องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การปลูก เสาวรสบนพื้นที่สูง

ชื่อวิทยาศาสตร์    Passiflora edulis

ลักษณะทั่วไป

เสาวรสเป็นไม้ผลเขตร้อนชนิดเถาเลื้อย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามการใช้ประโยชน์ คือเสาวรสโรงงาน มี 2 พันธุ์ ได้แก่ ผลสีเหลือง และผลสีม่วง และเสาวรสรับประทานสดหรือเสาวรสหวาน ซึ่งมีอยู่ 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์รับประทานสด1 และรับประทานสด 2 ซึ่งทั้ง 2 พันธุ์ มีผิวผลสีม่วง

รายละเอียดมาตรฐานคุณภาพ    :   เสาวรสรับประทานสดหรือเสาวรสหวาน แบ่งออกเป็น 3 เกรด คือ

เกรดพิเศษ ผลดี ไม่บิดเบี้ยว ไม่แตก เนื้อในเหลืองเข้ม น้ำหนักผล 70 กรัมขึ้นไปและต้องมีความหวานไม่ต่ำกว่า 15%

เกรด 1 ผิวดี ไม่บิดเบี้ยว ไม่แตก เนื้อในเหลืองเข้ม น้ำหนักผลประมาณ 50-70 กรัม และต้องมีความหวานไม่ต่ำกว่า 15%

เกรดโรงงาน ผลที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เซนติเมตรขึ้นไป และผลต้อง ไม่เหี่ยว ไม่เบี้ยว และไม่เน่า

ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด    :   เดือนมิถุนายน-เดือนกุมภาพันธ์

การปลูกและการบำรุงรักษา

โดยธรรมชาติเสาวรสจะออกดอกและให้ผลผลิตเมื่อมีอายุประมาณ 5-7 เดือนหลังปลูกด้วยเมล็ด สำหรับเสาวรสหวานนั้นจะติดผลเร็วกว่านี้ เนื่องจากต้นกล้าที่เปลี่ยนยอดพันธุ์ดีแล้ว แต่อายุที่เหมาะสมจะให้ติดผลไม่ควรน้อยกว่า 5 เดือน เพื่อให้ต้นแข็งแรงเพียงพอและขึ้นค้าง ปกติแล้วเสาวรสจะให้ผลผลิตได้ตลอดปีถ้าไม่ขาดน้ำ แต่ในสภาพที่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน เสาวรสจะให้ผลผลิตได้ดีในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกุมภาพันธุ์ ดังนั้นการปลูกเสาวรสจึงมี 2 แบบคือ การปลูกแบบอาศัยน้ำฝนและการปลูกแบบให้น้ำ

1. การปลูกโดยอาศัยน้ำฝน

เนื่องจากเสาวรสจะให้ผลผลิตได้ดีในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกุมภาพันธุ์ ในการโดยอาศัยน้ำฝนจะต้องตัดแต่งในเดือนกุมภาพันธุ์ทุกปี ดังนั้นจะต้องวางแผนการปลูกก่อนเดือนอย่างน้อย 7 เดือน ซึ่งมี 2 ช่วง คือ ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝนถึงฤดูหนาว แต่หลังจากปลูกแล้วจะต้องให้น้ำเพื่อให้ต้นเสาวรสสามารถเจริญผ่านฤดูแล้งไปก่อน สำหรับอีกช่วงหนึ่ง คือ การปลูกในช่วงฤดูฝนในเดือนพฤษภาคมช่วงนี้ไม่ต้องให้น้ำ แต่ในปีแรกช่วงระยะเวลาให้ผลผลิตจะสั้นแค่ 3-4 เดือนเท่านั้น โดยจะเริ่มให้ผลผลิตในเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธุ์

2. การปลูกแบบให้น้ำ

พื้นที่ปลูกที่สามารถให้น้ำได้ในฤดูแล้ง จะทำให้เสาวรสให้ผลผลิตได้ทันทีเมื่ออายุประมาณ 5-7 เดือนหลังจากปลูก และให้ผลผลิตได้ตลอดปี ดังนั้นจึงสามารถปลูกได้ทุกช่วงเวลา แต่ต้องคำนึงถึงความสะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษาด้วย ตัวอย่างเช่นถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนจะประหยัดในเรื่องการให้น้ำแต่จะต้องเพิ่มงานกำจัดวัชพืชมากขึ้น ถ้าหากจะปลูกในช่วงฤดูแล้งจะต้องลงทุนในการให้น้ำแต่ปัญหาเรื่องวัชพืชจะน้อยลงมาก

ขั้นตอนการปลูก

1. การคัดเลือกและเตรียมพื้นที่

การเตรียมพื้นที่ปลูกเสาวรสหวาน ต้องมีการไถพรวนพื้นที่ก่อนถ้าหากพื้นที่ไม่ลาดชันมากนักและถ้าสามารถหว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ในขณะไถพรวนพื้นที่ได้จะดีมาก เนื่องจากเสาวรสมีระบบรากตื้นแต่แผ่กว้าง จากนั้นจึงขุดหลุมปลูกโดยให้มีระยะปลูก 3x3 เมตร จำนวน 177 ต้นต่อไร่ หลุมปลูกควรมีขนาด 30x30x30 เซนติเมตรและอยู่บริเวณโคนเสาค้างเพราะจะทำให้สะดวกในการปฏิบัติงานภายในแปลง รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรียือีกครั้งใส่ลงในหลุมและควรเตรียมหลุมปลูกก่อนล่วงหน้าระยะหนึ่งเพื่อให้อินทรีย์วัตถุที่ใส่ลงไปย่อยสลายก่อน

2. การคัดเลือกและเตรียมต้นกล้า


การปลูกเสาวรสหวานต้องมีการเตรียมต้นกล้าไว้ล่วงหน้าให้พอดีกับช่วงเวลาที่จะปลูก เพื่อไม่ให้ต้นกล้าอ่อนแอหรือแก่เกินไปซึ่งจะมีผลให้ระบบรากไม่ดี เพราะการผลิตต้นกล้าเสาวรสส่วนใหญ่จะใช้ถึงปลูกขนาดเล็กเพื่อให้สะดวกต่อการขนส่ง จึงไม่สามารถเลี้ยงต้นกล้าไว้ในถุงปลูกนานได้และที่สำคัญต้นกล้าที่จะนำมาปลูกต้องคัดเลือกให้มีความสมบูรณ์สม่ำเสมอกัน และไม่แสดงอาการเป็นโรคไวรัส ถ้าหากเป็นต้นกล้าที่นำมาจากแหล่งอื่นควรนำมาเลี้ยงไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้ต้นกล้าฟื้นตัวจากการกระทบกระเทือนที่เกิดจากการขนส่ง

3. วีธีการปลูก

หลังจากเตรียมหลุมปลูกแล้วจึงนำต้นกล้าลงปลูกได้ ในกรณีที่ปลูกด้วยต้นพันธุ์ที่เปลี่ยนยอดแล้วต้องให้รอยต่อของยอดพันธุ์กับต้นตออยู่สูงกว่าระดับดิน เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าทางรอยต่อและต้องแกะเอาวัสดุพันกิ่งออก เมื่อปลูกต้นกล้าแล้วให้ใช้หลักไม้ไผ่ขนาดเล็กความสูงถึงระดับค้างปักและผูกเถาติดกับหลักหรือเสาค้าง เพื่อให้ยอดของต้นตั้งตรงตลอดเวลา ต้นจึงจะเจริญเติบโตได้เร็วและต้องคอยผูกเถากับหลักอยู่เสมอๆ เมื่อยอดเจริญยาวขึ้น

4. การทำค้าง

 


เนื่องจากเสาวรสเป็นไม้ผลประเภทเถาเลื้อยการปลูกจึงต้องมีค้างรองรับต้นและผลผลิตค้างเสาวรสต้องแข็งแรงเพียงพอสามารถใช้งานได้อย่างน้อย 3 ปี ต่อการปลูก 1 ครั้ง และต้องทำได้ทันทีเมื่อเถาเจริญถึงค้าง ซึ่งปกติจะใช้เวลา 3เดือน การทำค้างช้าเป็นปัญหาที่พบมากเพราะเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ทุนและแรงงานมากที่สุดในการปลูกเสาวรส ถ้าหากทำค้างช้าเสาวรสจะให้ผลผลิตช้าลง

5. การจัดทรงต้นและการเลี้ยงเถา

 

เสาวรสมีการจัดทรงต้นเช่นเดียวกับไม้ผลชนิดอื่นๆ ซึ่งจะต้องจัดทรงต้นให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตเริ่มดำเนินการตั้งแต่หลังปลูกจนกระทั่งต้นเจริญขึ้นค้าง โดยจะต้องให้เสาวรสมีลำต้นเดียวตั้งแต่ระดับพื้นดินจนถึงค้าง ระยะนี้จะต้องคอยตัดหน่อที่งอกจากต้นตอและกิ่งของต้นออกให้หมดรวมทั้งต้องมัดเถาให้เลื้อยขึ้นตั้งตรงอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้ายอดของเถาห้อยลงจะทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโตและแตกตาข้างมาก เนื่องจากเสาวรสรับประทานสดเป็นต้น ที่ได้จากการเสียบยอดจึงติดผลเร็ว ต้องหมั่นเด็ดผลทิ้งจนกว่าต้นจะเจริญขึ้นถึงค้าง หลังจากต้นเจริญถึงค้างแล้วให้ทำการตัดยอดเพื่อบังคับให้แตกเถาใหม่ 3-4 กิ่ง จากนั้นจัดเถาให้กระจายออกไปโดยรอบต้นทั่วพื้นที่ของค้างและควรตัดยอดของทุกเถาอีกครั้งเมื่อยาวพอสมควรแล้วเพื่อช่วยให้แตกยอดมากขึ้น

 6. การใส่ปุ๋ย

1. ปุ๋ยอินทรีย์ มีประโยชน์ช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างของดิน ทำให้ต้นเสาวรสมีความแข็งแรงและลดความรุนแรงของโรคไวรัส ซึ่งได้แก่ ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก โดยต้องใส่ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะใส่พร้อมกับการเตรียมดินก่อนปลูกและหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว หลังจากทำการตัดแต่งกิ่งในแต่ละปี ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธุ์โดยใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักประมาณ 10กิโลกรัมต่อต้นตลอดปี อาจจะใช้วิธีโรยเป็นแถวระหว่างต้นหรือโรยรอบต้นแล้วไถพรวนหรือใช้ดินกลบ

2. ปุ๋ยเคมี โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้อย่างต่อเนื่อง ครั้งละจำนวนน้อยแต่บ่อยครั้งเพราะเสาวรสมีช่วงการให้ผลผลิตตลอดปีและพื้นที่สูงมักจะมีปัญหาการชะล้างโดยฝนทำให้เกิดการสูญเสียปุ๋ยได้ง่าย อัตราปุ๋ยเคมีที่แนะนำให้ใช้จำนวน 150-200 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี หรือประมาณ 1 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี โดยใส่ดังนี้

ปีที่ 1 ระยะหลังปลูกจนถึงอายุ 5-7 เดือนหรือเริ่มติดผล ใส่ ดังนี้

ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 300 กรัมต่อต้นต่อปี

- รองก้นหลุม 100 กรัม

- แบ่งใส่ทางดิน 2 ครั้ง สูตร 46-0-0 อัตรา 200 กรัมต่อต้นต่อปี

- แบ่งใส่เดือนละครั้งโดยผสม  น้ำราดหรือใส่ทางดิน ระยะก่อนเก็บผลผลิต 1 เดือนจนถึงสิ้นสุดฤดูกาล

-ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 300 กรัมต่อต้นต่อปี ใส่ทางดินเดือนละครั้ง ประมาณ 50 กรัมต่อต้น

-สูตร 0-0-50 หรือ 0-0-60 อัตรา 200 กรัมต่อต้นต่อปี ใส่ทางดินเดือนละครั้ง ในระหว่างกลางของการใส่ปุ๋ย

-สูตร 13-13-21 แต่ละครั้งประมาณ 40 กรัมต่อต้น

ปีที่ 2 และ 3 (ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน เก็บผลผลิต สิงหาคม-กุมภาพันธุ์) หลังตัดแต่งกิ่งจนถึงเริ่มติดผล

-ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 300 กรัมต่อต้นต่อปี

-สูตร 46-0-0 อัตรา 200 กรัมต่อต้นผสมกัน ใส่ทางดินโดยแบ่งใส่เดือนละ 1 ครั้งๆละ 100 กรัม ก่อนเริ่มเก็บผล 1 เดือนถึงสิ้นสุดฤดูกาล ใส่ปุ๋ยเช่นเดียวกับปีที่ 1

ปีที่ 2-3 (ปลูกแบบให้น้ำเก็บผลผลิตได้ตลอดปี) ตลอดทั้งปี

-ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 300 กรัมต่อต้นต่อปี

-สูตร 46-0-0 อัตรา 200 กรัมต่อต้นต่อปี ผสมใส่ 2 เดือนครั้ง 100 กรัม

-สูตร 13-13-21 อัตรา 300 กรัมต่อต้นต่อปี แบ่งใส่เดือนละ 50 กรัมต่อต้นสลับช่วงกับสูตร 15-15-15 และสูตร 46-0-0 สูตร 0-0-50 หรือ 0-0-60 อัตรา 300 กรัมต่อต้นต่อปี ใส่ 2 เดือนครั้งๆละ 50 กรัม สลับช่วงกับสูตร 13-13-21

7. การให้น้ำและการกำจัดวัชพืช

เสาวรสทนความแห้งแล้งได้ดีพอสมควร สามารถปลูกโดยอาศัยน้ำฝนได้ แต่การปลูกเสาวรสหวานแบบให้น้ำเพื่อให้ผลผลิตตลอดปีนั้นจำเป็นต้องให้น้ำฤดูแล้งประมาณ 7 ครั้ง ซึ่งสามารถให้ได้หลายวิธี เช่น สปริงเกอร์ หรือให้น้ำทางสายยาง เป็นต้น สำหรับวัชพืชต้องหมั่นกำจัดอยู่เสมอ อาจจะใช้วิธีการตัดหรือพ่นด้วยสารเคมีแต่ต้องใช้สารเคมีประเภทดูดซึม หลังจากที่เถาเต็มค้างแล้วปัญหาเรื่องวัชพืชจะน้อยลง

8. การปลิดผล

โดยระยะธรรมชาติเสาวรสจะออกดอกติดผลได้ง่าย โดยดอกจะเกิดที่ทุกข้อบริเวณโคนก้านใบของกิ่งใหม่ ถึงแม้ว่าดอกบางส่วนจะร่วงไม่ติดผล แต่ก็มักจะติดผลค่อนข้างมากทำให้ผลผลิตคุณภาพไม่สม่ำเสมอจำเป็นต้องปลิดผลที่มีคุณภาพต่ำทิ้งให้ผลที่เหลืออยู่มีคุณภาพดี ซึ่งจำเป็นมากสำหรับเสาวรสรับประทานสดที่ต้องเน้นเรื่องคุณภาพของผลผลิตพิเศษ ใน 1 เถาเสาวรสจะให้ผลที่มีคุณภาพดีเป็นชุด ชุดละ 3-4 ผล หลังจากติดผล 1 ชุดแล้วผลชุดต่อไปมักมีขนาดเล็กเนื่องจากมีอาหารไม่เพียงพอจึงต้องปลิดทิ้งบ้าง นอกจากนี้ยังมีผลที่บิดเบี้ยวเนื่องจากการทำลายของโรคและแมลงซึ่งต้องปลิดทิ้งด้วย โดยปลิดเมื่อผลยังมีขนาดเล็กอยู่

9. การตัดแต่งเถา

1. การปลูกแบบอาศัยน้ำฝน จะต้องทำการตัดแต่งหนัก 1 ครั้ง หลังจากสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวในเดือนกุมภาพันธุ์ โดยตัดเถาโครงสร้างที่เกิดจากลำต้นให้เหลือ 3-4 กิ่งยาว แต่ละกิ่งยาวประมาณ 30 เซนติเมตร หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนต้นเสาวรสจะแตกยอดใหม่ที่กิ่งโครงสร้าง แต่ยอดเหล่านี้จะเจริญเติบโตค่อนข้างช้าเนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแล้ง ซึ่งอาจมีผลจากอาการของโรคใบด่างด้วย จนกระทั่งเมื่อเริ่มเข้าฤดูฝนจึงจะแตกตาข้างเกิดยอดใหม่ที่สมบูรณ์ไว้ 2-3ยอดต่อเถาโครงสร้าง 1 เถา และจัดเถาให้กระจายไปรอบต้น

2. การปลูกแบบให้น้ำ การปลูกแบบนี้จะไม่มีการตัดแต่งหนักในฤดูแล้งเพราะต้องการให้มีผลผลิตตลอดปี แต่จะใช้การตัดยอดของเถาโครงสร้างที่ยืดยาวออกไปเป็นระยะๆ หลังจากที่ต้นขึ้นค้างแล้วเพื่อบังคับให้แตกเถาข้างมากขึ้นและทำการตัดแต่งเถาข้างหรือเถาแขนงที่แก่หรือให้ผลผลิตแล้วออกเป็นประจำเพื่อให้แตกยอดใหม่ทดแทนตลอดเวลา โดยตัดให้เหลือ 2-3 ตา ในบางช่วงที่ต้นติดผลน้อยกว่าปกติ อาจจะตัดแต่งให้หนักขึ้นได้โดยจะไม่กระทบต่อการให้ผลผลิตมากนัก

10. การเก็บเกี่ยวและการบ่ม

  

เสาวรสหวาน จะเก็บเกี่ยวบนต้นโดยไม่ปล่อยให้ร่วงเหมือนกับเสาวรสโรงงาน ผลเสาวรสจะสุกเมื่ออายุ 50-70 วันหลังดอกบาน ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว คือ เมื่อผลเปลี่ยนเป็นสีม่วงแล้วประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ โดยสีของผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงอมม่วง เก็บเกี่ยวโดยใช้กรรไกรตัดขั้วผลจากต้นให้ขั้วผลสั้นติดผลแล้วจึงนำมาบ่มเพื่อให้สีของผลสวยและมีรสชาติดีขึ้น โดยทั่วไปแล้วจะทำการเก็บเกี่ยวทุกๆ 2-3 วันต่อครั้ง ในการบ่มแนะนำให้ใช้แคลเซียมคาร์ไบด์หรือถ่านแก๊ส ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ใส่ผลเสาวรสลงในภาชนะ เช่น กล่องกระดาษแล้วนำแคลเซียมคาร์ไบด์หรือถ่านแก๊สใส่ภาชนะเล็กๆ หรือห่อด้วยกระดาษพรมน้ำเล็กน้อยให้เกิดก๊าซอะเซทธิลีนแล้วปิดภาชนะทิ้งไว้ 2-3วัน ผลจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเข้มจึงส่งจำหน่าย ในกรณีที่ผลผลิตมีจำนวนมากให้ใช้วิธีใส่ผลผลิตลงในลังพลาสติก สิ่งที่ควรระวังคือ อย่าใส่แคลเซียมคาร์ไบด์มากเกินไปเพราะจะทำให้ผิวผลเสียหาย

โรคและแมลงศัตรู

 โรคใบด่าง (Mosaic)

เกิดจากเชื้อไวรัส 2 ชนิด คือ Passion fruit Woodiness Virus (PWV) ลักษณะต้นที่เป็นโรคจะแสดงอาการใบด่าง เส้นใบใส ผลด่างทั่วผล และมีอาการด่างแบบวงแหวน ผิวเปลือกไม่เรียบ เปลือกหนากว่าปกติ ผลจะมีลักษณะบิดเบี้ยวบิดเบี้ยวและขนาดเล็กลง เชื้อไวรัสอีกชนิดหนึ่ง คือ Cucumber Mosaic Virus (CMV) อาการที่พบคือ ใบด่างเหลือง ใบยอดบิด และหงิกงอ ผิวไม่เรียบ ผลบิดเบี้ยว

การป้องกันกำจัด

1. เมล็ดที่นำมาปลูกเพื่อเป็นต้นตอและพันธุ์ที่จะนำมาเสียบยอดควรปลอดจากเชื้อไวรัส

2. ไม่ควรปลูกปะปนกับพืชตระกูลแตง และตระกูลมะเขือ

3. กำจัดแมลงพาหะและวัชพืชทั้งในแปลงและบริเวณรอบแปลงปลูก

4. เครื่องมือที่ใช้ตัดแต่งกิ่ง ควรทำความสะอาดโดยการจุ่มลงในน้ำสบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างจาน ทุกครั้งก่อนและหลังตัดแต่งเสร็จในแต่ละต้น

5. บำรุงต้นให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้ต้นทนทานต่อการทำลายของโรคไวรัส และยังคงให้ผลผลิตได้ดีถึงแม้ว่าปริมาณและคุณภาพจะลดลงบ้าง

โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose)

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum sp. ทำให้ใบเป็นแผลสีน้ำตาลขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้ม หากเข้าทำลายส่วนของเถาจะทำให้แผลลักษณะ Canker โดนระยะแรกเกิดการตายของเนื้อเยื่อและเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาลขนาดเล็ก ต่อมาแผลขยายใหญ่ลุกลามไปตามกิ่ง แผลเมื่อรุนแรงจะปรากฏเป็นสีน้ำตาลปนเทามีวงซ้อนกัน

 การป้องกันกำจัด

1. ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูกแล้วนำไปเผาทำลายเพื่อลดแหล่งและการแพร่ระบาดของเชื้อสาเหตุ

2. หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี แนะนำให้ใช้บิโนมิล (เบนเลท) หรือคาร์เบนดาซิม (บาวิสติน, เดอโรชาล) ฉีดพ่นสลับกับสารประกอบทองแดง เช่น โคไซด์ดีเอฟ โคแมก หรือ คูปราวิต 1-2 ครั้ง

โรคเถาแห้งตาย (Die back)

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia sp. ทำให้เกิดอาการอาการตายของเถาและมักจะตายจากส่วนยอดมายังโคน

การป้องกันกำจัด ตัดกิ่งที่เป็นโรคนำไปเผาทำลาย จากนั้นฉีดพ่นสารเคมี ได้แก่ พัซีเอ็มบี+อีทริไดอะโซล (เทอร์ราคอล ซุปเปอร์เอกซ์) สลับกับโปรปิเนป (แนทราโคล) หรือ แมนโคเซบ (ไดเทนเอ็ม-45) ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง

โรครากเน่าและโคนเน่า (Damping off, Root rot and foot rot)

มักจะเกิดกับต้นกล้าหรือต้นที่ปลูกในพื้นที่ระบายน้ำไม่ดี ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia sp. และ Fusarium sp. โดยต้นจะแสดงอาการเหี่ยว บางครั้งลำต้นบวมพองและแตก เมื่อผ่าดูระบบท่อน้ำท่ออาหารบริเวณรากและโคนต้นเป็นสีน้ำตาล

การป้องกันกำจัด

1. ไม่ควรเพาะเมล็ดถี่เกินไป

2. ในพื้นที่ที่เคยพบการระบาด ควรทำการไถดินตากแดดไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณของเชื้อโรคในดิน

3. ควรนำเชื้อราไตรโคเดอร์มามาใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรคในดินและควรใช้อย่างสม่ำเสมอ

4. เมื่อเริ่มพบการเกิดโรคควรกำจัดแหล่งของเชื้อโรค โดยขุดต้นที่เป็นโรคออกจากแหล่งปลูกแล้วนำไปเผาทำลาย หากพบการแพร่ระบาดของโรคมากและจำเป็นต้องใช้สารเคมี แนะนำให้ใช้ พีซีเอ็นบี+อีทริไดอะโซล (เทอร์ราคอล ซุปเปอร์เอกซ์) หรือโฮโอพาเนต (พรอนโต-40) ราดบริเวณหลุมและโคนต้นที่อยู่ใกล้เคียงสัปดาห์ละครั้ง

โรคจุดสีน้ำตาลที่ผล (Brown fruit spot)

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum sp. ทำให้เป็นจุดสีน้ำตาลขนาดเล็กจนถึงไหม้ลามติดกันเป็นบริเวณกว้างขอบแผลสีเขียวเข้ม บางผลมีอาการผลเหี่ยวร่วมด้วย

การป้องกันกำจัด

ต้องหมั่นดูแลรักษาแปลงให้สะอาดอยู่เสมอตัดแต่งเถาที่แก่และแน่นทึบออกบ้าง เพื่อให้แสงแดดส่องถึงและให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทำการตัดแต่งผลที่เป็นโรคออกจากแปลง หากพบการแพร่ระบาดของโรคมากและจำเป็นต้องทำการป้องกันกำจัด แนะนำให้ใช้สารเคมี เช่น บีโนมิล(เบนเลท) หรือ แมนโคเซบ (ไดเทนเอ็ม-45) หรือ แคปแทน ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง แต่ไม่ควรใช้ในช่วงหลังเก็บเกี่ยว

แมลงศัตรูของเสาวรส

ไรแดงเทียม (Brevipalpus phoenicis)

ลักษณะการทำลายจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ กาบใบ ดอก ผล กิ่งก้าน และลำต้น ใบและผลที่ถูกทำลายในระยะแรกจะเป็นจุดสีขาวเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป ผิวของใบและผลบริเวณที่ถูกทำลายจะเหี่ยวยุบลงและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและค่อยๆแห้งร่วงหลุดจากต้น หากมีการระบาดมากให้ใช้สาร bromopropylate หรือ สาร amitraz ฉีดพ่นบริเวณใต้ใบและเน้นบริเวณขั้วผล

เพลี้ยไฟ (Thrip)

เพลี้ยไฟมีปากดูดมักเข้าทำลายที่ใบอ่อนและผลอ่อน โดยส่วนของพืชที่ถูกเพี้ยไฟเข้าทำลายจะมีลักษณะกร้านสีน้ำตาล เพลี้ยไฟมักจะระบาดในช่วงฤดูแล้งหรือช่วงที่ฝนทิ้งช่วงที่ฝนทิ้งช่วง หากพบการระบาดของเพลี้ยไฟควรทำการป้องกันกำจัดพร้อมบำรุงต้นพืชให้แข็งแรงและกำจัดวัชพืชในแปลง

สารเคมีป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ

1. คาร์โบซัลเฟต (พอสซ์) 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

2. โพรไทโอฟอส (โตกุไธออน) 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

3. อิมิดาโคลพริด (คอนฟิดอร์) 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

การป้องกันกำจัดแมลงด้วยสารเคมีสามารถทำได้ในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตและให้งดการพ่นสารเคมีทุกชนิดก่อนการเก็บเกี่ยว 7-15 วัน