กลิ้งกลางดง(กระท่อมเลือด)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Stephania venosa (Blume.) Spreng.
วงศ์ MENISPERMACEAE
ภาคเหนือ กลิ้งกลางดง ภาคกลาง กระท่อมเลือด ภาคอีสาน - ภาคใต้ -
กลิ้งกลางดงเป็นไม้เลื้อย มีอายุการเจริญเติบโตฤดูกาลเดียว มีผลพิเศษ (เป็นผลหรือรากสะสมอาหาร) ทรงกลมผิวสีน้ำตาลขรุขระเล็กน้อยเกาะตามซอกใบ ใบเดี่ยว รูปไข่แกมหัวใจ โคนใบมน กว้างเว้าลึกเป็นติ่งหู ปลายใบแหลมมีติ่งหาง ขอบใบและแผ่นใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอกออกเป็นช่อ แยกเพศ กลีบดอกสีส้ม ช่อดอกตัวเมียอัดกันแน่นมากกว่า ผลเป็นผลสด รูปไข่กลับ
สภาพนิเวศ : พบขึ้นในป่าทั่วไป โดยเฉพาะป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง
การขยายพันธุ์ : ผลพิเศษและรากสะสมอาหาร
สถานภาพในชุมชนปางมะโอ
การใช้ประโยชน์ : ชาวปางมะโอใช้ผลพิเศษต้มน้ำดื่ม ช่วยลดไข้ของเด็กและแก้หอบหืด
แหล่งที่พบ :พบได้ทั่วไปในชุมชนและป่ารอบๆ ชุมชน ผลพิเศษของกลิ้งกลางดงจะร่วงหลุดในช่วงฤดูแล้ง
เกร็ดน่ารู้ : กลิ้งกลางดงมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร เถาใช้ขับพยาธิ ขับโลหิตระดู กระจายลมที่แน่นในอก ใบ บำรุงธาตุ รักษาแผลสด และแผลเรื้อรัง ดอกแก้โรคผิวหนังผื่นคัน ช่วยย่อยอาหาร รากบำรุงเส้นประสาท หัวใต้ดินดองเหล้ากินบำรุงกำลังขับเสมหะ บำรุงกำหนัด หรือตากแห้ง บด ปั้นเป็นลูกกลอนกินเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยเจริญอาหาร ขับลม รักษาโรคมะเร็งต่างๆ โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง โรคปวดศีรษะ