ผู่เอ่อร์ ชาแห่งกาลเวลา

ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้รู้จักกับ “ชาผู่เอ่อร์ (Pu’er Tea)” คือวันที่ไปเยือนเมืองผู่เอ่อร์ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นที่ทราบกันดีว่าชาผู่เอ่อร์มีต้นกำเนิดจากเมืองผู่เอ่อร์ มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกยกให้เป็นแหล่งผลิตชาชั้นดีมานานนับพันปี ชาผู่เอ่อร์นี้ไม่ได้เป็นแค่เครื่องดื่มธรรมดาในชีวิตประจำวันของชาวจีน แต่ยังเป็นสินค้าสำคัญทางการค้าในยุคโบราณ ใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการถวายราชวงศ์ และยังใช้แทนเงินตราในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันอีกด้วย กระบวนการทำชาผู่เอ่อร์นั้น ทำได้โดยการนำใบชาผู่เอ่อร์ (ชาอัสสัมใบใหญ่) มาผ่านกระบวนการหมัก บ่ม แล้วอัดแน่นและมัดรวมเป็นก้อน ห่อด้วยกาบไผ่ สามารถเก็บใบชาได้นาน จากนั้นลำเลียงไปตาม “เส้นทางชาม้า” (Tea Horse Road) ผ่านภูเขาสูงชัน ส่งไปยังทิเบต พม่า อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากนั้นผู้เขียนก็เริ่มสนใจในเรื่องราวของชาผู่เอ่อร์มากขึ้น จากการบอกเล่าของเจ้าหน้าที่และบันทึกต่างๆ ที่มีในพิพิธภัณฑ์ชา ที่เมืองผู่เอ่อร์ “PU’ER TEA MUSIUM” ประกอบกับงานวิจัยต่างๆ ของชาผู่เอ่อร์ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ยาอายุวัฒนะของชาวจีน” ด้วยมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดไขมันในเลือด ควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำตาลในเลือด ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก ซึ่งช่วยชะลอวัยอีกด้วย นอกจากนี้ชาผู่เอ่อร์ยังเป็นชาที่แตกต่างจากชาชนิดอื่นๆ คือ ชาชนิดอื่นยิ่งเก็บนานวันจะยิ่งเสียรสชาติ แต่ชาผู่เอ่อร์เป็นชาที่ไม่มีวันหมดอายุเปรียบเสมือนไวน์ที่ยิ่งเก็บนานวันยิ่งรสชาติดี สรรพคุณและราคาจะยิ่งดีวันดีคืน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า “ชาผู่เอ่อร์เป็นชาที่แพงที่สุดในโลก”
แต่สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจที่สุด ไม่ใช่แค่เรื่องสรรพคุณด้านสุขภาพของชาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงศิลปะของการชงชา กลิ่นหอมของใบชาที่ค่อยๆ ส่งกลิ่นออกมา รวมทั้งเรื่องราวที่ชาเป็นสินค้าสำคัญที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับเงินตรา ในประวัติศาสตร์จีนมีบันทึกการใช้ชาแลกกับม้าจากชนเผ่าเร่ร่อนทางตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อใช้ในกองทัพอีกด้วย ทำให้นึกถึงครั้งหนึ่งผู้เขียนได้ไปเก็บข้อมูลชาในหมู่บ้านป่าโหล ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองและสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน การเดินทางและการขนส่งสินค้าทำได้ยากลำบากโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน เกษตรกรมีการเพาะปลูกชาเป็นหลัก และยังมีการนำชาลงไปแลกกับข้าว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ชาจึงกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเทียบเท่ากับสินค้าดำรงชีวิต และกลายเป็นตัวกลางสำคัญในระบบเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยนของผู้คนหลายกลุ่ม โดยมีคุณค่าเทียบเท่ากับสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ในวันนี้ชาไม่ได้เป็นแค่เครื่องดื่มแต่ยังพืชที่มีบทบาทสำคัญเชิงเศรษฐกิจมาตั้งแต่อดีตในฐานะสินค้าแลกเปลี่ยนที่มีมูลค่าสูง และในปัจจุบันชาได้กลายเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และนวัตกรรม
ผู้เขียน/เรียบเรียงโดย กรรณิกา ศรีลัย
ออกแบบและเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน