องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ออนิโธกาลัม

ออนิโธกาลัมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ornithogalum spp. Roh และ Lawson (1996) จัดพืชในสกุลนี้ Ornithogalum อยู่ในวงศ์ Liliaceae ส่วน Du Plessis และ Duncan (1989) จัดให้อยู่ในวงศ์ Hyacinthaceae Bryan (1989) กล่าวว่าพืชในสกุลนี้มีมากกว่า 150 ชนิด (species) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแอฟริกาใต้ เอเชียตะวันตก และยุโรป ชื่อ Ornithodalum มาจากภาษากรีก Ornithis มีความหมายว่านก และ Gala มีความหมายว่า น้ำนม ชื่อนี้จึงรวมหมายถึง น้ำนมของนก พืชในกุลนี้มีหัวเป็นแบบ tunicate bulb หัวย่อยสามารถเกิดได้จากส่วนโคนใบที่แปรรูปไปสะสมอาหาร ลักษณะของใบจะค่อนข้างมีความหลากหลายซึ่งเป็นลักษณะประจำของพันธุ์นั้นๆ เป็นรูปหอกหรือใบแคบปลายใบยุปตัวเมื่อออกดอกแล้ว บางชนิดอาจมความสูงถึง 1 เมตร ช่อดอกเป็นแบบ raceme spike หรือ conical แล้วแต่พันธุ์ ดอกมีสีขาว สีขาวขอบเขียว สีเหลือง สีส้ม สีส้มแดง มีจำนวนโครโมโซมมีตั้งแต่ 2n = 12 จนถึง 51 ออนิโธกาลัมที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายได้แก่ O. arabicum L. และ O. thysoides Jacq. ประเทศศที่ผลิตและส่งออกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ แอฟริกาใต้ เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา

ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของออนิโธกาลัม

หัว

หัวเป็นหัวแบบ tunicate bulb ประกอบด้วยฐานหัว (basal plate) ซึ่งแปรรูปมาจากส่วนของลำต้นและโคนของกาบใบเพื่อทำหน้าที่สะสมอาหารและซ้อนกันเป็นชั้นโดยชั้นในสุดห่อหุ้มยอดของพืช วงนอกสุดเมื่อหัวแก่เต็มที่มีลักษณะแห้งเป็นแผ่นบางๆเยกว่า tunic ทำหน้าที่ป้องกันการระเหยน้ำของหัว

ใบ

ใบ มีสีเขียว และมีลักษณะแตกต่างกันตามชนิดของออนิโธกาลัม มีทั้งลักษณะใบแคบเรียวเล็ก Strap-shaped หรือ linear และบางขนิดใบคล้ายหญ้า ใบกว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 10-12 นิ้ว ใบมักโน้มลงและดูไม่เป็นระเบียบ

ดอก

ดอกแบบช่อ ช่อดอกเป็นแบบ racemes และ conical กลีบดอกสีขาว ดอกย่อยมีกลีบดอก 6 กลีบ เรียงกันอยู่ส่วนปลายก้านช่อดอก ดอกมีรูปร่างแบบ cup-shape มีเกสรตัวผู้สีเหลืองยาว รังไข่มีสีน้ำตาล ระยะเวลาการออกดอกอย฿ในช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคม

ราก

รากเป็นระบบรากฝอยเจริญจากส่วนโคนของฐานหัว

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ออนิโธกาลัมเป็นพืชที่จะออกดอกก็ต่อเมื่อได้รับความเย็นมากระตุ้นระยะหนึ่งฉะนั้นพื้นที่ที่จะปลูกได้ดี จะต้องเป็นพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว คือ มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป เพื่อที่การออกดอกจะมีความสมบูรณ์เนื่องจากออนิโธกาลัมเป็นพืชหัว ฉะนั้นดินที่เหมาะสมจะต้องไม่เป็นดินเหนียวและต้องมีความร่วนซุย ระบายน้ำ ระบายอากาศเป็นอย่างดี

ด้วยคุณสมบัติของออนิโธกาลัม 

เมื่อนำปใช้งานจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานโดยที่ดอกตูมสามารถที่จะพัฒนาไปเป็นดอกบานที่สมบูรณ์ได้ ซึ่งช่อๆหนึ่ง จะมีจำนวนดอกต่อช่อเฉลี่ยที่ 8 ดอกต่อช่อและสามารถนำไปใช้งานร่วมกับดอกไม้ชนิดต่างๆได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่นิยมของผู้ใช้ซึ่งมีรูปแบบการจัดอกไม้ที่แปลกและแตกต่างจากการจัดโดยทั่วไป

การขยายพันธุ์

วิธีการขยายพันธุ์

ออนิโธกาลัมสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งการชำ แยกหน่อข้างและจากเมล็ด จากลักษณะการเจริญเติบโต ออนิโธกาลัมมีการแตกหน่อข้างเป็นจำนวนมาก จึงสามารถทำการแยกหน่อข้างไปขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็สามารถให้ดอกได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำใบไปปักชำเพื่อให้เกิดต้นใหม่ได้ ดังแสดงในภาพที่ 3 และ 4 ตามลำดับ

การอนุบาล

ต้นกล้าออนิโธกาลัมในระยะแรกยังมีขาดเล็ก ต้องทำการอนุบาลโดยการเลี้ยงไว้ในบริเวณแปลงพ่นหมอกหรือแปลงเพาะชำกล้า เช่น โรงเรือนหลังคาพลาสติกซึ่งมีตาข่ายป้องกันแมลงเพื่อไม่ให้ต้นกล้าได้รับความเสียหายจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมะสม และโรคแมลงรบกวนจนกว่าต้นกล้าจะมีความพร้อมที่จะนำไปปลูกในแปลงเพื่อตัดดอก

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์

โดยหลังจากที่ต้นออนิโธกาลัมเริ่มให้ดอกจะเป็นระยะที่เริ่มแตกตาข้างและการเก็บเกี่ยวดอกแล้วประมาณ 1-2 เดือน หน่อข้างที่แตกออกก็จะเจริญเติบโตมีขนาดที่เหมาะสมที่จะทำการแยกกอ โดยต้นที่มีขาดใหญ่สามารถนำไปปลูกในการถางหรือถุงพลาสติกสีดำ และต้นที่มีขาดเล็กก็จะนำไปชำในถาดเพาะก่อน เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะย้ายลงปลูกในกระถางต่อไป

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก 

การเตรียมแปลง

แปลงสำหรับปลูกออนิโธกาลัมควรจะอยู่ในพื้นที่นำไม่ท่วมขัง โดยจะต้องยกร่องแปลงให้สูงขนาดของแปลงปลูกควรมีความกว้างประมาณ 80 เซนติเมตร มีร่องแปลงสำหรับทางเดินประมาณ 50 เซนติเมตร

การเตรียมดิน

ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกออนิโธกาลัมควรจะเป็นดินร่วนปนทรายที่มีอินทรีย์วัตถุมีความอุดมสมบูรณ์ มีความเป็นกรด – ด่างประมาณ 6-7 และในกรณีที่ดินขาดความสมบูรณ์ควรเติมด้วยวัสดุบำรุงดินเช่น แกลบดิบ ขุยมะพร้าว หรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และควรหว่านด้วยปูนโดโลไมท์สำหรับปรับสภาพของดิน การขุดและการตากดินให้ได้รับแสงแดดประมาณ 2 สัปดาห์ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ศัตรูพืชในดิน เช่น สปอร์เชื้อโรค ตัวอ่อน และไข่ของไสเดือนฝอยและเมล็ดวัสพืชเป็นอย่างดี การขุดพลิกดินนี้ควรให้น้ำหน้าดินมีความลึกไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อให้รากของพืชชอนไชหาอาหารและยึดลำต้นได้ดี

เทคนิคการปลูก

หลังการปลูกควรจะคลุมแปลงด้วยแกลบดิบ เพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชเจริญแข่งกับต้นพืชโดยสามารถใช้ระยะปลูก 30X30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสม เมื่อพืชเจริญเติบโตเต็มที่จะไม่เบียดชิดกันเกิดนไป เป็นสาเหตุให้โรคเข้าทำลายได้ง่ายถ้าปลูกชิดกันเกินไป

การดูแลรักษา 

การจัดการด้านความเข้มแสง

การปลูกจะต้องพรางแสงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกที่สมบูรณ์และมีคุณภาพดี ซึ่งผลของการพรางแสงจะช่วยลดอุณหภูมิภานในโรงเรือนได้ด้วย

การให้ปุ๋ย

การให้ปุ๋ยที่ถูกต้อง คือ การให้ปุ๋ยน้ำซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ง่าย ควรให้ปุ๋ยพร้อมกับน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง สูตรปุ๋ยที่เหมาะสม คือ สูตรปุ๋ย RPF (ไม้หัว) ที่มีความเข้มข้นของธาตุอาหาร ดังนี้

- ไนโตรเจน 100 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) 

- โพเทสเซียม 100 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) 

-  ฟอสฟอรัส 50 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm)

และผสมธาตุอาหารรอง เช่น เฟตติลอน คอมบี หรือยูนิเลทด้วยเพื่อป้องกันการขาดของธาตุอาหาร

การให้น้ำ

ออนิโธกาลัมเป็นพืชที่ชอบความชื้นสูง การให้น้ำควรรดน้ำทุกวัน แต่ในฤดูฝนการให้น้ำอาจจะให้แบบวัรเว้นวัน เพราะว่าความชื้นในอากาศสูง การคายน้ำของพืชน้อย และการระเหยของน้ำจากดินจะน้อยกว่าในฤดูอื่นๆ และที่สำคัญคือการใช้น้ำรดจะต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากเชื้อโรคปนเปื้อน และน้ำที่ใช้จะต้องไม่มีความเป็นกรดหรือด่างเกินไป ควรจะผ่านการกรองก่อนนำมาใช้ การรดน้ำควรจะรดน้ำตอนเช้า เพื่อให้ใบแห้งก่อนถึงตอนเย็นก็จะช่วยลดปัญหาการเกิดโรคได้

โรคและศัตรูพืช 

โรคที่สำคัญ

โรคที่มักจะเกิดกับออนิโธกาลัม ได้แก่ โรคเน่าที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งจะเกิดในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง เช่น ฤดูฝนหรือการให้น้ำที่มากเกินไป ซึ่งสาเหตุของการระบาดของโรคอาจจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่บนเปื้อนมากับน้ำหรือาจติดมากับรองเท้าที่ไปเหยียบพืชที่มีเชื้อโรคแล้วเดินเข้ามาทำงานในแปลง การเก็บพืชที่มีอาการของโรคไปทำลายจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้โดยการใช้สารเคมี สารปฏิชีวะนะ เช่น แอนติแบค แอกริมัยซิน ผสมน้ำรดต้นที่แสดงอาการในแปลงปลูกจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้

แมลงที่สำคัญ

แมลงที่พบว่ามักเข้าทำลายออนิโธกาลัม ได้แก่ เพลี้ยไฟ ซึ่งมักเข้าทำลายในระยะที่มีช่อดอกเข้าทำลายกลีบดอกที่ทำให้ดอกหี่ยว กลีบมีสีน้ำตาล เพลี้ยไฟมักจะระบาดในช่วงที่อากาศร้อน สารเคมีที่ใช้สำหรับกำจัดเพลี้ยไฟ ได้แก่ คอนฟิดอร์ พอสล์ ควนป้องกันการระบาดของเพลี้ยไฟ โดยการควบคุมตั้งแต่ระยะเริ่มแทงช่อดอก

การเก็บเกี่ยว 

ระยะเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของออนิโธกาลัม โดยช่อดอกเริ่มมีดอกบานบนช่อจำนวน 3-5 ดอก

วิธีการเก็บเกี่ยว

ควรใช้มีดหรือกรรไกรที่มีความคม และสะอาดตัดช่อดอกเพื่อไม่ให้รอยแผลที่เกิดจากการเก็บเกี่ยวซ้ำจะทำให้เกิดโรคหลังจากการตัดช่อดอก และควรแช่น้ำสะอาดทันที

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว 

เพื่อให้คุณภาพดอกมีคุณภาพดี หลังการเก็บเกี่ยวทำการคัดแยกเกรด การใช้สารเคมีเพื่อยืดอายุการใช้งาน จะทำให้คุณภาพของดอกเมื่อถึงมือผู้บริโภคยาวนานยิ่งขึ้นโดยแช่ในสารละลาย 8 HQS ความเข้มข้น 150 ส่วนต่อล้านส่วน ผสมกับน้ำตาลซูโคสความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ (50 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร) แช่ไว้เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ในห้องที่มีอุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส จะทำให้คุณภาพของดอกดียิ่งขึ้น


เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.