องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การปลูกและดูแลรักษาชา

การเตรียมการปลูก

การเลือกและเตรียมพื้นที่

การเลือกพื้นที่และเตรียมพื้นที่เป็นขั้นตอนแรก ที่สามารถบ่ชี้ได้ส่าการปลูกสร้างสวนชาจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ ถ้าหากสามารถเลือกพื้นที่ได้เหมาะสม และมีการเตรียมพื้นที่ที่ดี การปลูกชาก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ในโอกาสต่อไป

การเลือกพื้นที่ ส่วนใหญ่ปลูกชาในประเทศไทยจะเป็นแหล่งปลูกตามภูเขาทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร การเลือกพื้นที่จะต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์สภาพป่าและสภาพแวดล้อมด้วย พื้นที่ที่เหมาะสำหรับการปลูกชาดังได้กล่าวในตอนแรกนั้นว่า ควรเป็นแหล่งที่มีความชื้นในอากาศสูง มีอุณหภูมิต่ำ ควรมีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,300มม/ปี และมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ พื้นที่ควรมีความลาดเอียงน้อยกว่า 45 องศา ดินควรเป็นดินร่วนมีปริมาณอินทรียวัตถุสูง และมีความเป็นกรดเล็กน้อย หรือมี pH ระหว่าง 4.5-5.5 นอกจากนั้นนอกจากพื้นที่ทางภาคเหนือมัก จะมีปริมาณน้ำฝนน้อยและช่วงแล้งติดต่อกันนานการเลือกพื้นที่จึงควรคำนึงถึงศักยภาพในการติดตั้งระบบชลประทานในแปลงด้วย

การเตรียมพื้นที่เป็นการปรับแต่งพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการปลูกชา ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความต้องการของพืชและความสะดวกในการจัดการแปลงในระยะต่อไปด้วย การเตรียมพื้นที่ได้แก่ การแผ้วถางวัชพืชและไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็กออกและทำบันไดดินตามแนวระดับโดยขวางทางลาดชันของพื้นที่ ความกว้างอย่างน้อย 180ซม. ส่วนระยะระหว่างขั้นบันไดขึ้นอยู่กับความลาดชันของพื้นที่ โดยให้ความลาดชันภายในขั้นบันไดแต่ละขั้นไม่ควรมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์

การเตรียมหลุมปลูก

เมื่อเลือกและเตรียมพื้นที่ได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการกำหนดระยะปลูกและการเตรียมหลุมปลูก ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้

1. การกำหนดระยะปลูก การกำหนดระยะปลูกชาจีนขึ้นอยู่กับ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และความต้องการในการจัดการในสวนชา

พื้นที่ปลูกที่เป็นค่อนข้างราบ หรือพื้นที่ราบโดยทั่วไประยะปลูกที่เหมาะสม ง่ายต่อการดูแลรักษา และสามารถให้ผลผลิตได้เร็วคือ ระยะระหว่างแถว 180 ซม. และระหว่างต้น 30-40 ซม. หรืออาจปลูกเป็นแถวคู่สลับฟันปลา ระยะระหว่างแถวคู่ 40-45 ซม.และระยะระกว่างแถว (แต่ละคู่) 30-35 ซม.ระยะระหว่างคู่ 180 ซม. (การปลูกแบบนี้จะให้ผลผลิตได้เร็วกว่า แต่ใช้จำนวนต้นกล้ามากกว่า)

พื้นที่ปลูกที่เป็นที่ลาดชันหรือไหล่เขาที่มีการทำขั้นบันได ระยะระหว่างต้นสามารถใช้ระยะเดียวกันได้ แต่ระยะระหว่างแถวขึ้นอยู่กับระยะห่างของขั้นบันไดหลัก(ปกติมักใช้ระยะห่างของขั้นบันไดประมาณ 2 เมตร) ถ้าหากเป็นการปลูกเป็นแถวคู่ขนาดของขั้นบันไดควรกว้างอย่างน้อย 230 ซม.

2. การเตรียมหลุมปลูกเนื่องจากระยะระหว่างต้น 30 ซม.ดังนั้นการเตรียมหลุมปลูกจึงสามารถใช้วิธีขุดเป็นร่องยาวตามแถวปลูกความกว้างของร่องประมาณ 30-45 ซม.ลึกประมาณ 30ซม.การเตรียมหลุมปลูกควรดำเนินการในช่วงฤดูแล้ง ก่อนการย้ายกล้าลงปลูกฤดูฝน

การปลูกและการดูแลรักษา

การปลูก

ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการปลูกชาในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ควรเป็นช่วงปลายฤดูฝนประมาณเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ด้วยเหตุผลคือ หลังจากปลูกแล้วรากของชาจะกระทบกับอากาศที่ค่อนข้างเย็น ซึ่งจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีและไม่ประสบปัญหาเรื่องโรคเหมือนช่วงต้นฤดูฝน การปลูกชาเพื่อให้ได้ต้นชาที่มีความสม่ำเสมอง่ายต่อการควบคลุมทรงพุ่มนิยมใช้ต้นกล้าที่ได้จากการปักชำ ต้นปักชำควรมีอายุประมาณ 10-12 เดือนก่อนปลูกควรรองก้นหลุมด้วยดินผสมปุ๋ยฟอสเฟต อัตรา 40-50 กรัม หลังจากนำลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้แล้วทำการตัดยอดให้มีความสูงประมาณ 10-15 ซม. จากนั้นจึงคลุมโคลนด้วยฟ่างหรือหญ้าแห้งเพื่อรักษาความชื้นในดิน การปลูกชาจีนโดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 1.2 เมตรและระหว่างต้น 60 ซม. จะมีจำนวนต้นต่อไร่ประมาร 2, 200 ต้น

การให้น้ำ

ชาจีนมีความต้องการความชื้นสูงและสม่ำเสมอตลอดปี เพื่อให้มีการเจริญเติบโตทางกิ่งและใบ ดังนั้นในแปลงปลูกจึงควรคำนึงถึงระบบการให้น้ำ ตั้งแต่เริ่มแรกในระยะที่ชายังมีอายุน้อยเพื่อให้ชาตั้งตัวได้เร็วและในช่วงฤดูแล้ง มิฉะนั้นจะทำให้ชาชะงักการเจริญเติบโต การให้น้ำในแปลงชา ทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ,สภาพพื้นที่และการลงทุน ได้แก่

1. การปล่อยให้ท่วมแปลง การให้น้ำตามร่องระหว่างแถว หรือการปล่อยให้น้ำไหลตามความลาดเอียงขั้นบันได การให้น้ำแบบนี้พื้นที่ที่ปลูกชาจะต้องมีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์และมีความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อระบายน้ำ ทุนค่อนข้างสูง และเหมาะกับพื้นที่ขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะ

2. การให้แบบพ่นฝอย เป็นวิธีที่นิยมกันแพร่หลายในพื้นที่ปลูกชาใหญ่ๆ เช่น ที่ไต้หวันและญี่ปุ่น วิธีนี้ต้องลงทุนสูงแต่ให้ผลคุ้มค่าในพื้นที่โครงการหลวงแนะนำให้ใช้วิธีนี้ซึ่งเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ส่วนใหญ่ โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนติดตั้งระบบพ่นฝอยในแปลง

การใส่ปุ๋ย

การใส่ปุ๋ยเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ชา เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ตลอดจนสร้างสารประกอบต่างๆในใบ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของชา ปุ๋ยที่ใช้ได้แก่

1.ปุ๋ยคอก เช่น มูลไก่, มูลวัว, หรือมูลควาย หรือปุ๋ยหมักใส่ต้นละ 4-5 กำมือโดยใส่รอบๆต้น

2.ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุอาหารครบถ้วนในระยะแรก เพื่อเร่งเจริญเติบโตของราก ลำต้นและใบ และ ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุไนโตรเจนสูงเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของใบเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง เนื่องจากไนโตรเจนเป็นธาตุที่สลายตัวได้ง่าย จึงควรแบ่งใส่ปีละ 2-3 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนถึงปลายฤดูฝน และหลังจากการตัดแต่งกิ่ง โดยโรยตามแนวชาด้านบนของขั้นบันไดดินหลังจากนั้นพรวนกลบทุกครั้งควรมีการให้ปุ๋ยทางใบด้วย เมื่อสังเกตเห็นใบชาเริ่มเป็นสีเหลือง

การตัดแต่งกิ่ง

เป็นการปฏิบัติที่สำคัญมากในการทำสวนชา มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อแต่งทรงพุ่มให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว เป็นการกระตุ้นให้เกิดยอดใหม่ได้เร็วขึ้น และช่วยกำจัดโรคและแมลง

การตัดแต่งกิ่งชาแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ


1. การตัดแต่งชาตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงอายุ 4 ปี เป็นการตัดแต่งเพื่อบังคับทรงพุ่มของชาให้เตี้ย และมีการเจริญเติบโตทางด้านข้างโดยจะตัดให้มีความสูงจากระดับดิน ดังนี้

ปีที่ 1 ควรตัดกิ่งสูง 20 เซนติเมตรจากระดับดิน

ปีที่ 2 ควรตัดกิ่งสูง 30 เซนติเมตรจากระดับดิน

ปีที่ 3 ควรตัดกิ่งสูง 40 เซนติเมตรจากระดับดิน

ปีที่ 4 ควรตัดกิ่งสูง 50 เซนติเมตรจากระดับดิน

2. การตัดแต่งกิ่งชาที่มีอายุมากและทรุดโทรม สมควรที่จะมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อจัดกิ่งหลักใหม่ โดยตัดแต่งกิ่งที่ระดับความสูงประมาณ 15 เซนติเมตรจากระดับหัวดิน แล้วปล่อยให้ต้นชามีการแตกกิ่งใหม่ เรียนการตัดแต่งแบบนี้ว่า Heavy Pruning

สำหรับต้นชาที่ทรุดโทรมมากไม่สามารถให้ผลผลิตแล้ว ควรทำการตัดแต่งกิ่งเพื่อทำเป็นหนุ่มสาวใหม่ (rejuvinitity) โดยการตัดชาทั้งต้นที่ระบบคอดิน แล้วปล่อยให้มีการแตกกิ่งตั้งทรงพุ่มใหม่ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงจะเริ่มให้ผลผลิตใหม่ได้ การตัดแต่งแบบนี้เรียก ว่า Collar Pruning การตัดแต่งกิ่งชา โดยทั่วไปควรกระทำในช่วงที่ต้นชาพักตัว คือ ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปี

การคลุมดิน

การปลูกชาบนที่สูง จำเป็นต้องมีการคลุมดิน ซึ่งมีประโยชน์คือช่วยรักษาความชื้นในดิน ลดการพังทลายของดิน ป้องกันแรงปะทะน้ำฝน ลดการเจริญเติบโตของวัชพืช และช่วยปรับให้อุณหภูมิของดินในแปลงไม่แตกต่างกันมาก ซึ่งเป็นที่ต้องการของชา นอกจากนั้นหากสิ่งที่ใช้คลุมดินสามารถย่อยสลายได้ ก็จะเป็นการเพิ่มอินทร์วัตถุ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินด้วย การคลุมดินอาจใช้วัตถุคลุมดิน เช่น ใบไม้แห้ง,หญ้าแห้ง,ฟางข้าว,เปลือกถั่ว เป็นต้นโดยคลุมรอบๆ โคนต้นชา อีกวิธีหนึ่งคือ การปลูกพืชคลุมดิน ซึ่งส่วนมากจะใช้พืชเลื้อยโดยปลูกระหว่างแถวของชา โดยควรเลือกพืชตระกูลถั่วมาปลูก จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินอีกทางหนึ่งด้วย ได้แก่ Centrosema pubescens, Calopogonium mucuroides และ Pueraria phaseoloides. เป็นต้น

โรคและแมลง

โรคและแมลงศัตรูของชาจีนในแหล่งปลูกโครงการหลวง ในขณะนี้ยังไม่พบการระบาดทำความเสียหายถึงขั้นรุนแรง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพื้นที่ปลูกอยู่กระจัดกระจาย และยังปลูกไม่มากนัก นักวิชาการเกษตรให้คำแนะนำการควบคุมและเกษตรกรสามารถดูแลรักษาได้อย่างทั่วถึง โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคใบรู,โรคราสนิม,อาการใบเน่าและใบแห้ง,โรคใบจุด และโรคใบไหม้เป็นต้น

วิธีการป้องกันกำจัด

ก่อนการปลูกชาควรมีการปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นที่ และมีการเตรียมดินเป็นอย่างดีโดยการขุดดินตากแดด ทำการปรับปรุงโครงสร้างของดิน และปรับค่าความเป็นกรดเป็นด่างให้เหมาะสม และใช้กิ่งพันธุ์ที่ปลอดเชื้อ รวมทั้งใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ผสมดิน หรือพ่นลงดินอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อสาเหตุของโรค ทำให้พืชแข็งแรงด้วยการพ่นปุ๋ยน้ำชีวภาพอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นควรสังเกตสภาวะของอากาศและเตรียมป้องกันหากสภาวะอากาศเหมาะสมควรพ่นบอร์โดมิกซ์เจอร์ ในช่วงเย็น หรือหลังฝนตกทุกครั้ง

หากพบมีการระบาดมาก จำเป็นต้องใช้สารกำจัดโรค ดังนี้

1. ไดเทนเอ็ม 45 (แมนโคเซบ)

2. ริดโดมิล โกลด์ (เมทาแลกซิล-เอ็ม + แมนโคแซบ)

3. เคอร์เซทเอ็ม (ไซมอกซามิล + แมนโคแซบ)

4. คูปราวิต (คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์)

5. แคงเคอรื-เอกซ์ (สเต็พโตมัยซิน ซัลเฟต + ออกซี่เตรทตระไซคลิน ไฮโดรคลอไรด์)

6. สกอร์ (ไดฟีดนโคนาโซล)

7. อ๊อกเทฟ (โปรคลอราช)

ระยะเก็บเกี่ยว ควรใช้สารดังนี้

1. ลาร์มิน่า (บาซิลลัส ซับทิลิส)

2. สมุนไพรควบคุมโรค น้ำหมักที่มีส่วนผสมของข่า,กระเทียมหรือสาบหมา

แมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ 

เพลี้ยไฟ มักระบาดในสภาวะแห้งแล้ง จึงควรรักษาสภาพแปลงปลูกให้ชื้นอยู่เสมอ อย่าให้ดินขาดธาตุแคลเซียม และอย่าให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงมาก ควรพ่นน้ำหมักชีวภาพที่มีพืชสมุนไพรอย่างสม่ำสมอ รวมทั้งการใช้แมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยไฟ ได้แก่ ด้วง เต่าตัวห้ำ กินตัวอ่อนและตัวเต็มวัย แมลงช้างปีกใส กินไข่และตัวอ่อน

หากพบมีการระบาดมาก จำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลง ดังนี้

1. สตาร์เกิล (ไดโนฟูเรน)

2. ทาลสตาร์ 10 (ไบเฟนทริน)

3. คอนฟิดอร์ (อิมิดาคลอพริด)

เพลี้ยอ่อน มีหลายชนิด ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชที่ดูดน้ำเลี้ยงและกินอาหารกว้างมาก ถ้าพบเพียงเล็กน้อย ควรใช้วิธีฉีดพ่นน้ำไปยังต้นหรือใบที่พบเพลี้ยอ่อน ก็ไม่สามารถไล่ให้เพลี้ยอ่อนหลุดออกจากใบได้โดยง่าย หรือใช้สารสกัด เช่น สะเดา ฤทธิ์ไพร ฉีดพ่น รวมทั้งใช้แมลงช้างและด้วงเต่า ซึ่งเป็นตัวห้ำกำจัดเพลี้ยอ่อนได้

หากพบมีการระบาดมาก จำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลง ดังนี้

1. แอสเซ็นต์ (ฟิโปรนิล)

2. สตาร์เกิล(ไดโนทีฟูเรน)

3. ทรีบอน 20 อีซี (อีโทเฟนพรอกซ์)

ระยะเก็บเกี่ยว ควรใช้สารดังนี้

1. สะเดาบด

2. ใช้น้ำมันปิโตรเลียม (ปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์)

ไรแดงและไรสองจุด มักจะพบระบาดในช่วงหน้าแล้งไรแดงและไรสองจุดทำให้ใบต้นชามีผิวด้าน และจะสร้างสารออกมาโดยตัวของมันเองทำให้ใบเสียหาย มีลักษณะเป็นสีแดงและสีน้ำเงินมีจุดทั้งสองข้าง ควรรักษาสภาพแปลงปลูกให้ชื้นอยู่สม่ำเสมอ โดย

- การให้น้ำแบบสปริงเกอร์

- การคลุมโคนต้นด้วยหญ้าแฝก ใช้น้ำพ่น หรือใช้กำมะถันฉีดพ่น (อย่าพ่นขณะอากาศร้อน)

หากพบมีการระบาดมาก จำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลง ดังนี้

1. โซเลน (โพซาโลน)

2. แอสเซ็นด์ (ฟิโปรนิล)

3. ทาลสตาร์ 10 (ไบเฟนทริน)

4. กลุ่มมวนดูดน้ำเลี้ยง ลักษณะของมวนดูดน้ำเลี้ยงมีลำต้นยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ปีกแข็ง จะใช้ปากดูดน้ำเลี้ยงจากใบของพืช ทำให้ใบของพืชมีรอยช้ำ

วิธีการป้องกันและกำจัด

คือหมั่นตรวจ ดูแลแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบตัวเต็มวัยหรือกลุ่มไข่ให้ทำลายทิ้งหรือใช้น้ำหมักสมุนไพรที่มีกลิ่นเหม็น เช่น สะเดา,ยาสูบฉีดพ่น หรือใช้น้ำมันปิโตรเลียมฉีดพ่น

หากพบมีการระบาดมาก จำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลง ดังนี้

1. เชฟวิน 85 (คาร์บาริล)

2. โมเลน (อะเซทามิพริด)

3. วาเนส (อะบาเม็กติน)

4. กลุ่มหนอนผีเสื้อ เช่น หนอนม้วนใบ จะทำลายยอดใบชา โดยจะนำใบอ่อนมาม้วนเข้าหาลำตัวเพื่อกัดกินใบอ่อนเป็นอาหาร

การป้องกันและกำจัด

ควรหมั่นตรวจดูแปลงโดยสังเกตแม่ผีเสื้อ และกลุ่มไข่ถ้าพอให้เก็บทำลายและพ่นสารสกัดสมุนไพรป้องกัน โดยใช้เชื้อแบคทีเรีย บีที (Bacillus thuringiensis) ชนิดผงอัตรา 60-80 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เมื่อสำรวจพบไข่และหนอนขนาดเล็กให้พ่นทุก 3-5 วัน ในช่วงระบาด

หากพบมีการระบาดมาก จำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลง ดังนี้

1. จาเลค (เพอร์มีทรีน)

2. คาราเต้ (แลมป์ดาไซฮาโลทริน)

3. คูซั่นเพลส (อะบาเม็กติน)

กลุ่มด้วงปีกแข็ง จะกัดกินใบและผล เป็นพวกที่กินอาหารกว้าง หากมีการระบาดมากจะพบมากในกองปุ๋ยหมัก โดยแมลงด้วงปีกแข็งจะวางไข่ไว้บนกองปุ๋ยหมัก ซึ่งเป็นแหล่งเพราะพันธุ์ ทำให้เกิดหนอนด้วงแก้วและแมลงด้วงปีกแข็งระบาดในปริมาณมาก

การป้องกันและกำจัด

โดยการปิดคลุมกองปุ๋ยหมักให้มิดชิดหรือ ใส่กระสอบไว้เพื่อกันตัวแม่วางไข่ รวมทั้งใช้ไส้เดือนฝอยปราบหนอน (Steinernema carpocapsae) ราดดินบริเวณที่เคยมีหนอนด้วงแก้วระบาด

กลุ่มตั๊กแตนกัดกินใบ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหากับต้นชามากเท่าไรและมักถูกเชื้อราทำลายไป

การป้องกันและกำจัด

โดยการจับตัวเต็มวัยในตอนเช้านำไปทำลาย ในท้องที่ๆแมลงชนิดนี้ระบาดบ่อยๆควรปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ข้าวโพดไว้เป็นกับดัก หรือใช้เชื้อราฉีดพ่นเมื่อมีความชื้นหรือพบการระบาด

หากพบว่ามีการระบาด จำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลง คือ เซฟวิน 85 (คาร์บาริล)

กลุ่มแมลงวันหนอนชอนใบ จะวางไข่ไว้บนขอบใบชาและกัดดินใต้ผิใบชา

การป้องกันและกำจัด

โดยควรดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแตกใบอ่อนและยอดอ่อน ทำลายเศษใบพืชบนดิน ซึ่งมีดักแด้และใบที่ถูกแมลงวันหนอนชอนใบทำลาย และใช้สารสกัดสะเดาฉีดพ่นสม่ำเสมอ

หากพบว่ามีการระบาด จำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลง ดังนี้

1. แอสเซ็นด์ (ฟิโปรนิล)

2. ทาลสตาร์ 10 (ไบเฟนทริน)

3. สตาร์เกิล (ไดโนทีฟลูเรน)

การจดบันทึกการปฏิบัติงานในแปลง

การจดบันทึกการปฏิบัติงานในแปลงของเกษตรมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับการตรวจสอบคุณภาพและสารเคมีตกค้างในผลผลิต ตามระบบการจัดการผลผลิตชาที่ถูกต้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การตัดแต่งกิ่ง

บันทึกการตัดแต่งกิ่งในแปลงโดยจัดแบ่งเป็นรุ่นที่ชัดเจน โดยทำการตัดแต่งกิ่งให้สมดุลกับจำนวนผลผลิตที่จะนำไปแปรรูปในแต่ละวัน ในหนึ่งแปลงที่จะทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตในรุ่นเดียวกัน ควรตัดแต่งกิ่งให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งวัน หากตัดแต่งกิ่งห่างกันเพียงหนึ่งวัน โดยเฉพาะพื้นที่ต่ำจะทำให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตห่างออกไปถึง 3 วัน

2. การใส่ปุ๋ยบันทึก ดังนี้

2.1 การใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก ไร่ละ 1-2 ตัน หลังการตัดแต่งกิ่ง

2.2 การใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์

2.2.1 ครั้งแรก ตัดแต่งกิ่งเสร็จแล้ว โดยใช้ปุ๋ยสูตร 25-7-7 อัตรา 40 กรัม/ตัน พร้อมพ่นสารป้องกันโรคแมลง

2.2.2  ครั้งที่ 2 หลังจากใส่ปุ๋ยครั้งแรกประมาณ 10 วัน หรือสังเกตจากต้นชาเริ่มมีการแตกตาใบ โดยใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 สูตร 46-0-0 อัตรา 30 กรัม /ตัน และพ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลงหากมีการระบาด

2.2.3  ครั้งที่ 3 หลังจากใส่ปุ๋ยครั้งที่2 ประมาณ 10 วันหรือเริ่มมีใบและยอด 2-3 ใบสูตร 46-0-0 อัตรา 30 กรัม/ตัน พ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลงหารมีการระบาด พ่นน้ำหมักสมุนไพรหรือน้ำส้มไม้ หลังจากใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 อีกประมาณ 7-10 วัน พ่นน้ำหมักสมุนไพรหรือน้ำส้มไม้เพื่อป้องกันแมลงทำลาย

3. การเก็บเกี่ยวผลผลิต บันทึกผลผลิตทุกๆ 45-50 วัน 

การจดบันทึกการปฏิบัติงานในโรงงาน

การจัดทำตารางปฏิบัติงานในโรงงานจะต้องมีความสอดคล้องกับตารางการปฏิบัติดูแลของแปลงเกษตรกร เพื่อบริหารจัดกการโรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยการร่วมกำหนดปริมาณการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแต่ละรุ่น/กลุ่ม ให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงงาน เช่นโรงงานชาขุนแม่วาก กำหนดผลผลิตเข้าแปรรูปโรงงานวันละ 350-400 กิโลกรัมสด ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับขนาดเครื่องจักรและแรงงานในการแปรรูปของโรงงาน โดยดำเนินการดังนี้

1. กำหนดกลุ่มเกษตรกร, จำนวนแปลง , วันที่เก็บผลผลิต แจ้งเกษตรกรให้ทราบ เพื่อจัดเตรียมแรงงานในการเก็บผลผลิตให้เหมาะสมกับปริมาณผลผลิต

2. จัดเตรียมอุปกรณ์ในการเก็บผลผลิต

3. เก็บผลผลิตและจัดส่งผลผลิตตามเวลาที่กำหนด ดังนี้ 

- เริ่มเก็บผลผลิตประมาณ 08.00 น ส่งผลผลิตถึงโรงงานครั้งแรก 10.00 น 

- ส่งผลผลิตถึงโรงงานครั้งที่สอง เวลา 12.00 น 

- ส่งผลผลิตถึงโรงงานครั้งที่สามไม่เกิน เวลา 15.00 น 

- ผลผลิตแต่ละครั้งต้องส่งถึงโรงงานภายใน 2 ชั่วโมง

4. หลังจากผลผลิตเข้าถึงโรงงานทำการชั่งน้ำหนักและนำผลผลิตผึ่งแดดประมาณ 5-10 นาที ขึ้นกับสภาพอากาศและอุณภูมิ

5. นำเข้าผึ่งในที่ร่ม ซึ่งปัจจุบันจะทำการผึ่งในห้องแอร์ที่ปรับอุณหภูมิระหว่าง 18-22 องศาเซลเซียส ประมาณ 3 ชั่วโมง พร้อมทั้งทำการกระตุ้นโดยการพลิกใบชาทุก 1 ชั่วโมง

6. นำเข้าเครื่องเขย่า เพื่อไล่กลิ่นเหม็นเขียวประมาณ 10-20 นาที หรือแล้วแต่สภาพของชา หากใบชาช้ำมากไม่ควรเขย่านาน

7. หมักใบชา โดยนำใบชา จำนวน 3กระด้ง มาแบ่งให้เหลือ 2 กระด้ง ใช้เวลาหมักประมาณ 3 ชั่วโมง ใช้อุณหภูมิประมาณ 18-22 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ ในอากาศ 60-70 เปอร์เซ็นต์

8. นำเข้าเครื่องคั่ว โดยชั่งน้ำหนักชาเข้าเครื่องคั่วจำนวน 7.5 กิโลกรัมต่อครั้ง ใช้เวลาคั่วประมาณ 6-7 นาที อุณหภูมิ 280-300 องศาเซลเซียส

9. นวดใบชา เพื่อให้น้ำในใบชากระจายไปยังใบชาและยอดอย่างทั่วถึง โดยใช้เวลาประมาณ 4 นาที

10. อุ่นใบชาเพื่อไล่ความชื้นออกโดยใช้อุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส ทิ้งไว้ประมาณ 4-5 ชั่วโมง

11. การทำเม็ดชาอู่หลง โดยผ่านการใช้เครื่องขึ้นรูป, เครื่องนวดอัดเม็ด, เครื่องสางและเครื่องคั่วใบชาหลายๆรอบ จนกระทั้งใบชาเป็นเม็ดกลมและเริ่มแห้ง

12. การอบแห้ง เมื่อชาเมล็ดกลมดีแล้ว นำเข้าเครื่องอบแห้ง เพื่อไล่ความชื้น โดยใช้อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ประมาณ 3 ครั้งจนแห้ง

13. การเก็บรักษา รอจนกระทั้งชาเย็นลง แล้งจึงนำบรรจุใส่ถุงพลาสติกหนากันความชื้นเก็บในห้องเย็นอุณหภูมิระหว่าง 3-6 องศาเซลเซียส

14. การบรรจุเพื่อจำหน่าย มีทั้งการจำหน่ายปลีกและส่ง ซึ่งหากจำหน่ายส่งในลักษณะปริมาณคราวละมากๆ จะบรรจุในถุงฟลอยด์ โดยระบบสุญญากาศ ถุงละ 20 กิโลกรัม หากจำหน่ายปลีกจะบรรจุถุงปริมาณ 500 กรัม 300 กรัม 200 กรัม100 กรัม10กรัม ตามลำดับหรือตามที่ลูกค้าต้องการและสั่งซื้อ