องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

พลับ

 

ชื่อวิทยาศาสตร์      Diospyros kaki

ลักษณะทั่วไป

พลับเป็นไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ มีอายุยาวนานหลายปี แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือพลับกรอบ ได้แก่พันธุ์ Fuyu และพลับหวาน ได้แก่พันธุ์ P2 (Xichu) และHyakume

การปลูกและการบำรุงรักษา

สภาพอุณหภูมิ

พลับเป็นพืชที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันออกไปได้มาก สามารถขึ้นได้ดีในเขตที่มีอากาศหนาวเย็นจนถึงเขตกึ่งร้อนพลับหวาน โดยทั่วไปแล้วในช่วงการเจริญของผลมักจะต้องการอุณหภูมิที่สูงกว่าพลับฝาดเล็กน้อย อุณหภูมิที่สูงจะมีผลทำให้การพัฒนาสีผิวของผลดีขึ้น อย่างไรก็ตามอุณหภูมิที่เหมาะสม สำหรับการเจริญเติบโตของพลับควรจะเฉลี่ย 14-15 ?C

สภาพดิน

สำหรับดินนั้น พลับขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิดแต่ที่เหมาะควรมีหน้าดินลึก มีความอุดมสมบูรณ์สูงและมีการระบายน้ำที่ดี pH ที่เหมาะสมควรอยู่ในระหว่าง 6-6.5 พลับเป็นพืชที่ค่อนข้างจะทนต่อสภาพดินที่มีน้ำขังหรือดินที่มีความชื้นสูงได้ดี และในช่วงการติดผลจะมีเปอร์เซ็นต์การร่วงของผลสูง

ระยะปลูก

โดยทั่วไปแล้วควรปลูกในระยะ 4x4 เมตร ปลูกในช่วงตอนต้นของฤดูฝน พลับจะสามารถตั้งตัวและเจริญเติบโตต่อไปได้ดี

การจัดทรงต้น

นิยมแบบ modified central leader วิธีการปฏิบัติคือ หลังจากปลูกไปแล้วเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวของปีที่ปลูก ต้องทำการตัดต้นให้สูงจากพื้นดินประมาณ 70 ซม. เมื่อพลับเจริญเติบโตต่อไปในปีที่ 2 เลือกกิ่งที่เหมาะสมไว้ 3 กิ่งสลับกัน ส่วนของกิ่งยอดจะตัดปลายออกเล็กน้อยและปฏิบัติเช่นเดียวกันในปีที่ 3, 4 และ 5 และพยายามรักษาทรงพุ่มไว้ไม่ให้สูงเกินไป บางแห่งอาจจัดทรงต้นแบบแจกันหรือแบบกลางเปิดแล้วแต่ความเหมาะสมหรือความต้องการของผู้ปลูก ซึ่งวิธีนี้จะตัดส่วนปลายของต้นที่ปลูกแล้วเลือกกิ่งไว้ 3 กิ่ง เพื่อให้เป็นทรงพุ่มที่ต้องการ

การตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งกิ่งพลับในรอบ 1 ปีจะทำ 3 ครั้งคือ

1. การตัดแต่งกิ่งในฤดูพักตัว เป็นการตัดแต่งกิ่งครั้งสำคัญของพลับ มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง ได้แก่ เพื่อควบคุมทรงต้นให้เป็นไปตามทรงรูปทรงที่ถูกต้อง ควบคุมการให้ผลผลิตให้มีปริมาณที่เหมาะสม การกระตุ้นให้ต้นพลับสร้างกิ่งใหม่สำหรับให้ผลผลิตในปีต่อไป ซึ่ง

วิธีการตัดแต่งกิ่งทำได้ดังนี้

1. ตัดแต่งกิ่งที่ฉีกหักเสียหายจากการเก็บเกี่ยวและกิ่งที่เป็นโรคหรือแมลงทำลายออก

2.ตัดแต่งกิ่งกระโดงที่เกิดขึ้นในทรงพุ่มที่มีมากเกินไปออก โดยเลือกตัดกิ่งที่ตั้งตรงออกเหลือไว้เฉพาะกิ่งที่อยู่ด้านข้างของกิ่งโครงสร้างและกิ่งสาขา ในกรณีที่ต้นพลับมีกิ่งน้อยให้เหลือกิ่งกระโดงในตำแหน่งที่ไม่มีกิ่งเอาไว้และทำการตัดทอนให้สั้นลงเพื่อบังคับให้แตกกิ่งใหม่สำหรับเป็นกิ่งให้ผลผลิตในฤดูต่อไป

3. การตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ โดยตัดกิ่งที่แก่หรือกิ่งที่จะให้ผลผลิตซึ่งมีมากเกินไปออก เพื่อให้สร้างกิ่งทดแทนหรือตัดทอนกิ่งให้สั้นลงโดยหายอดใหม่เป็นยอดทดแทนเพื่อลดจำนวนกิ่งที่เหลืออยู่ให้มีจำนวนพอเหมาะ รวมทั้งตัดแต่งกิ่งที่สมบูรณ์แต่มีมากเกินไปบางส่วนออกเพื่อกระตุ้นให้เกิดกิ่งใหม่ทดแทนในปีต่อไป

4. การตัดแต่งกิ่งแขนงที่มีอายุมากออกเพื่อให้ต้นพลับสร้างกิ่งใหม่ขึ้นมาทดแทนเพื่อให้ต้นพลับมีความแข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ

2. การตัดแต่งกิ่งในฤดูเจริญเติบโต

1. การตัดแต่งกิ่งในเดือนพฤษภาคม ทำการตัดแต่งกิ่งกระโดงที่มีมากเกินไปออกหรือตัดทอนให้สั้นบังคับให้แตกกิ่งใหม่ เพื่อควบคุมกิ่งไม่ให้กิ่งที่แข็งแรงเกินไปและนำอาหารไปใช้มาก ซึ่งจะทำให้มีปัญหาผลร่วง

2. การตัดแต่งกิ่งในเดือนกรกฎาคม เป็นการตัดแต่งกิ่งบางส่วนที่มีมากและแน่นทึบออกบ้างเพื่อให้ผลที่ได้รับแสงแดด ทำให้ผิวสวยและคุณภาพดีขึ้น

การปลิดผล

โดยทั่วไปพลับมีการติดผลประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนดอกทั้งหมด มาตรฐานของจำนวนผลต่อต้นที่โตเต็มที่ ประมาณ 12-16 ผลต่อตารางเมตรของพื้นที่ทรงพุ่ม การปลิดผลจะทำตั้งแต่ช่วงระยะออกดอก คือประมาณ 10-14 วัน ก่อนที่ดอกจะบานเต็มที่ เนื่องจากดอกจะมีปริมาณมากและหลังจากติดผลแล้วประมาณ 1 เดือน ถ้าเห็นว่ามีผลมากเกินไปก็ปลิดผลอีกครั้งหนึ่ง ปกติแนะนำให้มีใบ 20-25 ใบต่อการไว้ผล 1 ผล อย่างไรก็ตามทางปฏิบัติอาจปลิดผลเพียงครั้งเดียว หลังจากที่พลับติดผลแล้วประมาณ 1 เดือน โดยไว้ผลเพียง 1-2ผลภายในกิ่ง ผลที่ปลิดออกควรเป็นผลที่อยู่บริเวณส่วนปลายของกิ่ง เนื่องจากดอกที่เกิดโคนกิ่งมักจะมีกลีบเลี้ยงขนาดใหญ่ ผลจึงมีความสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่รวมทั้งการแตกปริบริเวณขั้วผลจะมีน้อยกว่าผลที่เกิดในบริเวณปลายกิ่ง

การให้ปุ๋ย

โดยปกติแล้วการให้ปุ๋ยพลับจะต้องทำการวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่เสียก่อน แล้วจึงกำหนดชนิดและปริมาณปุ๋ยที่จะให้ แต่เนื่องจากสภาพการปลูกพลับของเกษตรกรทั่วไปในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์ดิน จึงได้แนะนำการให้ปุ๋ยในเบื้องต้นสำหรับต้นพลับที่ให้ผลผลิตแล้ว โดยใส่ปีละ 3 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 ในช่วงฤดูหนาวขณะที่ต้นพักตัวก่อนที่ตาจะแตก ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 46-0-0 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณ 20-25 กิโลกรัมต่อต้น โดยวิธีการขุดร่องรอบทรงพุ่มใส่ปุ๋ยแล้วฝังกลบ

ครั้งที่ 2 ในช่วงที่พลับติดผลขนาดเล็กประมาณเดือนพฤษภาคม ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17+2 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น

ครั้งที่ 3 ในช่วงที่ผลกำลังเจริญเติบโต ก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน หรือผลเริ่มที่จะเปลี่ยนสี ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17+2 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น และให้ปุ๋ยสูตร 0-0-60 อัตรา 1 กิโลกรัม

พลับต้องการธาตุแมกนีเซียมมากกว่าไม้ผลชนิดอื่น จึงอาจจะใช้ปุ๋ยเคมีบางสูตรที่มีแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบ เช่น 12-12-17+2 หรือใช้โดโลไมท์ซึ่งมีแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบประมาณ 10-11 เปอร์เซ็นต์ แทนการใช้ปูนขาวในการปรับความเป็นกรดเป็นด่าง นอกจากนี้อาจจะให้ธาตุอาหารเสริมทางใบด้วยก็ได้

การให้น้ำ

พลับจะแตกตาและเริ่มเจริญเติบโตในฤดูแล้งคือเดือนมีนาคม ถ้าสามารถให้น้ำได้บ้างในฤดูแล้งก็จะทำให้ต้นพลับมีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วการปลูกพลับจะอาศัยน้ำฝนโดยไม่ต้องให้น้ำเนื่องจากส่วนใหญ่ผลเจริญเติบโตจนถึงเก็บเกี่ยวผลในฤดูฝน

โรคและแมลงศัตรู

โรคโคนเน่า

สาเหตุ: เกิดจากเชื้อราในดิน เช่น Pythium sp.

อาการ : ใบจะเหี่ยวเหลือง บริเวณโคนต้นเป็นแผลสีดำ ขอบแผลชัดเจน ต้นจะแห้งตายในเวลาต่อมาพบกับต้นในแปลงปลูก

การป้องกันกำจัด: หากมีต้นที่แสดงอาการเหี่ยวรุนแรง หรือต้นแห้งตายแล้ว ให้ขุดต้นเผาทำลาย อย่าให้ดินที่ติดโคนต้นหรือบริเวณโคนต้นร่วงหล่นในแปลง จากนั้นราดสารเคมี ประเภทเมตาแล็กซิล(Metalaxyl) บริเวณโคนต้นที่แสดงอาการเหี่ยวหรือบริเวณที่ขุดออก

โรคใบจุดเหลี่ยม (Angular leaf spot)

สาเหตุ: เกิดจากเชื้อรา Cercospora kaki Dllis & Everhart

อาการของโรค: มีลักษณะเป็นจุดเหลี่ยมสีดำกระจายบนใบ พบมากบนใบแก่ทำให้ใบร่วงได้

การป้องกันกำจัด: โดยการฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราเช่น แคปแทน (Captan) และแมนโคเซ็บ (Mancozeb)

โรคใบจุดดำ (Black rot)

สาเหตุ: เกิดจากเชื้อรา Phoma kakivora Hara

อาการของโรค: ผลพลับที่กลีบดอกร่วงแล้วแสดงอาการจุดสีดำบนผลอ่อน เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. เมื่อส่องดูจุดสีดำด้วยแว่นขยายจะพบว่าเกิดจุดดำของอวัยวะสร้างสปอร์ (pycnidium) จำนวนมาก เชื้อจะแพร่ระบาดโดยลมและน้ำฝนการป้องกันกำจัด : โดยการฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราเช่น แมนโคเซบ (Mancozeb)

โรคผลเน่า (Mucor fruit rot)

สาเหตุ: เกิดจากเชื้อรา Wucor flavens Drummond&Villani

อาการของโรค: ผลพลับที่แก่บนต้นเริ่มแสดงอาการสีซีดจากบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของผลและลุกลามอย่างรวดเร็ว ต่อมาผิวผลจะปลิแตก มีเมือกสีขาวขุ่นไหลออกมาและเริ่มมีเส้นใยสีเหลืองของเชื้อราคลุมบนเนื้อเยื่อที่เปิดออกตรงรอยแตก กลุ่มเส้นใยสีเหลืองฟูเจริญคลุมทั่วทั้งผลในเวลาต่อมาและจะฝ่อแห้งไปพร้อมกับผลพลับที่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ผลที่เน่าจะส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง นอกจากนี้สปอร์ของเชื้อรายังสามารถเข้าทำลายผลพลับที่ห่อในถุงกระดาษได้

การป้องกันกำจัด : ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งให้ระบายอากาศได้ดีเพื่อลดปริมาณเชื้อ ในสภาพความชื้นสูงซึ่งเหมาะกับการระบาดของโรคนี้ และควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราเป็นระยะๆ เช่น แมนโคเซบ (Mancozeb)

โรคผลเน่า (Rhizopus rot)

สาเหตุ: เกิดจากเชื้อรา Rhizopus stolonifer

อาการของโรค: จะเกิดอาการเน่าบริเวณขั้วผลมีเส้นใยสีเทาเจริญฟูรอบขั้วผล โดยเชื้อจะเข้าทำลายทางบาดแผลบริเวณขั้วผลและกลีบเลี้ยง

การป้องกันกำจัด : ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไดคลอแรน (Dichloran)

โรคขั้วผลเน่า (Stem end rot)

สาเหตุ: เกิดจากเชื้อรา Botryodiplodia theobromae

อาการของโรค: มีแผลที่ชั้นของกลีบเลี้ยง (calyx) เนื่องจากการเก็บเกี่ยวและขนย้ายอย่างไม่ระมัดระวัง เมื่อรมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะทำให้กลีบเลี้ยงหลุดง่าย เกิดแผลที่ขั้วผลทำให้เชื้อราเข้าทำลายและลุกลามเข้าในเนื้อเยื่อของผลต่อไป

การป้องกันกำจัด: ระมัดระวังการปฏิบัติในการเก็บเกี่ยวและขนย้ายมารมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ให้กลีบเลี้ยงหลุดจากขั้วผล โดยทั่วไปผลพลับฝาดจะมีความทนทานต่อการเข้าทำลายต่อเชื้อผลเน่าได้ดีกว่าพลับหวาน เนื่องจากมีสารแทนนิน แต่ควรระวังการเกิดบาดแผลที่เป็นช่องทางให้โรคเข้าทำลายได้

แมลงศัตรูของพลับ

แมลงศัตรูของพลับมีค่อนข้างน้อยและมีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่ทำลายรุนแรงถึงระดับเศรษฐกิจ โดยแมลงที่สำคัญที่พบได้แก่ แมลงวันผลไม้ เพลี้ยอ่อน (Aicena longisetosa) เพลี้ยไฟ (Thrips tabaci) เพลี้ยหอย หนอนผีเสื้อกินใบ (Fam. Limacodidae) และด้วงกัดกินในเวลากลางคืน (Fam. Scarabaeidae) เป็นต้น

แมลงวันผลไม้

แมลงวันผลไม้เป็นศัตรูที่สำคัญของพลับถึงแม้ว่าจะไม่รุนแรงเช่นผลไม้อื่นๆ ตัวเต็มวัยเป็นแมลงวันผลไม้ขนาดประมาณ 1เซนติเมตร สีเหลืองสลับดำ เพศเมียจะใช้อวัยวะวางไข่แทงผลและวางไข่ไว้ภายในผล เมื่อตัวหนอนฟักออกจากไข่ก็จะชอนไชกินเนื้อผลไม้ทำให้ผลเป็นจุดช้ำและเน่า เนื่องจากมีแบคทีเรียเข้าทำลายซ้ำตัวหนอนที่พบในผลมีลักษณะหัวแหลมท้ายป้าน หากพบมีการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ให้เก็บผลที่ถูกเจาะทำลายไปเผาหรือฝังดินให้ลึก ในพลับหวานการห่อผลพลับจะเป็นวิธีป้องกันการเข้าทำลายของแมลงวันได้ดีที่สุดในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงให้ใช้วิธีการติดกับดักเมทิลยูจีนอลผสมกับสารกำจัดแมลงแขวนไว้ในแปลงพลับร่วมกับการใช้เหยื่อพิษโปรตีนไฮโดรเสท ฉีดพ่นก่อนที่จะมีการระบาดรุนแรงประมาณ 1 เดือน จะเป็นการช่วยกำจัดตัวเต็มวัยที่มีอยู่ในพื้นที่ได้

เพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟเป็นแมลงศัตรูที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก เพราะคุณภาพของพลับขึ้นอยู่กับความสวยงามของผิวผล ซึ่งผลที่ถูกเพลี้ยไฟทำลายจะมีตำหนิเพลี้ยไฟขนาดเล็กประมาณ 1มิลลิเมตร ตัวเรียวยาวสีเหลืองอ่อนจนถึงสีน้ำตาล เคลื่อนไหวรวดเร็ว ตัวเต็มวัยมีปีกบินได้ ทำลายพลับโดยใช้ปากเขี่ยดูดกินน้ำเลี้ยงที่บริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ดอก และผลอ่อน ทำให้ใบยอดอ่อนหงิกม้วนมีแผลสีน้ำตาล หยุดการเจริญเติบโต หากเข้าทำลายในช่วงผลอ่อนจะทำให้เกิดอาการก้นผลลายหลังจากผลขยายใหญ่ขึ้น ดังนั้นการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟจึงต้องปฏิบัติตั้งแต่เริ่มติดดอกและผลอ่อน โดยทำการสำรวจปริมาณเพลี้ยไฟในช่วงนั้น หากพบมีการระบาดของเพลี้ยไฟให้ใช้สารเคมีกำจัดแมลง อะบาเม็กติน ฉีดพ่นทั่วทั้งต้นโดยเฉพาะบริเวณดอกและผล

เพลี้ยอ่อน, เพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้ง

เป็นแมลงขนาดเล็ก ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วไม่ค่อยเคลื่อนย้ายมากนัก จะอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงพืชตามยอดอ่อน ใต้ใบ กิ่งก้านและบริเวณขั้วผลกซึ่งทำให้เกิดปัญหาสิ่งปลอมปนในพลับ รวมทั้งน้ำหวานที่เพลี้ยทั้งสามชนิดปล่อยออกมายังเป็นอาหารของราดำ ทำให้เกิดคราบเหนียวสีดำเกาะตามกิ่ง ใบ และผล ซึ่งทำให้ผลผลิตไม่เป็นที่ต้องการของตลาดและเสียเวลาในการทำความสะอาด ในแปลงที่มีการระบาดของเพลี้ยทั้งสามชนิดรวมทั้งพบว่าเริ่มมีราดำเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการใช้สารเคมีกำจัดแมลง เช่น คลอร์ไพริฟอส, โปรฟิโนฟอส ฉีดพ่นและควรระวังเรื่องระยะตกค้างของสารเคมีที่ผลพลับด้วย

รายละเอียดมาตรฐานคุณภาพ   :   พลับแบ่งออกได้เป็น 3 เกรด ได้แก่

เกรดพิเศษ  ลักษณะผลดี ตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิจากโรค และแมลง หรือมีตำหนิที่เป็นแผลแห้งได้ไม่เกิน 5% ของผล ผลมีน้ำหนักประมาณ 120 กรัมขึ้นไป

เกรด 1         ลักษณะผลดี ตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิจากโรค และแมลง หรือมีตำหนิที่เป็นแผลแห้งได้ไม่เกิน 5% ของผล ผลมีน้ำหนักประมาณ 100-199 กรัม

เกรด 2         ลักษณะผลดี ตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิจากโรค และแมลง หรือมีตำหนิที่เป็นแผลแห้งได้ไม่เกิน 5% ของผล ผลมีน้ำหนักประมาณ 85-99 กรัม

ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด   :   เดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน