องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

พาร์สเลย์

ชื่อวิทยาศาสตร์  Petroselinum cripum

ชื่อสามัญ  Parsley

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป เป็นพืชสองฤดู  แต่ปลูกเป็นพืชฤดูเดียว มีถิ่นกำเนิดอยู่ในยุโรปและแถบเมดิเตอร์เรเนียน ใช้ส่วนใบมาเป็นอาหาร ทยอยเก็บใบมาใช้ลักษณะใบหยิก เป็นฝอยมีกลิ่นหอม

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร นิยมนำใบมาตกแต่งในจานอาหารหรือชุบแป้งทอด  นอกจากนี้ยังใช้ใบพาร์สเลย์สดมาเคี้ยวทำให้ลมหายใจสดชื่นและช่วยดับกลิ่นตกค้าง  เช่น กระเทียม  นอกจากนี้ใบพาร์สเลย์ยังมีวิตามินและธาตุเหล็กในปริมาณพอสมควร

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

ชอบดินที่อุดมสมบูรณ์ แสงแดดจัดบางช่วง ชอบสภาพอากาศเย็นอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 18 - 25 C สามารถเริ่มเพาะในที่ร่มหรือกลางแจ้ง  แต่มีข้อแนะนำว่าให้เพาะเมล็ดในที่ร่มก่อนที่จะย้ายไปปลูกกลางแจ้ง  โดยการเพาะเมล็ดควรให้ดินเพาะกล้ามีความชื้นตลอดเวลา  เพื่อช่วยให้เมล็ดงอก  ถ้าปลูกพาสเล่ย์ใกล้กุหลาบ หน่อไม้ฝรั่งและมะเขือเทศจะช่วยป้องกันแมลงเข้าทำลายได้ ความเป็นกรด – ด่างของดินที่เหมาะสม 5.5 – 6.8 เป็นพืชที่ต้องการน้ำตลอดฤดูปลูก แต่ไม่ควรให้มีน้ำขังหรือชื้นสูงจะทำให้เป็นโรคง่าย

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมกล้า เพาะกล้าในถาดหลุมขนาดใหญ่อย่างประณีต พออายุ 35 วัน ย้ายลงถุงขนาด 4 x 6 นิ้ว อายุ 20 – 25 วัน จึงย้ายปลูก

การเตรียมดิน แบ่งออกได้เป็นสามส่วนคือ

1. การเตรียมแปลงเพาะกล้า ให้ทำการขุดพลิกดินแล้วตากแดดไว้ 7 – 15 วัน จานนั้นหว่านปูนขาวและใส่ปุ๋ยคอก (มูลไก่) ในอัตราส่วนปุ๋ยคอก 300 กรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน เกลี่ยหน้าดินให้เรียบจากนั้นจึงหว่านเมล็ดลงบนแปลง แล้วใช้ดินละเอียดกลบบางๆ การเพาะกล้าสามารถทำได้ในกะบะเพาะ และการเพาะกล้าในถุง

2. การเตรียมดินลงถุงเพื่อย้ายกล้าชำ ใช้ดินร่วนผสมกับมูลไก่อัตรา 2 ต่อ 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำมากรอกลงถุงพลาสติก ขนาด 4 x 6 นิ้ว

3. การเตรียมแปลงปลูก หว่านปูนขาว แล้วขุดดินตากแดดทิ้งไว้ 7 – 15 วัน ใช้ปุ๋ยคอกอัตราเท่าการเตรียมแปลงเพาะกล้า ค่าความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสม 5.5 – 6.8

การปลูก นำต้นกล้าที่ชำในถุงแล้ว 20 – 25 วัน ลงปลูกในแปลงที่เตรียมเอาไว้ โดยให้มีระยะห่างต้นและระหว่างแถว 20 x 20 เซนติเมตร

การให้น้ำ ถ้าให้น้ำระบบน้ำหยดจะดีมาก เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำเปียกใบ

การให้ปุ๋ย ใส่ปุ๋ย 46 – 0 – 0 และ 15 – 15 – 15 อัตราส่วน 1 : 2 เมื่อ7 – 10 วัน หลังจากย้ายปลูก ขุดรอบต้นลึก 2 – 3 ซม. โรยปุ๋ยแล้วกลบดินพร้อมรดน้ำ หลังจากใส่ปุ๋ยครั้งแรก 2 สัปดาห์ ให้ปุ๋ย15 – 15 – 15 สลับกับ 13 – 13 – 21 ทุก 15 – 20 วัน จนหมดฤดูกาลผลิต (3 – 6 เดือน) ถ้าปรากฏใบเหลือง อันเนื่องจากขาดธาตุอาการ ใส่ปุ๋ย 46 – 0 – 0 อัตรา 30 กรัม/ตร.ม.

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 45 – 50 วัน หลังย้ายปลูก เลือกเก็บใบอ่อนส่วนที่อยู่ระหว่างใบแก่ด้านนอกกับใบอ่อนมาก ซึ่งเป็นส่วนยอด

การเก็บเกี่ยว

1. เก็บเกี่ยวเมื่ออายุเหมาะสม ขณะที่ยังไม่แก่เกินไป โดยค่อยๆใช้มือดึงก้านใบจากต้น

2. คัดใบที่เหลืองหรือมีตำหนิอื่นๆทิ้ง

3. เข้ากำๆละประมาณ 200 กรัม โดยมีกระดาษขาวหรือใบตองห่อหุ้มตรงก้านใบที่เข้ากำก่อนใช้ยางรัด 1 รอบ

4. บรรจุลงในตะกร้าพลาสติกโดยมีกระดาษกรุทั้งตะกร้า

5. ลดอุณหภูมิลงเหลือ 1 – 2 องศาเซลเซียส

6. ขนส่งโดยใช้รถห้องเย็น

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นพาร์สเลย์ที่ประกอบด้วยก้านและใบ มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง 1. ใบอ่อน หยิกฟู (พันธุ์ใบหยิก) สีเขียวอ่อนหรือเขียว

      2. ไม่มีใบแก่หรือใบเหลืองปน

      3. ความยาวของก้านถึงปลายใบ 20 เซนติเมตรขึ้นไป

      4. ไม่มีตำหนิจากโรคและแมลง

      5. ไม่เปียกน้ำและเปื้อนดิน

      6. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง 1. ใบค่อนข้างแก่ (ใบคลี่)

      2. ไม่มีใบแก่เหลืองหรือใบที่มีตำหนิจากโรคและแมลงปน

      3. ความยาวของก้านถึงปลายใบ 15 เซนติเมตรขึ้นไป

      4. ไม่เปียกน้ำและเปื้อนดิน

      5. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. มีใบแก่ปนได้บ้าง แต่ต้องไม่แก่จนมีสีเหลือง

     2. มีตำหนิจากโรคและแมลงได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์

     3. ความยาวของก้านถึงปลายใบมากกว่า 10 เซนติเมตร

     4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง พาร์สเล่ย์ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอกัน

การเตรียมสู่ตลาด

1. ตัดแต่งและกำจัดส่วนที่เป็นตำหนิ

2. ตัดส่วนของใบอีกประมาณ 5 เซนติเมตร

3. บรรจุลงถุงพลาสติกทรงกระบอกเจาะรู หรือใช้เทปรัด

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 - 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 1– 2 เดือน


เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์