแคปซูลยาว มีสัน 6 สัน ผิวสีม่วงดำคล้ายหนังค้างคาว เมล็ดสามเหลี่ยมสีม่วง
สภาพนิเวศ : ขึ้นในธรรมชาติ ตามป่าดิบแล้งหรือป่าดิบชื้น
การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ดหรือใช้เหง้าปลูก
สถานภาพในชุมชนปางมะโอ
การใช้ประโยชน์ : ดอกออกช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ชาวบ้านนิยมนำดอกและใบอ่อนมาย่างไฟหรือลวกกินกับน้ำพริกและลาบ ส่วนรากนำมาต้มน้ำดื่ม แก้ปวดหลัง ปวดเอว
แหล่งที่พบ : พบตามป่าธรรมชาติและริมห้วยรอบชุมชน
เกร็ดน่ารู้ : ดีงูหล้า มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง แก้โรคความดันโลหิตต่ำ บำรุงครรภ์สตรี แก้ท้องเสีย และทำให้เจริญอาหาร