องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ลิงลาว

ชื่อวิทยาศาสตร์  Aspidistra sutepensis K.Laren

วงศ์   CONVALLARIACEAE

ภาคเหนือ นางแลว ลิงลาว  ภาคกลาง ลีลาว  ภาคอีสาน ดีกั้ง ดีปลากั้ง ภาคใต้ -

ลิงลาวเป็นพืชล้มลุก แตกกอมีเหง้าอยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยวออกเวียนจากลำต้นใต้ดิน รูปขอบขนาน ปลายใบแหลม แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกออกจากลำต้นใต้ดิน ตั้งตรงชูก้านดอกขึ้นคล้ายดอกกล้วยไม้ ดอกย่อยสีขาวอมม่วง บานจากล่างขึ้นบน ผลแบบแคปซูล สีเขียวเข้ม

สภาพนิเวศ : ชอบขึ้นในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาของภาคเหนือและภาคอีสาน โดยเฉพาะบริเวณริมลำธารที่มีความชื้นสูง

การขยายพันธุ์ : การแยกหน่อ

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ

การใช้ประโยชน์ : ดอกออกช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ดอกอ่อนนึ่งกินกับน้ำพริก รสขมกลมกล่อม เป็นส่วนประกอบของแกงแค หรือแกงใส่ปลาแห้ง

แหล่งที่พบ : พบในป่าธรรมชาติตามผาหิน ริมห้วย ในชุมชนพบว่ามีการนำจากธรรมชาติมาปลูกรอบบ้าน หรือใต้ร่มไม้ในป่าเมี่ยง

เกร็ดน่ารู้  : ลักษณะของ “ลิงลาว” เหมือนกับ “นางแลว” แต่มีขนาดช่อดอกใหญ่และยาวกว่า ดอกของลิงลาวมีสาร Antioxidants มีฤทธิ์ต่อต้านสารก่อมะเร็ง บางพื้นที่นำรากมาต้มดื่มแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย