องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

หญ้าสามสิบสองราก (โด่ไม่รู้ล้ม)

ชื่อสามัญ   Prickly leaved elephant’s foot

ชื่อวิทยาศาสตร์  Elephantopus scaber L.

วงศ์   COMPOSITAE

ภาคเหนือ เคยโป้ โด่ไม่รู้ล้ม นกคุ่ม หนาดผา หญ้าไก่ หญ้าปราบ หญ้าสามสิบสองราก 

ภาคกลาง โด่ไม่รู้ล้ม

ภาคอีสาน ขี้ไฟนกคุ่ม คิงไฟนกคุ่ม

ภาคใต้ หนาดมีแคลน         

หญ้าสามสิบสองรากเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นสั้นอยู่ในระดับผิวดิน ใบเดี่ยวออกเวียนสลับรอบลำต้นขนานกับผิวดิน ใบรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ขอบใบจักฟันเลื่อย แผ่นใบมีขนสาก ก้านดอกแข็งแทงออกจากกลางต้น ดอกเป็นช่อแบบแขนงที่ปลายยอดสีม่วง มีใบประดับ 3 ใบ ผลรูปทรงกลม มีสัน 10 สัน ผิวมีขนนุ่มปกคลุม

สภาพนิเวศ : ชอบขึ้นตามป่าทั่วไป โดยเฉพาะป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า หรือพื้นที่รกร้างว่างเปล่า

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด หรือใช้เหง้าปลูก

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ

การใช้ประโยชน์ : นำทั้งต้นมาต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงกำลัง แก้ปวดหลัง หรือนำมาผสมกับสมุนไพรอื่นต้มน้ำดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ รักษาไข้จับสั่น

แหล่งที่พบ : พบทั่วไปในป่าธรรมชาติ สวนหลังบ้าน และริมถนนในชุมชน

เกร็ดน่ารู้ : หญ้าสามสิบสองราก หรือ “โด่ไม่รู้ล้ม” เป็นชื่อที่มาจาก ก้านดอกที่ชูขึ้นมีความแข็งแรงทนทาน ทนต่อความแห้งแล้ง หรือการเหยียบย่ำได้ดี และใช้เป็นยาสมุนไพรบรรเทาอาการไอ แก้ไข้ แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้เหน็บชา ขับปัสสาวะ และบำรุงหัวใจ