เมี่ยง(ชา)
ชื่อสามัญ Tea plant
ชื่อวิทยาศาสตร์ Camellia sinensis (L.) Kuntze var. assamica (Mast.) Kitam.
วงศ์ THEACEAE
ภาคเหนือ ชา เมี่ยง ภาคกลาง ชาอัสสัม ภาคอีสาน - ภาคใต้ -
เมี่ยงเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก กิ่งก้านแตกออกด้านข้าง ทรงพุ่มเป็นรูปกรวย เปลือกเรียบสีน้ำตาลปนเทา ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปหอก ปลายใบแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อย แผ่นใบหนา ด้านบนใบมัน ใต้ใบมีขนอ่อนปกคลุม ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและออกเป็นกระจุกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง สีขาว ผลทรงกลม ผิวเรียบ มี 3 พู ข้างในมีหลายเมล็ด
สภาพนิเวศ : ชอบขึ้นตามพื้นที่สูงโดยเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ความลาดชันพอสมควร มีอินทรียวัตถุในดินสูง ระบายน้ำได้ดี เป็นกรดเล็กน้อย
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่งและเพาะเมล็ด
สถานภาพในชุมชนปางมะโอ
การใช้ประโยชน์ : ชาวปางมะโอเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับการทำสวนเมี่ยง รายได้ส่วนใหญ่จึงมาจากการทำเมี่ยง นอกจากนั้นยังนำใบเมี่ยงอ่อนมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการทำส้าเมี่ยง (ยำใบเมี่ยงใส่ปลากระป๋อง) ที่ชาวปางมะโอจะต้องทำต้อนรับเมื่อมีแขกมาเยือน
แหล่งที่พบ : พบปลูกทั่วไปรอบชุมชน