องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

กระเจี๊ยบเขียว

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ เดิม :    Hibiscus esculentus  L.   ปัจจุบัน : Abelmoschus esculentus   L. Moench.

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชผักยืนต้น อายุประมาณ 1 ปี มีความสูง 40 เซนติเมตร ถึง 2 เมตร 

ลำต้น มีขนสั้น ๆ มีหลายสี แตกต่างตามพันธุ์ 

ใบ มีลักษณะกว้างเป็นแฉกคล้ายใบละหุ่ง แต่ก้านใบจะสั้นกว่า 

ดอก มีสีเหลือง โคนดอกด้านในสีม่วง เมื่อบานคล้ายดอกผ้าย มีเกสรตัวผู้ตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน 

ฝัก มีรูปเรียวยาว ปลายฝักแหลม มีทั้งชนิดฝักกลมและฝักเหลี่ยม ซึ่งมีเหลี่ยม 5-10 เหลี่ยม ขึ้นกับพันธุ์ ในแต่ละฝักมีเมล็ด 80-200 เมล็ด

ฝักแก่ สีฝักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และจะแตกออกตามแนวรอยสันเหลี่ยม ทำให้เห็นเมล็ดที่อยู่ข้างใน

เมล็ด มีลักษณะกลมรีขนาดเดียวกับถั่วเขียว เมล็ดอ่อนมีสีขาว เมื่อแก่มีสีเทา

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร 

มีวิตามินซี และแคลเซียมสูง เมื่อเทียบกับผักชนิดอื่น ประกอบด้วยสารจำพวกกัม(gum) และเพคติน (pectin) ในปริมาณสูง ทำให้อาหารที่ประกอบขึ้นจากฝักกระเจี๊ยบมีลักษณะเป็นเมือก ซึ่งช่วยป้องกันอาการหลอดเลือดตีบตัน สามารถรักษาโรคความดันโลหิต บำรุงสมอง ลดอาการโรคกระเพาะอาหารและยังมีสารขับพยาธิตัวจี๊ดได้ เป็นแหล่งที่ให้น้ำมันไม่น้อยกว่า 14 เปอร์เซนต์ มีศักยภาพเป็นแหล่งให้โปรตีนโดยมีปริมาณโปรตีนไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซนต์

 

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]

กระเจี๊ยบเขียวสามารถปลูกได้ตลอดปีในประเทศไทย การปลูกเพื่อส่งออกต่างประเทศ จะปลูกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤษภาคมเท่านั้น เนื่องจากตลาดหลักคือ ประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถปลูกได้ในช่วงนี้ (ญี่ปุ่นปลูกกระเจี๊ยบเขียวทางตอนใต้ของประเทศจะหยุดปลูกในช่วงฤดูหนาว และเริ่มปลูกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ซึ่งผลผลิตจะออกราวเดือนพฤษภาคม) ดังนั้น ส่วนใหญ่จะหยอดเมล็ดประมาณเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เพื่อเก็บเกี่ยวเดือนตุลาคมถึงเมษายน หรือตามผู้ซื้อต้องการ

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมดิน กระเจี๊ยบเขียวเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินร่วนระบายน้ำดี ไม่ชอบความชื้นมากเกินไป ในกรณีที่ระดับน้ำใต้ดินสูง หรือปลูกในฤดูฝนต้องยกร่องสูง การเตรียมดินมีความสำคัญมาก ดินปลูกต้องร่วนซุยไม่แน่น มีการระบายน้ำดี ควรใส่อินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก มูลเป็ด มูลไก่ ฯลฯ และใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดินให้เหมาะสม การเตรียมแปลง ใช้แทรกเตอร์ขนาดใหญ่ 1 - 2 ครั้ง แล้วยกร่องไถดิน ตากดิน 3 - 5 วัน ไถครั้งที่ 2 พรวนดิน แล้วยกร่องด้วยแทรกเตอร์ ยกร่องกว้าง 75 เซนติเมตร (ให้น้ำแบบร่อง) ใช้จอบปรับร่องให้เสมอ เพื่อให้น้ำ้เข้าแปลงได้ดี หลุมปลูกจะอยู่ต่ำกว่าขอบแปลงประมาณ 1 คืบ ปลูกแถวคู่ ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร   พื้นที่ 1 ไร่ เตรียมหลุมปลูกได้ 8,480 หลุม

การปลูก เมล็ดหนัก 1 กิโลกรัม = 16,666-14,285 เมล็ด อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่ = 1 กิโลกรัม

- การปลูกอาจทำได้ทั้งแบบร่องสวน และแบบไร่

- ใช้ระยะระหว่างต้นและแถว 50 x 50 เซนติเมตร ปลูกจำนวน 1-2 ต้นต่อหลุม

- เมล็ดกระเจี๊ยบเขียว 100 เมล็ด หนัก 6-7 กรัม

- ก่อนปลูกควรคลุกเมล็ด เพื่อป้องกันโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ เช่นโรคฝักจุดหรือฝักลาย โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยนำเมล็ดพันธุ์มาผึ่งให้แห้งพอหมาด คลุกด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดโรคในกลุ่มเบนโนมิล และไทแรม เช่น เบนเลทที อัตรา 10 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม หรือสารในกลุ่มไทอะเบนดาโซน เช่น พรอนโต อัตรา 120 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม

การให้น้ำ กระเจี๊ยบเขียวชอบความชื้นปานกลาง ในช่วงฤดูหนาวและร้อนควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยให้แห้ง โดยเฉพาะในช่วงออกดอก และติดฝัก ปริมาณการติดฝักจะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดูแลรักษา มากกว่าพันธุ์ การให้น้ำในช่วงนี้จึงควรหมั่นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเจริญเติบของต้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ฝักมีคุณภาพดี และมีปริมาณฝักที่ได้สูง ถ้าขาดน้ำผลผลิตจะต่ำ ฝักเล็กคดงอ ไม่ได้คุณภาพ

การให้ปุ๋ย เนื่องจากระยะเวลาในการปลูกยาวนานมาก ดังนั้นการใส่ปุ๋ยจึงต้องให้เพียงพอ จึงจะทำให้ฝักดกและคุณภาพดี ในพื้นที่ที่มีอินทรีย์วัตถุสูง มีความอุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะแปลงที่เคยปลูกผักกินใบมาก่อน ควรใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพราะกระเจี๊ยบเขียวมีพลังดูดซับปุ๋ยสูงมากไวต่อการทำปฏิกิริยากับปุ๋ย โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนต้องระมัดระวังมาก ถ้าใส่มากเกินไปจะทำให้ต้นเผือใบ ฝักโตเร็วเกินไป เป็นโรคและช้ำง่าย การใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง อาจใช้ในช่วงแรกก่อนติดฝัก และหลังจากตัดต้นเพื่อเร่งการแตกกิ่งแขนง อัตราใส่ปุ๋ยโดยปกติ 20 วันต่อครั้ง ปริมาณปุ๋ย 10-25 กิโลกรัมต่อไร่ต่อครั้ง ตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งใช้ปุ๋ยประมาณ 75-100 กิโลกรัมต่อไร่ต่อฤดูปลูก ทั้งนี้ขึ้นกับความยาวนานของการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [1] [2]

อายุการเก็บเกี่ยว กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชที่โตเร็ว เมื่ออายุได้ 40 วัน จะเริ่มออกดอก หลังดอกบาน 5 วัน ฝักจะยาว 4-9 เซนติเมตร ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตฝักสดได้ มีขนาดและคุณภาพฝักดี คือ ฝักกระเจี๊ยบมีความอ่อนนุ่มมีรสชาติ และเนื้อสัมผัสที่ผู้บริโภคพอใจ ไม่มีเส้นใยตรงตามที่ตลาดต้องการ ฝักกระเจี๊ยบเขียวโตเร็วมากโดยเฉพาะอากาศร้อนจะเติบโตวันละ 2-3 เซนติเมตร เกษตรกรจึงต้องเก็บเกี่ยวทุกวัน และไม่ควรปล่อยทิ้งฝักที่สามารถตัดได้ให้หลงเหลืออยู่บนต้น เพราะต้นจะต้องส่งอาหารมาเลี้ยง ทำให้ผลผลิตต่ำ เกษตรกรจะสามารถเก็บฝักที่มีคุณภาพดีได้ประมาณ 1-2 เดือน ฝักที่แตกยอดจะเริ่มหมดและไม่แข็งแรง สังเกตจะมีกิ่งแขนงออกจากต้น 2-3 กิ่ง ควรตัดต้นทิ้ง เพื่อให้แตกแขนงใหม่ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตได้อีกประมาณ 2 เดือน ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยตลอดฤดูปลูก 30 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน หรือประมาณ 3,000-5,000 กิโลกรัมต่อไร่ต่อฤดูปลูก (ก.ย.-พ.ค.) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและความยาวนานในการเก็บผลผลิต

การเด็ดใบ ในแปลงที่กระเจี๊ยบเขียวเจริญเติบโต และมีใบมากเกินไป ทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงฝักด้านล่าง ฝักจะมีสีซีด ซึ่งตลาดไม่ต้องการ ควรเด็ดใบทิ้งบ้าง เพื่อให้ต้นโปร่ง ช่วยให้อากาศไหลเวียนดีขึ้น ป้องกันการเกิดโรค แมลงรบกวน และง่ายต่อการปฏิบัติงาน การเด็ดใบอาจทำได้ในระหว่างการเก็บเกี่ยว โดยเด็ดใบทิ้งทีละใบพร้อม ๆ กับการตัดฝักทุกครั้ง จนกระทั่งเหลือใบใต้บริเวณที่จะติดผลไว้ต้นละ 2-3 ใบ อย่างไรก็ตาม การเด็ดใบมากเกินไป จะมีผลเสียต่อการเจริญเติบโต และทำให้ฝักพองโต การเด็ดใบจึงขึ้นกับความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย

การตัดต้น เมื่อเก็บเกี่ยวได้ 1 1/2 เดือน ผลผลิตจะเริ่มลดลง ควรตัดต้นทิ้งให้แตกกิ่งด้านข้าง ซึ่งจะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และมีปริมาณมากกว่าเดิม การตัดต้น ต้องตัดให้เหลือตาสำหรับแตกกิ่งแขนงด้านข้างหลังจากตัดแล้ว 6-7 ตา ซึ่งมักจะตัดให้เหลือตอสูงประมาณ 50-70 เซนติเมตร จากพื้นดิน หลังจากตัดต้นแล้วควรใส่ปุ๋ยและดูแลรักษาอย่างดี เพื่อให้แตกแขนง การใส่ปุ๋ยในช่วงนี้จำเป็นมากเพื่อให้สามารถปลูกระยะยาวได้

วิธีการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว ฝักกระเจี๊ยบเขียว จะเกิดการเหี่ยวหรือชอกช้ำได้ง่าย เนื่องจากเก็บเกี่ยวในระยะฝักอ่อน มีอัตราการตายสูง การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติต่าง ๆ หลังจากเก็บฝักแล้วจึงต้องทำอย่างปราณีต ตั้งแต่วิธีการเก็บจนถึงการเลือกภาชนะบรรจุหีบห่อ

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บเกี่ยว

1. มีดเล็กหรือกรรไกรตัดแต่งกิ่งซึ่งต้องคมเสมอ มิฉะนั้นจะทำให้ช้ำ

2. ถุงมือผ้าและถุงมือยางเพราะกระเจี๊ยบเขียวมีขนซึ่งระคายเคืองผิวหนังมาก

3. ภาชนะที่ใช้ในการเก็บเกี่ยว นิยมใช้ถังพลาสติก ซึ่งมีขนาดเล็ก 2-3 กิโลกรัมไม่ควรใหญ่กว่านี้

4. ภาชนะที่ใช้บรรจุผลผลิตและขนส่ง ควรให้ตะกร้าพลาสติกบรรจุฝักซึ่งมีรูระบายอากาศโดยรอบ เกษตรกรนิยมใช้เข่งไม้บุด้วยฟองน้ำบางและถุงปุ๋ย ซึ่งกันกระทบกระแทกได้พอควรแต่มีข้อเสีย คือ จะอับร้อนมาก ถ้ารอการขนส่งนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง จึงควรเจาะรูให้ระบายอากาศได้โดยรอบ ขนาดบรรจุของเข่งหรือตะกร้าไม่ควรเกิน 12 กิโลกรัม

วิธีเก็บเกี่ยว

1. ควรเก็บเกี่ยวเวลาเช้าตรู่ 6.00-9.00 น. ใช้มีดหรือกรรไกรตัดกระเจี๊ยบเขียวทีละฝัก อย่าตัดหลายฝัก วางในภาชนะอย่าโยน การตัดขั้วต้องตัดให้ตรง มีก้านติดไม่เกิน 1 เซนติเมตร และอย่าให้เป็นปากฉลาม ซึ่งจะขีดข่วนหรือทำให้ฝักอื่นเสียหายมาก เมื่ออยู่ในภาชนะบรรจุ

2. ภาชนะบรรจุผลผลิตต้องวางไว้ในที่ร่มเสมอ เช่น ใต้ร่มไม้ ถ้าไม่มีควรใช้ร่มกาง อย่าทิ้งไว้กลางแดด และรีบนำเข้าโรงพักผลผลิตโดยเร็วโรงพักผลผลิตควรมีลักษณะโปร่งอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่อับทึบ อาจจะเป็นชั้นมีหลังคา ใต้ถุนบ้านหรือเพิงก็ได้

การขนส่ง รีบขนส่งโดยเร็ว ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรนานกว่า 2 ชั่วโมงหลังเก็บเกี่ยว และไม่วางภาชนะซ้อนกัน ระหว่างขนส่ง รถขนส่งถ้าไม่มีห้องเย็นควรโปร่งไม่ปิดทึบ

การคัด การบรรจุหีบห่อ และการแปรรูป

1. การลดอุณหภูมิของผลผลิตจากแปลงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ซึ่งต้องทำก่อนการบรรจุหีบห่อ โดยการล้างด้วยน้ำเย็นที่สะอาดจำนวนมาก แช่กระเจี๊ยบเขียวให้อุณหภูมิลดลงเหลือ 10-15 องศาเซลเซียส น้ำล้างอาจผสมคลอรีน 200 พีพีเอ็ม เพื่อฆ่าเชื้อโรค2.ผึ่งให้แห้ง ในกรณีต้องรอการคัดเลือกและบรรจุนาน ควรนำเข้าห้องเย็น

2. สำหรับการส่งออกสดนำออกมาคัดเกรดและบรรจุลงในถุงตาข่ายไนล่อนและกล่องกระดาษ การส่งออกสดไปยังประเทศในกลุ่มยุโรป นิยมใส่ถาดโฟม เก็บรักษาในห้องเย็นเพื่อรอการขนส่งต่อไป

การเก็บเมล็ดพันธุ์ สำหรับในกรณีที่เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำพันธุ์เอง ซึ่งได้ทำการตกลงกับผู้ซื้อแล้ว การเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องแนะนำเกษตรกรปฏิบัติดังนี้

- เมื่อกระเจี๊ยบเขียวเริ่มออกฝักแล้ว 5-10 ฝัก ให้คัดเลือกต้น ผูกพลาสติกสีเฉพาะต้นที่คัดเลือก โดยเลือกต้นที่ออกฝักค่อนข้างเร็ว ฝักสูงจากโคนต้นไม่เกิน 50 เซนติเมตร ฝักอ่อนได้ขนาดสม่ำเสมอกันตามที่ตลาดต่างประเทศต้องการ ฝัก 5 เหลี่ยม ฝักสีเขียวเข้ม มีขนน้อย มีเส้นใยน้อย ฝักตรงไม่โค้งงอ การเรียงฝักจากโคนต้นไปหายอดสม่ำเสมอเป็นระเบียบ ฝักดก ค่อนข้างจะทนต่อโรคแมลง เมื่อได้ต้นที่คัดเลือกตามลักษณะที่ต้องการแล้ว ใช้กรรไกรตัดฝักที่ออกก่อนแล้ว รวมทั้งดอกบานจากต้นที่คัดเลือกออกให้หมด ในต้นจะเหลือดอกที่ตูมยังไม่บาน นำถุงผ้ามุ้งขนาดเล็กมาคลุมต้นที่คัดเลือกป้องกันแมลง นำเกสรตัวผู้จากต้นอื่นไปผสม หรือจะใช้ถุงกระดาษแก้วสีขาวคลุมดอกที่ยังไม่บานดอกต่อดอกก็ได้ เมื่อฝักดังกล่าวจากต้นคัดเลือกแก่แล้วแกะเมล็ดผึ่งแดดให้แห้งแล้ว นำเมล็ดไปคลุกสารเคมีป้องกันโรคแมลงทำลายและนำไปเก็บไว้ในปี๊บที่มีปูนขาวรองก้นปี๊บ

- การเก็บเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรส่วนใหญ่จะปล่อยให้ฝักด้านโคนต้นแก่ แล้วเก็บเกี่ยวฝักดังกล่าวมาจากหลายต้นและเมล็ดรวมกันไว้ทำพันธุ์ต่อไป โดยไม่มีการคัดต้น หรือรู้ต้นพันธุ์ที่แน่นอน มีผลให้กระเจี๊ยบเขียวกลายพันธุ์ได้ โดยเฉพาะฝักอาจมีหลายเหลี่ยม 5-9 เหลี่ยม ซึ่งตลาดต่างประเทศต้องการฝักอ่อน 5 เหลี่ยมเท่านั้น

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ มีสีสม่ำเสมอทั้งฝัก ฝักไม่แก่ ไม่มีเส้นใยมาก สามารถหักขาดจากกันได้ง่าย ไม่มีตำหนิใดๆ สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง  1. ความยาวของฝัก 12 เซนติเมตรขึ้นไป เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เซนติเมตรขึ้นไป

      2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง  1. ความยาวของฝัก 7 - 12 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 - 2 เซนติเมตร

      2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. ความยาวของฝักน้อยกว่า 7 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง น้อยกว่า 1.5 เซนติเมตร

      2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง กระเจี๊ยบเขียวในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอกัน

การเตรียมสู่ตลาด

1. ตัดแต่งและกำจัดส่วนที่เป็นตำหนิ

2. บรรจุลงในถาดโฟมหุ้มด้วยพลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC)

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 7 – 10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 - 95 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 7 – 10 วัน

คุณภาพผลผลิต ลักษณะคุณภาพของกระเจี๊ยบเขียวที่ตลาดต่างประเทศต้องการ

กระเจี๊ยบเขียวฝักสด  1. ฝักอ่อนสด มีเส้นใยน้อย

             2. ปราศจากโรค แมลง หรือตำหนิจากโรคแมลง

             3. รูปร่างฝักเป็น 5 เหลี่ยม ตรง ไม่คดงอ

             4. ฝักต้องมีสีเขียวเข้มสม่ำเสมอทั้งฝัก

             5. ความยาวฝัก 5-12 เซนติเมตร

กระเจี๊ยบเขียวแช่แข็ง 1. ฝักอ่อนสด มีเส้นใยน้อย

             2. ปราศจากโรคแมลงหรือตำหนิจากโรคแมลง

             3. ฝักเป็น 5 เหลี่ยม สีเขียว

             4. ความยาวฝัก 5-9 เซนติเมตร

กระเจี๊ยบเขียวสำหรับแปรรูป 1. ฝักอ่อนสด อายุ 2-3 วัน หลังจากผสมเกสร

                2. ปราศจากโรคแมลง หรือตำหนิจากโรคแมลง

                3. สีเขียว

                4. ความยาวฝัก 2.5-5 เซนติเมตร

                5. รูปร่างฝักมีจำนวน 8 เหลี่ยม

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์