องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

แนวทางลดการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตรและโลหะหนักในพื้นที่เกษตรบนพื้นที่สูง

จากข้อมูลปริมาณการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรปี พ.ศ.2566 พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีเกษตรรวมทั้งสิ้น 141,191 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 27,551 ตัน โดยสารเคมีเกษตรที่มีการนำเข้าในปริมาณมาก ได้แก่ สารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลงศัตรูพืช และสารป้องกันกำจัดโรคพืช ดังตาราง

เกษตรกรใช้สารเคมีเหล่านี้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความเสียหายของผลิตผลทางการเกษตร แต่ทว่าสารเหล่านี้มีส่วนประกอบของโลหะหนัก ได้แก่ แคดเมียม (Cd) ทองแดง (Cu) ตะกั่ว (Pb) และสังกะสี (Zn)

หากเกษตรกรใช้ไม่ถูกวิธีหรือมีการป้องกันที่ไม่ดีพอก็จะทำให้สารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย และอาจตกค้างในผลิตผลทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในวงกว้าง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากมีการตกค้างของสารเคมีเกษตรในดิน แหล่งน้ำในระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารอีกด้วย โดยเฉพาะการทำเกษตรบนพื้นที่สูงซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ

ในปัจจุบันนี้เกษตรกรบนพื้นที่สูงมีการปลูกพืชที่เข้มข้น ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) จึงให้ความสำคัญกับการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อเป็นการลดผลกระทบจากสารเคมีเกษตรต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต จึงได้รวบรวมข้อมูลและแนวทางในการลดการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตรและโลหะหนักในพื้นที่เกษตรบนพื้นที่สูงไว้ดังนี้

1. การทำเกษตรในระบบอินทรีย์ การทำเกษตรอินทรีย์เน้นการทำเกษตรที่ไม่พึ่งพาสารเคมีเกษตร โดยใช้วิธีการจัดการธรรมชาติ เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชร่วม และการใช้สัตว์ที่เป็นประโยชน์ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดการปนเปื้อนในดินและน้ำ แต่ยังส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและสุขภาพดินในระยะยาว

2. การปลูกพืชในระบบเกษตรปลอดภัย (GAP) เป็นการทำการเกษตรที่เน้นการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานเพื่อให้พืชแข็งแรงและปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นระบบการผลิตที่อนุญาตให้ใช้สารเคมีทางการเกษตรและปุ๋ยเคมี ในกระบวนการผลิตได้เเต่ต้องใช้ในปริมาณที่ถูกต้องตามคำเเนะนำของกรมวิชาการเกษตรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ผลิตผล/สินค้าเกษตรที่เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วอาจมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในระดับที่ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

3. การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งมีส่วนช่วยลดการปนเปื้อนในดินและน้ำ ปุ๋ยอินทรีย์มาจากซากพืชหรือสัตว์ที่มีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ไม่เพียงแต่จะช่วยลดการใช้สารเคมี แต่ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้น

4. การจัดการศัตรูพืชด้วยชีวภาพ การใช้ศัตรูพืชธรรมชาติหรือสารชีวภาพเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดการใช้ยาฆ่าแมลง เช่น การใช้แมลงที่เป็นศัตรูของแมลงศัตรูพืช หรือการใช้สารสกัดจากพืชที่มีคุณสมบัติกำจัดแมลงได้ การลดการใช้ยาฆ่าแมลงเคมีจะช่วยลดการปนเปื้อนของน้ำและดิน รวมถึงลดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์

5. การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน การทำการเกษตรบนพื้นที่สูงการจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากน้ำที่ไหลจากพื้นที่เกษตรอาจปนเปื้อนสารเคมีและลงสู่แม่น้ำลำธาร การใช้ระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ การใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างรอบคอบ และการก่อสร้างแนวกันดินกันน้ำสามารถลดการปนเปื้อนสารเคมีเกษตรได้ นอกจากนี้ การสร้างบ่อเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำฝนก็เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันการพังทลายของดินและลดการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำ

6. การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการปลูกพืช เช่น ระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นในดินหรือระบบ GPS ในการจัดการพื้นที่ สามารถช่วยลดการใช้สารเคมีเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้ปุ๋ยและน้ำตามความต้องการที่แท้จริงของพืชช่วยลดการใช้สารเคมีเกินความจำเป็น

7. การส่งเสริมความรู้และการอบรม การให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการทำเกษตรแบบยั่งยืน การจัดการอบรมและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลดใช้สารเคมี การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และวิธีการป้องกันศัตรูพืชตามธรรมชาติจะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้และทักษะในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

หากเกษตรกรนำวิธีการหรือแนวทางการลดการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตรและโลหะหนักในการทำการเกษตรตามที่ได้ไว้ข้างต้นมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ก็จะส่งผลให้เกิดการเกษตรที่ปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและผู้บริโภคในระยะยาวต่อไป

แหล่งที่มาของเนื้อหา : กรมควบคุมมลพิษ. (2567). รายงานเอกสารเผยแพร่ กรมควบคุมมลพิษ ปี 2567. สืบค้นจาก https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2024/06/pcdnew-2024-06-21_06-42-54_474054.pdf


ผู้เขียน/เรียบเรียงโดย  ดารากร อัคฮาดศรี จุไรรัตน์ ฝอยถาวร และอาผู่ เบเช

ออกแบบและเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน