องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

กระเทียมต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium ampeloprasum L.porrum (syn. Allium porroum L.) 

ชื่อสามัญ  Leek

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป กระเทียมต้นจัดอยู่ในวงศ์ Alliaceae (Amaryllidaceae) มีถิ่นกำเนิดแถบเมดิเตอเรเนียน เป็นพืชเมืองหนาวที่มีการเจริญเติบโตสองฤดู คือ ฤดูที่หนึ่งเจริญทางลำต้น ฤดูที่สองเจริญทางดอก และเมล็ด แต่นิยมปลูกเป็นพืชฤดูเดียว กระเทียมต้นประกอบด้วยราก (root) สองระบบคือ fibrous root และ root hair ลำต้น (stem) มีลักษณะเป็นแผ่นอยู่ระหว่างลำต้นเทียมและราก ใบจริง (leaf) มีลักษณะเป็นตัว V แบบยาวคล้ายใบกระเทียม แต่มีขนาดใหญ่และหนากว่า มีความยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เจริญด้านตรงกันข้ามสลับกัน

ลำต้นเทียม (pseudostem) หรือโคนก้านใน (shaft) เป็นส่วนที่ขยายตัวและสะสมอาหารสำรองสีขาว เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 – 12 เซนติเมตร สูง 15 – 70 เซนติเมตร เป็นส่วนที่นำไปประกอบอาหารและมีน้ำร้อยละ 40 ของต้น ขนาดและความยาวของลำต้นเทียมขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความสูงของต้นโดยทั่วไปประมาณ 40 – 75 เซนติเมตร

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ใช้ทำซุป สตู ผัดน้ำมันหอย ผัดกับอาหารทะเล หรือตุ๋น

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

พื้นที่ปลูกกระเทียมต้นควรสูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป สามารถปลูกได้ตลอดปี กระเทียมต้นเป็นพืชที่มีระบบรากตื้น ดินที่ใช้ต้องร่วนซุย มีหน้าดินลึก ระบายน้ำได้ดี และมีอินทรีย์วัตถุสูง ก่อนปลูกควรเติมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก จัด pH ที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 6.0 – 6.8 ไม่สามารถเจริญได้ดีในดินทีมีสภาพเป็นกรด อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการปลูก 12 – 21 องศาเซลเซียส อากาศเย็นจะทำให้การเจริญเติบโตดี

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมกล้า  

1. การเตรียมแปลงเพาะกล้า ในฤดูฝนควรอยู่ภายใต้หลังคาพลาสติก สำหรับ ฤดูร้อน/หนาวใช้อุโมงตาข่าย

2. ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตรใส่ปุ๋ยรองพื้น ดังนี้

   - ปุ๋ย 12 – 24 – 12 ปริมาณ 30 กรัม/ตร.ม.

   - ปูนขาว ปริมาณ 30 กรัม/ตร.ม.

   - ปุ๋ยคอก (มูลไก่ไม่ควรใช้มูลไก่อัดเม็ด) ปริมาณ 1 กำมือ/ตร.ม. คลุกให้ทั่วแปลง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม  

3. การบ่มเมล็ด โดยการแช่เมล็ดในน้ำผสมยากันรา นาน 15 นาที ผึ่งเมล็ดไว้ประมาณ 30 นาที แล้วห่อด้วยผ้าไว้ 1 คืน นำเมล็ดที่บ่มแล้ว หยอดในแปลงเพาะกล้า

4. ขีดร่องขวางแปลงลึก 1 เซนติเมตร ห่าง 10 เซนติเมตร หยอดเมล็ดที่บ่มแล้วแล้วห่างกัน 1 เซนติเมตร กลบดินบางๆ รดน้ำผสมสารเคมีเช่น S – 85 ป้องกันมดให้ทั่วทั้งแปลง

5. ควรรดน้ำวันละ 1 ครั้ง เมื่อมีอายุได้ 2 เดือน จึงย้ายปลูก หรือสังเกตเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นเทียมประมาณ 8 มิลลิเมตร (ลำต้นเท่ากับดินสอ) ควรใส่ปุ๋ยเคมี เช่น 15 – 15 – 15 และยูเรีย เมื่ออายุได้ 25 และ 50 วัน

6. กล้าสำหรับย้ายปลูกตัดปลายให้สุงกว่ายอด 2 เซนติเมตร ตัดรากเหลือ 1 เซนติเมตร แช่รากในน้ำผสม ไดเทนเอ็ม 45 นาน 10 นาที ก่อนย้ายปลูก

การเตรียมดิน กระเทียมต้นเป็นพืชรากตื้น การเตรียมดินควรไถหรือขุดให้ลึกประมาณ 15 – 20 ซม. แล้วตากทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อกำจัดโรค แมลง และวัชพืช ใส่ปูนขาวปรับ pH ตามผลการวิเคราะห์ดิน ทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก และรองพื้นด้วยปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 อัตรา 20กรัม/ตร.ม. คลุกเคล้าให้เข้ากัน

การปลูก หลังจากเตรียมแปลงปลูกเรียบร้อยแล้ว ก่อนปลูกควรรดน้ำให้แปลงมีความชุ่มชื้นแล้วทำการปลูกโดย ขุดร่องลึก 30 ซม. ห่างกัน 80 ซม. เลือกต้นกล้าที่มีขนาดเท่ากันปลูกก่อนในแปลงเดียวกัน กลบดินรดน้ำให้ทั่วแปลง

การให้น้ำ กระเทียมต้องการน้ำควรมีน้ำเพียงพอตลอดฤดูการปลูก ในช่วงแรกของการเจริญเติบโต ถ้าฝนตกไม่พอ ควรให้น้ำเพิ่มเติม หรือใช้สปริงเกอร์ให้น้ำแบบฝอยช่วย

การให้ปุ๋ย หลังปลูก 20 วัน โรย 21 – 0 – 0 และ 15 – 15 – 15 อัตรา 20 กรัม/ตร.ม. ลงในร่องปลูก แล้ว กลบดิน พูนโคน อายุ ได้ 40 วัน โรยปุ๋ย 1 5 – 15 –15 แล้วกลบดินพูนโคนต้นถึงระดับใบล่าง

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 90 วันขึ้นไป หรือเมื่อส่วนของลำต้นเทียม (ส่วนกาบใบสีขาว) ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 2.5 เซนติเมตรขึ้นไป

การเก็บเกี่ยว

1. เก็บเกี่ยวโดยการถอนจากดิน

2. ทำความสะอาดส่วนสกปรกเปื้อนดิน โดยลอกกาบใบนอกออก

3. ตัดส่วนของรากทิ้ง ให้เหลือประมาณ 0.5 เซนติเมตรจากโคนต้น และตัดปลายใบทิ้งให้พอดีกับภาชนะบรรจุถุงพลาสติก

4. ถ้าผักเปียกน้ำ ควรผึ่งให้แห้ง ระวังอย่าให้ใบหักช้ำ

5. บรรจุลงถุงพลาสติกเจาะรู ถุงละ 8 กิโลกรัม

6. ลดอุณหภูมิเฉียบพลันให้เหลือ 3 องศาเซลเซียส ขนส่งโดยรถห้องเย็น

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ : คุณภาพขั้นต่ำ มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ลำต้นเทียมตรงมีสีขาว สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง 1. ลำต้นเทียมมีความยาว 20 – 25 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เซนติเมตรขึ้นไป

      2. ใบเป็นจุดได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ใบ

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง 1. ลำต้นเทียมมีความยาว 15 – 20 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 – 3.5 เซนติเมตร

      2. ใบเป็นจุดได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ใบ กลุ่มใบยอดอาจมีลักษณะห่างได้เล็กน้อย

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. มีลำต้นเทียมขนาดเท่ากับชั้นสอง

     2. ใบเป็นจุดได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ใบ กลุ่มใบยอดอาจมีลักษณะห่างได้เล็กน้อย

     3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง : กระเทียมต้นที่อยู่ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน มีชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอ

การเตรียมสู่ตลาด

1. ตัดแต่งและกำจัดส่วนที่เป็นตำหนิ

2. ตัดส่วนปลายใบออก (เหลือส่วนใบไว้ 10 – 15 เซนติเมตร)

3. บรรจุถุงพลาสติกทรงกระบอกเจาะรู

การเก็บรักษา : อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 – 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 1 – 3 เดือน

 

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์