บะแขว่น
ชื่อสามัญ Indian ivy-rue
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zanthoxylum limonella (Dennst.) Alston
วงศ์ RUTACEAE
ภาคเหนือ บ่าแขว่น ภาคกลาง กำจัดต้น พริกหอม ลูกระมาศ หมากมาศ ภาคอีสาน มะแข่น ภาคใต้ -
บ่าแขว่นเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ใบย่อยเรียงตรงข้าม 5 – 8 คู่ รูปไข่หรือรูปรี โคนใบสอบและเบี้ยว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ หรือหยักห่างๆ ดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ออกตรงปลายกิ่ง สีขาวอมเขียว แยกเพศอยู่ต่างต้น ผลแห้งแตก ทรงกลม เมื่อแก่จะแตกตามรอยประสานด้านบน เมล็ดกลมดำเป็นมัน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
สภาพนิเวศ : ชอบขึ้นในที่โล่งหรือป่าฟื้นสภาพ ในป่าดิบเขาและดิบแล้ง
การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด
สถานภาพในชุมชนปางมะโอ
การใช้ประโยชน์ : ผลแก่ในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม ชาวปางมะโอใช้ผลดิบดองน้ำปลากินกับลาบและแกงอ่อม ส่วนผลแห้งใช้เป็นเครื่องเทศผสมในเครื่องแกงต่างๆ เช่น แกงเนื้อ แกงผักกาด แกงอ่อม หรือใช้เป็นส่วนผสมในพริกลาบ
แหล่งที่พบ : พบตามสวนเมี่ยงรอบชุมชน และสวนหลังบ้าน
เกร็ดน่ารู้ : บ่าแขว่นเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน เมล็ดมีกลิ่นหอม ใช้แก้ลมวิงเวียน บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ถอนพิษฟกบวม และแก้หนองใน